การเมืองญี่ปุ่นยุคอาเบะและชื่อของยุคสมัยที่กำลังจะมาถึง (1)

การเมืองญี่ปุ่นยุคอาเบะและชื่อของยุคสมัยที่กำลังจะมาถึง (1)

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศว่าชื่อของรัชสมัยใหม่ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 1 พ.ค.2019 คือ “เรวะ” (令和)

ซึ่งมีความหมายอย่างเป็นทางการว่า ความกลมกลืนอันงดงาม โดยคำว่า “เรวะ” ประกอบขึ้นจากตัวอักษรคันจิสองตัวคือ เร” () ซึ่งแปลว่า “งดงาม” หรือ “ดีเลิศ” และ วะ” (ซึ่งแปลว่า “ความกลมกลืน” หรือ “ความสงบสุข” โดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะได้อธิบายว่าตัวอักษรทั้ง 2 ตัวนี้ มีที่มาจากบทนำของชุดบทกวีเกี่ยวกับดอกบ๊วยใน มันโยฌู ที่นอกจากจะเป็นหนังสือรวมบทกวีที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นหนังสือที่รวมเอาบทกวีที่แต่งขึ้นโดยคนญี่ปุ่นจากทุกชนชั้นเอาไว้อีกด้วย และด้วยเหตุที่บทนำของชุดบทกวีนี้กล่าวถึงการผลิบานของดอกบ๊วยในต้นฤดูใบไม้ผลิและเหล่ากวีที่มาชุมนุมกันในโอกาสนั้นเพื่อแต่งบทกวี คำว่า “เรวะ” จึงมีนัยของการให้ความชื่นชมต่อความกลมกลืนของจิตใจของผู้คนอันเป็นเหตุให้วัฒนธรรมถือกำเนิดขึ้นและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา และความมุ่งมั่นที่จะส่งต่อวัฒนธรรมและธรรมชาติอันงดงามนั้นไปยังคนญี่ปุ่นในยุคสมัยต่อไปก็เปรียบได้กับดอกบ๊วยที่ผลิบานอย่างงดงามหลังจากที่ฤดูหนาวอันทารุณได้ผ่านพ้นไป

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวอักษร “เร” ยังมีอีกความหมายหนึ่งที่ต่างออกไปจากความหมายที่อาเบะอ้างถึง ในความเข้าใจของชาวญี่ปุ่นทั่วไปในปัจจุบันนั้น ตัวอักษร “เร” มีความหมายว่า “คำสั่ง” หรือ “ระเบียบ” ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและสื่อมวลชนญี่ปุ่นจึงมีความเห็นเบื้องต้นร่วมกันว่า “เรวะ” มีความหมายว่า ความกลมกลืนอันพึงบรรลุ ซึ่งมีนัยที่เป็นบวกน้อยกว่าความหมายที่อาเบะได้ให้ไว้ และด้วยเหตุเดียวกันนี้ ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งจึงตั้งคำถามว่าความกลมกลืนหรือสันติสุข (วะ”) ที่อาเบะกล่าวถึงนั้นเป็นความกลมกลืนหรือสันติสุขที่เกิดจากการเชื่อฟังคำสั่งของผู้มีอำนาจ (เร”) ใช่หรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการตัดสินใจเลือกชื่อรัชสมัยที่มีที่มาจากวรรณกรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นเป็นการตัดสินใจที่สอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองแบบชาตินิยมเข้มข้นของอาเบะและสมาชิกคณะรัฐมนตรี อีกทั้งยังสอดคล้องกับสถานการณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในปัจจุบันที่ยังคงตกต่ำอยู่ แม้ว่าชุดบทกวีที่เป็นที่มาของชื่อ “เรวะ” นั้นจะได้รับอิทธิพลจากบทกวีของจีนก็ตาม

แต่ทั้งนี้ ปัญหาการตีความตัวอักษร “เร” เป็นปัญหาของการเลือกใช้ตัวอักษรนี้ในฐานะของคำคุณศัพท์ (“งดงาม” หรือ “ดีเลิศ”) หรือคำนาม (“คำสั่ง” หรือ “ระเบียบ”) เท่านั้น ประเด็นที่สำคัญกว่าคือตัวอักษร “วะ” ในความหมายของ “ความกลมกลืน” ที่ถูกเลือกให้เป็นนิยามหรือคุณค่าสำคัญของยุคสมัยต่อไปของญี่ปุ่น เนื่องจากในด้านหนึ่ง ตัวอักษร “วะ” ใน “เรวะ” นั้น นอกจากจะมีความหมายว่า “ความกลมกลืน” หรือ “สันติสุข” แล้ว ตัวอักษรนี้ยังหมายถึงชาวญี่ปุ่นด้วย และในอีกด้านหนึ่งนั้น ตัวอักษรนี้ก็เป็นตัวอักษรเดียวกันกับตัวอักษร วะของคำว่า โชวะซึ่งแปลว่า ญี่ปุ่นอันเจิดจรัสและเป็นชื่อของยุคแห่งสงครามและลัทธิทหารนิยมอันเป็นสาเหตุของความสูญเสียครั้งสำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 20 รวมไปถึงความบาดหมางอย่างรุนแรงกับจีนและเกาหลีที่ยังคงส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชียตะวันออกมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ถ้าการตั้งชื่อ “ยุคหลังสงคราม” ว่า “เฮเซย์” คือการแสดงออกถึงความยึดมั่นในสันติภาพของชาวญี่ปุ่นแล้ว การที่รัฐบาลของอาเบะเลือกใช้คำที่มีตัวอักษรที่มีความเชื่อมโยงกับยุคของสงครามและเผด็จการทหารเป็นส่วนประกอบมาเป็นชื่อของยุคสมัยที่กำลังจะมาถึงจะเป็นเพียงแค่ความบังเอิญเท่านั้นหรือไม่? ทำไมความกลมกลืนจึงถูกเลือกให้เป็นคุณค่าประจำยุคสมัยต่อไป? และหากแปลความหมายของตัวอักษร “วะ” ในความหมายของชาวญี่ปุ่นแล้ว การแปลชื่อรัชสมัยเรวะว่า “ญี่ปุ่นอันงดงาม” จะมีความหมายอย่างไรในบริบททางการเมืองญี่ปุ่นในยุคของอาเบะ? ซึ่งเป็นผู้ที่ตัดสินใจเลือกชื่อ “เรวะ” นี้ด้วยตัวเอง

โดย... 

ภาคภูมิ วาณิชกะ

ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย