อนาคตของทุนนิยม

อนาคตของทุนนิยม

การแตกสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2534 เป็นตัวชี้บ่งสำคัญถึงความใช้ไม่ได้จริงของระบบเศรษฐกิจตามแนวคิดของคาร์ล มากซ์ หรือระบบคอมมิวนิสต์

หลังถูกนำมาใช้กว่า 70 ปี เหตุการณ์นั้นทำให้ผู้อยู่ฝ่ายระบบทุนนิยมจำนวนมากออกมาแสดงความลิงโลดใจถึงในระดับไก่ตีปีก แต่หลังจากนั้นไม่นาน อาการลิงโลดใจกลายเป็นความสงสัยซึ่งแพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วเมื่อเศรษฐกิจโลกประสบวิกฤตหลายครั้งรวมทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งซึ่งปะทุที่เมืองไทยในปี 2540 และความถดถอยมโหฬารซึ่งเริ่มในสหรัฐในปี 2551

ความสงสัยนั้นนำไปสู่การวิเคราะห์ของผู้สังเกตการณ์และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ผลงานของพวกเขาถูกนำมาเผยแพร่ในรูปต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือหลายขนาด ในจำนวนนี้มีหนังสือชื่อ อนาคตของทุนนิยม” (The Future of Capitalism) โดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ พอล คอลเลียร์ สาระของหนังสือเล่มนี้ต่างกับการวิเคราะห์จำนวนมากเนื่องจากผู้เขียนพูดถึงปัจจัยพื้นฐานอันได้แก่ความถดถอยทางศีลธรรมจรรยาว่าก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงในระบบทุนนิยม

พอล คอลเลียร์พูดถึงความถดถอยทางศีลธรรมจรรยาทั้งในระดับครอบครัว ในระดับบริษัทห้างร้านและในระดับรัฐ ความมุ่งมั่นในการแสวงหาความสุขส่วนตัวอันเนื่องมาจากเรื่องการยึดความเป็นปัจเจกชนส่งผลให้สถาบันครอบครัวล่มสลายเพราะการหย่าร้างกันอย่างแพร่หลาย เยาวชนและผู้สูงวัยถูกทอดทิ้ง และเครือญาติขาดความสัมพันธ์อันเป็นปึกแผ่น เป้าหมายหลักของบริษัทห้างร้านเป็นการแสวงหากำไรและราคาค่าหุ้นสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารที่บรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะด้วยวิธีถูกหรือผิดได้รับค่าตอบแทนสูงแบบแทบไร้เพดาน ส่วนภาครัฐกลายเป็นระบบอุปถัมภ์

การวิเคราะห์นั้นมาจากการอ่านปรากฏการณ์ในอังกฤษและในสหรัฐเป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นที่ประจักษ์ว่ามันสะท้อนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ คงมีผู้สรุปว่าระบบทุนนิยมจะทำให้สังคมล่มสลายไปตามสังคมที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์

การสรุปเช่นนั้นอาจเร็วเกินไป จริงอยู่ สังคมย่อมแตกสลายเมื่อสมาชิกไม่เคารพกฏเกณฑ์พื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอันได้แก่หลักศีลธรรมจรรยา แต่ความล่มสลายของการใช้ระบบคอมมิวนิสต์มิได้มาจากการขาดศีลธรรมจรรยาเท่านั้น หากมาจากสาเหตุพื้นฐานอีกด้านหนึ่งด้วย ได้แก่ การบังคับให้สมาชิกในสังคมทุกคนทำตามคำสั่งของรัฐซึ่งขัดต่อสัญชาตญาณของการเป็นมนุษย์ นั่นคือ ความต้องการอิสรภาพ

ระบบทุนนิยมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันวางอยู่บนฐานของระบบตลาดเสรีซึ่งสะท้อนสัญชาตญาณ 2 อย่างของมนุษย์ได้แก่ การแลกเปลี่ยนกันและความต้องการมีอิสรภาพ ระบบอันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากสัญชาตญาณนี้สังคมไทยใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศดังข้อความในศิลาจารึก “...ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า... และอะดัม สมิธ รวบรวมเป็นตำราขึ้นมาเมื่อปี 2319 ชื่อ The Wealth of Nations ในตำราซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นต้นตำรับของระบบตลาดเสรีเล่มนี้ อะดัม สมิธ มิได้พูดถึงศีลธรรมจรรยาอันเป็นฐานสำคัญยิ่งของระบบ แต่สำหรับผู้ที่รู้ประวัติของอะดัม สมิธ เป็นอย่างดี เรื่องนี้ไม่เป็นที่แปลกใจ ทั้งนี้เพราะเขาได้พูดไว้ในตำราอีกเล่มหนึ่งซึ่งเขาเขียนไว้ก่อนแล้ว 17 ปีชื่อ The Theory of Moral Sentiments

แม้สาระจะต่างกับการวิเคราะห์ของผู้อื่น แต่พอล คอลเลียร์มิได้เสนอมาตรการที่มองว่าจะสามารถแก้ปัญหาพื้นฐานได้ เช่น การลงโทษผู้บริหารบริษัทห้างร้านซึ่งทำผิดกฏเกณฑ์และการเก็บภาษีในอัตราสูงจากผู้ได้รับประโยชน์เป็นพิเศษรวมทั้งภาษีเงินได้ ภาษีการโอนเงินและภาษีที่ดิน รายได้นำไปสนับสนุนการลงทุนซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานในแหล่งที่มีความจำเป็นสูง

มาตรการดังกล่าวแก้ปัญหาไม่ได้เพราะไม่ตรงกับต้นเหตุที่แท้จริง ซึ่งได้แก่จำนวนคนที่เพิ่มขึ้นและแต่ละคนต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจนเกินความจำเป็น ต้นเหตุทั้ง 2 นี้มีผลทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรซึ่งร่อยหรอลงทุกวันและการแย่งชิงนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานของการถดถอยทางศีลธรรมจรรยา ฉะนั้น มาตรการที่จะแก้ปัญหาได้ต้องไม่เป็นจำพวกจูงใจให้ประชากรเพิ่มขึ้นซึ่งหลายประเทศกำลังหลงผิดคิดจะทำ หรือทำไปบ้างแล้ว หากเป็นจำพวกจูงใจให้ลดการใช้สิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตเบื้องต้นโดยเฉพาะการเก็บภาษีสิ่งที่เกินความจำเป็นในอัตราก้าวหน้าสูง