สาระน่ารู้กับเลือกตั้งอินโดนีเซีย ปี 2562

สาระน่ารู้กับเลือกตั้งอินโดนีเซีย ปี 2562

อินโดนีเซียมีการเลือกตั้งในวันที่ 17 เม.ย.2 เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 5 หลังการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โต

ในการแข่งขั้นครั้งนี้ ประธานาธิบดีโจโกวี ลงแข่งขันอีกครั้งกับผู้ท้าชิงเก้าอี้คือนายพลพลาโบโว ซูเบียงโต ซึ่งแพ้โจโกวี เมื่อ 5 ปีที่แล้ว การเลือกตั้งของอินโดนีเซียครั้งนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะนอกจาก เป็นการรักษาตำแหน่งของประธานาธิบดีโจโกวีแล้ว ยังเป็นนำแนวคิดความเป็นอิสลามของประเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการการหาเสียงครั้งใหญ่ เห็นได้จากกลยุทธต่างๆ ที่ "โจโกวี" ได้ดำเนินการทั้งการเสนอชื่อรองประธานาธิบดีซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มอิสลามในอินโดนีเซีย และการเดินทางไปเมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบียกับครอบครัวเพื่อเข้าร่วมพิธี anumrah (minor haj) ก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน

ระบบเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกรัฐบาลในทุกระดับของประเทศในเวลาเดียวกัน ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับผู้นำประเทศ ดังนั้นจึงมีบัตรเลือกตั้งถึง 5 ใบ แบ่งเป็น 5 สี แยกประเภท โดยบัตรสีเทาสำหรับเลือกประธานาธิบดี บัตรสีเหลืองสำหรับเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (the People’s Representative Council: DPR) บัตรสีแดงสำหรับเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น (the Regional Representative Council: DPD) บัตรสีฟ้าสำหรับเลือกสภาจังหวัด (DPRD provinsi) และบัตรสีเขียวสำหรับเลือกตั้งตัวแทนในระดับอำเภอ (DPRD kabupaten or kota) โดยมีผู้มีสิทธิลงคะแนนถึง 192.8 ล้านคน ผู้สมัครรับเลือกตั้งกว่า 200,000 คนเพื่อชิงเก้าอี้ในระดับต่างกว่า 20,000 ที่นั่งทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะจัดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปประมาณ 3 เดือน เพื่อให้เวลากับพรรคการรวบรวมเสียงสนับสนุนในการเสนอชื่อประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี หากแต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้พรรคที่ต้องการเสนอชื่อผู้ลงแข่งขันประธานาธิบดี ได้รวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาปัจจุบันให้ได้เกินกว่า 20% ของจำนวนที่นั่งในรัฐสภาทั้งหมด (560 ที่นั่ง) หรือ 25% ของจำนวนคะแนนเสียงที่พรรคต่างๆ ได้รับจากการเลือกตั้ง เมื่อ ค.ศ. 2014 เพื่อเสนอชื่อ จากการรวบรวมดังกล่าวจึงได้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คู่ คือ ประธานาธิบดีโจโกวีจากพรรค PDIP และนายอามีน (Ma’ruf Amin) เป็นรองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประธานของ Indonesia Ulema Council (MUI) อีกคู่คือ นายพลพลาโบโว ซูเบียงโต จากพรรคกีรันดา และนายอูโน (Sandiaga Uno) อดีตรองผู้ว่าการเมืองจาการ์ต้า เป็นรองประธานาธิบดี

โดยพรรคการเมืองที่สนับสนุนประธานาธิบดีโจโกวีประกอบด้วย พรรคPDIP Golkar PKB PPP NasDem และHanura ซึ่งทำให้โจโกวีรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคต่างๆได้กว่า 60% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภา และกว่า 62% ของคะแนนที่พรรคทั้งหมดได้รับจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ส่วนพรรคการเมืองที่สนับสนุน นายพลพลาโบโว ประกอบด้วย พรรค Gerindra DP (ของอดีตประธานาธิบดี SBY) PAN the Muslim Brotherhood (PKS) และ Berkarya (ตั้งโดยลูกชายของซูฮาร์โต้ นายTommy Soeharto)

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองอินโดนีเซีย มองว่าสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้เพื่อลดค่าใช่จ่าย จะลดการเลือกตั้งได้ ถึง 2 ครั้ง (คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก และการเลือกตั้งรอบ 2 หากรอบแรกไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง)

การเลือกตั้งรูปแบบใหม่นี้ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องใช้เวลาในการกาบัตรเลือกตั้ง 5 ใบ ประมาณ 7-10 นาที LSI และ CSIS องค์กรที่ทำงานด้านการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย กล่าวคล้ายกันว่า จำนวนบัตรเลือกตั้งที่มากขนาดนี้ จะส่งผลให้ประชาชนอาจจะไม่ลงคะแนนเสียงครบทั้ง 5 บัตร ก่อโอกาสให้เกิดบัตรเสียจำนวนมากเพราะประชาชนอาจไม่ตั้งใจลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งแต่ละใบ

หลังจากเปิดหีบในเวลา 7.00 น ประชาชนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งจนถึงเวลา 13.00 น และหลังจากปิดหีบ กกต (KPU) จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในเวลา 2 ชม และมีหน่วยงานจำนวนมากได้ร่วมในการนับคะแนน หรือ quick count ซึ่งจะทยอยประกาศคะแนนหลังจากปิดหีบอย่างต่อเนื่อง

การหาเสียง

การเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผลให้พรรคในหลายพื้นที่หาเสียงลำบากขึ้น ในบางจังหวัดที่พรรคไม่ได้ให้การสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เป็นที่นิยมของประชาชนในพื้นที่ต้องระมัดระวังในการหาเสียง โดยนำเสนอพรรคและนโยบายพรรคเป็นสำคัญ เช่น จ.ชวาตะวันตก (west Java) พรรค Golkar มีอิทธิพลทางการเมืองในพื้นที่ หากแต่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนนายพลพลาโบโว ดังนั้นในการหาเสียง Golkar จึงนำเสนอนโยบาย และตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับ จ.ชวากลาง (Central Java) เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค PKS หากแต่ประชาชนให้การสนับสนุนประธานาธิบดีโจโกวี เป็นต้น การหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงส่งผลให้พรรคการเมืองและผู้สมัครต้องระมัดระวังในการหาเสียงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าประชาชนจะยังคงสนับสนุนตนเอง

ดารา เซเลบริตี้กับการเลือกตั้ง

อินโดนีเซียค่อนข้างให้อิสรภาพแก่ดารา และผู้มีชื่อเสียงในการให้การสนับสนุนพรรคการเมือง ในทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง ดารา นักร้องที่ให้การสนับสนุนผู้สมัครคนใดจะออกมาช่วยในการรณรงค์หาเสียง และบ่อยครั้งที่มีการจัดคอนเสิร์ตย่อยๆ ไปพร้อมกับการปราศรัยหาเสียงของผู้สมัครประธานาธิบดี ในปีนีก็เช่นกัน การปราศรัยครั้งสุดท้ายของผู้สมัครทั้ง 2 ท่าน มีประชาชนมาร่วมกว่าแสนคน และมีดารา นักแสดง นักร้องเข้าร่วมเพื่อสร้างความบันเทิงในการหาเสียงของผู้สมัครด้วย

คนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้ง

กกต. ของอินโดนีเซียได้รายงานว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ (17-35 ปี) กว่า 40% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นเลือกตั้งครั้งแรกด้วย ทุกพรรคจึงพยายามดึงเสียงจากคนกลุ่มนี้ ผ่าน social media พรรค PDIP และประธานาธิบดีโจโกวีได้เปิด line กลุ่มเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะต่างๆ และยังไม่สามารถเข้าถึง social media ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม และให้ความสำคัญต่อหลักศาสนาอิสลาม

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่อินโดนีเซียได้พิสูจน์ให้โลกเห็นถึงการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ประชาชนสามารถแสดงความเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี ประชาชนต่างตื่นตัวในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เห็นได้จากการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และการเข้าร่วมฟังปราศรัย นอกจากนี้แม้ว่ารัฐบาลของอินโดนีเซียจะเป็นรัฐบาลผสมเสมอมาและสามารถอยู่ได้ครบเทอมทุกครั้ง รวมทั้งทหารและตำรวจต่างให้ความร่วมมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยและแสดงความเป็นกลาง โดยไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เหมือนในประเทศอื่น ๆ

 โดย... 

รศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ 

[email protected]