จีน-สหรัฐฯ: เศรษฐกิจที่หย่าไม่ขาด

จีน-สหรัฐฯ: เศรษฐกิจที่หย่าไม่ขาด

วงนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯ ต้องการให้สหรัฐฯ รีบหย่าขาดจากจีนโดยเร็ว เพราะในอดีตที่ผ่านมา เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเชื่อมโยงผูกกันมากเกินไป

ทุนสหรัฐฯ ไปตั้งโรงงานผลิตที่จีน ก่อนส่งออกกลับมายังสหรัฐฯ สุดท้ายผลคือ ทำให้จีนพัฒนาขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วและกลายมามีอำนาจต่อรองมาก ขณะที่คนในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ต้องตกงาน ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์จึงประกาศทำสงครามการค้ากับจีน และกดดันให้ทุนสหรัฐฯ ย้ายกลับมาทำโรงงานในประเทศแทน

แต่คำถามก็คือ เป็นไปได้จริงหรือที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะสามารถหย่าขาดจากกันได้ดังที่ทรัมป์วาดหวัง?

คำตอบก็คือ คู่นี้ยังไงก็ต้องร่วมหัวจมท้ายกันต่อไป แถมนอกจากจะแยกจากกันไม่ได้ ในระยะยาวกลับมีแนวโน้มจะยิ่งเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากขึ้นเสียอีก

สาเหตุที่จีนกับสหรัฐฯ หย่ากันไม่ขาด เป็นเพราะลักษณะเด่นของอุตสาหกรรมในโลกยุคใหม่ครับ

ในโลกอุตสาหกรรมสมัยก่อน หัวใจอยู่ที่ทุนกับผู้ประกอบการ ถ้ามีผู้ประกอบการที่เก่ง และมีทุนที่หนาพอ ก็ย่อมจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เพียงมีไอเดีย จากนั้นก็ทุ่มทุนผลิต ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด บริษัทชื่อดังของสหรัฐฯ ในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ฟอร์ด หรืออุตสาหกรรมเหล็กของแอนดรู คาร์เนกี้ ล้วนมีหัวใจอยู่ที่ผู้นำที่เก่งกับทุนมหึมา

แต่อุตสาหกรรมยุคใหม่แตกต่างจากยุคก่อนอย่างชัดเจนครับ ลักษณะเด่นของยุคใหม่ก็คือห่วงโซ่การทำธุรกิจของบริษัทมีขั้นตอนยาวกว่าเดิมมาก ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นจากทีมวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ที่ต้องอาศัยการบุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน จากนั้นจะต้องมีทีมวิศวกรในการแปลงผลวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์ แล้วจะต้องมีทีมโรงงานที่สามารถทำการผลิตออกมารองรับตลาดได้เป็นจำนวนมาก ถัดจากนั้นยังต้องมีทีมขายทีมกระจายสินค้าเพื่อให้สินค้าไปถึงมือผู้บริโภค

ธุรกิจเทคโนโลยีชั้นนำขนาดใหญ่ในยุคใหม่จึงต้องอาศัยการแบ่งงานหลายทีม แต่ละทีมใช้ความเชี่ยวชาญต่างกัน บริษัทชั้นนำยุคใหม่และในยุคอนาคตต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอย่าง Apple หรือบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ล้วนแต่มีลักษณะเช่นนี้

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า แล้วลักษณะเด่นของอุตสาหกรรมยุคใหม่นี้ เกี่ยวอะไรกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ถ้าเราสังเกตให้ดี ปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จของอุตสาหกรรมยุคใหม่มีอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ กระบวนการวิ R&D อย่างที่สองคือ การผลิต เมื่อดูสองอย่างนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้นำอย่างแรก ส่วนจีนเป็นผู้นำอย่างที่สอง

ในด้านการพัฒนานวัตกรรม วิจัยคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ จนออกมาเป็นโมเดลต้นแบบ ประเทศที่ทำด้านนี้ได้ดีที่สุดก็คือสหรัฐอเมริกา เพราะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่เก่งที่สุดยังอยู่ในสหรัฐฯ

แต่ข้อสำคัญก็คือ เมื่อได้โมเดลต้นแบบผลิตภัณฑ์แล้ว จะทำอย่างไรจึงจะสามารถผลิตออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคมหาศาลได้ ตรงนี้อยู่ที่ความสามารถในการทำอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งในด้านนี้ จีนเก่งที่สุดในโลก

บางท่านอ่านถึงตรงนี้ อาจจะแย้งว่า อุตสาหกรรมของจีน ถ้าวัดกันในเชิงปริมาณ อาจนับว่าเก่ง แต่ถ้าวัดในเชิงคุณภาพ ไม่น่าจะได้เรื่อง ไม่น่าจะสู้ฝีมือของญี่ปุ่นหรือเยอรมันได้

แต่คำถามก็คือ แล้วทำไมบริษัทอย่าง Apple จึงเลือกผลิตที่จีน ทำไมไม่ไปผลิตที่ญี่ปุ่นหรือเยอรมัน หลายคนอาจคิดว่าคงเพราะจีนต้นทุนถูกที่สุด แต่ผู้บริหารเบอร์หนึ่งของแอปเปิ้ลอย่างทิมคุกเคยออกมาเฉลยครับว่า ที่เลือกผลิตที่จีนไม่ใช่เพราะค่าแรงถูก (จริงๆ เดี๋ยวนี้ค่าแรงในจีนแพงกว่าที่อื่น) แต่เพราะจีนมีระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่ใดๆ ในโลก

สิ่งสำคัญสำหรับโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ ไม่ได้อยู่ที่ใครผลิตได้ประณีตฝีมือละเอียดกว่ากัน แต่อยู่ที่ใครมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เป็นระบบและเปิดกว้างกว่ากัน ห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เป็นระบบหมายถึง มีวงจรการผลิตชิ้นส่วนและประกอบครบถ้วนภายในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ส่วนการเปิดกว้างหมายถึง การมีระบบอุตสาหกรรมที่รับจ้างผลิตให้บริษัทภายนอกได้

อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นและเยอรมันถึงแม้จะไม่เป็นสองรองใคร แต่ก็ไม่ได้เปิดกว้างรับจ้างผลิตให้บริษัทภายนอกได้ง่ายๆ ต่างกับจีนที่มีอุตสาหกรรมรับจ้างผลิตที่โดดเด่น

ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิเคราะห์อธิบายพัฒนาการของ เสินเจิ้น ว่า ได้เปลี่ยนจากที่สมัยก่อนเป็น “The good place to make cheap products” มาเป็น “The cheap place to make good products” จนวันนี้ยกระดับกลายเป็น “The only place to make that product” เรียบร้อยแล้ว

ตัวอย่างเช่นบริษัท Foxconn ที่เสินเจิ้น ซึ่งรับผลิตสินค้าต่างๆ ให้ Apple นั้น ทราบไหมครับว่า Foxconn มีวิศวกรที่เสินเจิ้นประมาณ 5,000 คน ซึ่งมีหน้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่เอาโมเดลผลิตภัณฑ์มาให้ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถผลิตออกมาได้จริง จะเห็นได้ว่า ถึงจะมีการออกแบบโมเดลผลิตภัณฑ์มาแล้ว ก็ยังต้องอาศัยทีมงานวิศวกรที่เชี่ยวชาญการผลิตจริงๆ กว่าจะเข็นออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้

อีกตัวอย่างเช่นรถ Tesla อีลอนมัสก์แต่เดิมยืนยันจะผลิตรถที่สหรัฐฯ แต่สุดท้ายก็ประสบปัญหาต่างๆมากมาย ผลิตไม่ได้ตรงตามเวลาและกำหนดที่ต้องการ สุดท้ายก็ต้องมาลงทุนสร้างโรงงานที่จีนอยู่ดี

ท่านผู้อ่านอาจจะถามว่า แล้วความสามารถในการผลิตนี้ พี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเองไม่ได้หรือ คำตอบก็คือเรื่องอย่างนี้ไม่ใช่จะพัฒนาขึ้นมาได้ง่ายๆ แม้แต่ในจีนเอง แหล่งผลิตด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ จริงๆ ก็มีเพียงลุ่มแม่น้ำไข่มุก (เสินเจิ้นและพื้นที่ใกล้เคียง) และลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงสองพื้นที่เท่านั้น

ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะกดดันให้ Apple กลับไปผลิตที่สหรัฐฯ แล้วจะเป็นไปได้ง่ายๆ เพราะสหรัฐฯ ไม่มีวิศวกรการผลิตและช่างเทคนิคปริมาณมหาศาลเช่นในจีน ไม่มีห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนและการประกอบที่สมบูรณ์พร้อมเช่นจีน ไม่สามารถผลิตออกมาเป็นจำนวนมากและต้นทุนถูกเพื่อรับกับตลาดผู้บริโภคทั้งโลกได้

นี่แหละครับ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างมีจุดแข็งคนละอย่าง สหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งเรื่องการ R&D ในขณะที่จีนมีความแข็งแกร่งเรื่องการผลิต เพราะฉะนั้นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในยุคใหม่ จะมีเป็นจำนวนมากที่คิดที่สหรัฐฯ แต่สุดท้ายอย่างไรก็ต้องเลือกผลิตที่จีน

ผมเคยอธิบายไว้แล้วว่า การทะเลาะกันระหว่างสามีภรรยาคู่นี้ คือจีนกับสหรัฐฯ นั้น คงจะทะเลาะกันยาว สงครามการค้าคงไม่จบลงง่ายๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนลิ้นกับฟัน ถึงจะทะเลาะกันยาว แต่ก็หย่ากันไม่ขาดอยู่ดี เพราะสงครามการค้าและลูกบ้าของทรัมป์ยังไงก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ต้องอาศัยทั้งจีนและสหรัฐฯ ควบคู่กัน