ปรับฐานทรัพยากรมนุษย์ ในยุคหุ่นยนต์ 4.0

ปรับฐานทรัพยากรมนุษย์ ในยุคหุ่นยนต์ 4.0

ภาพอนาคตที่เห็นหุ่นยนต์เข้ามามีส่วนร่วมทดแทนแรงงานมนุษย์ในการทำงานภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมดูจะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นจากแนวโน้มในปัจจุบัน

ภาคธุรกิจ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้บุคลากรของตนเอง เกิดทักษะใหม่ในในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อสั่งการหุ่นยนต์หรือทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนจากการดำเนินธุรกิจได้สูงสุด

เพราะอย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนๆ ก็ต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์จากมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้บริหารธุรกิจในปัจจุบันจึงจำเป็นที่จะต้องรีบหาวิธีการต่างๆ เพื่อปรับฐานให้ทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเองให้มีทักษะและชุดความสามารถให้พร้อมกับการทำธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของฝ่ายบริหารให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

นอกจากแนวทางที่ยังคงยึดถือกันมาในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการอบรมให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์และความชำนาญที่ฝังอยู่ในตัวของบุคคลากรรุ่นเก่าที่มีความชำนาญ การเรียนรู้แบบการสอนหรือเล่าให้ฟัง หรือการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยที่จะมาช่วยให้การอบรมให้ความรู้ในมโนทัศน์เดิมทำได้สะดวก ง่ายต่อการจัดการ และมีต้นทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่อหัวที่ลดลง

ปัจจัยสำคัญที่ต้องเพิ่มเข้ามา ก็คือ การสร้างแรงจูงใจให้แก่บุคลากร ที่นอกเหนือไปจากค่าตอบแทนและสวัสดิการในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้โอกาสในการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์และการดูดซับองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วไร้รอยต่อ

โดยปัจจัยเสริมที่จัดให้กับพนักงานหรือบุคลากรนี้ ยังอาจนำไปสู่การดึงดูดบุคคลภายนอกที่มีคุณภาพสูงและประทับใจกับวิธีการพัฒนาบุคลากรของธุรกิจ ให้อยากเข้ามาร่วมงานกับธุรกิจ ทำให้สามารถคัดเฟ้นเลือกสรรผู้ร่วมงานชั้นเยี่ยมได้เป็นอย่างดี

แนวทางแรกคือ การปรับปรุงวิธีการอบรมพัฒนาที่ดำเนินการอยู่ให้เป็นระบบ มีการจัดเก็บข้อมูลและติดตามผลสัมฤทธิ์ของการอบรมที่จะให้ผลกระทบต่อการเติบโตของการดำเนินธุรกิจของบริษัท

ข้อมูลที่อาจนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดที่ดี ได้แก่ จำนวนชั่วโมงเฉลี่ยสำหรับการอบรมพัฒนาพนักงาน หรือ ค่าใช้จ่ายต่อหัวในการพัฒนาพนักงานในรอบปี เทียบกับ ยอดรายได้ หรือกำไร ของกิจการ การเพิ่มการมีส่วนร่วมหรือความกระตีอรือร้นในการทำงาน การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพงาน การช่วยลดต้นทุน ฯลฯ ที่สามารถวัดให้เห็นเป็นตัวเลขได้

เพื่อติดตามวัดผลว่า วิธีการที่ใช้ในการอบรมพัฒนาพนักงาน สะท้อนการเติบโตของยอดขายหรือกำไรของกิจการได้บ้างหรือไม่ และควรพัฒนาเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ตัวชี้วัดที่สำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือ การวัดผลตอบแทนการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะทำให้ทราบถึงผลตอบแทนของธุรกิจต่อค่าใช้จ่ายเพื่อพนักงานที่จ่ายไปทั้งหมด ซึ่งรวมถึง ค่าจ้าง แรงงาน สวัสดิการ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากร เงินสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพหรือการเกษียณอายุของพนักงาน และค่าใช้จ่ายในการจัดหาพนักงานใหม่

ซึ่งคำนวณได้จาก (รายได้รวมของกิจการ) ลบด้วย (ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาบุคลากร) ซึ่งจะบอกถึงกำไรเบื้องต้นที่ยังไม่ได้นำค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรมาคิดรวม แล้วจึงนำมาหารด้วย (ค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาบุคลากร) ก็จะทำให้ทราบว่า ทุกๆ 1 บาท ที่ใช้ไปในการพัฒนาบุคลากร จะทำให้บริษัททำกำไรได้กี่บาท

หรืออาจต้องเจาะลึกลงไปถึงระดับโครงการพัฒนาบุคลากร หรือหลักสูตรที่จัดให้พนักงาน โดยการเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายของโครงการหรือหลักสูตร เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ทางธุรกิจของหลักสูตร ว่าทุกๆ 1 บาทที่ลงทุนในการจัดโครงการหรือหลักสูตรหนึ่งๆ บริษัทจะสามารถทำกำไรได้กี่บาท และในแต่ละปี ตัวเลขดัชนีเหล่านี้ มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้สร้างผลตอบแทนเชิงธุรกิจได้มากกว่าหุ่นยนต์ อาจรวมถึงการจัดผลตอบแทนหรือรางวัลสำหรับเป้าหมายในระยะยาว เพื่อเป็นการดึงดูดใจให้พนักงานที่มีความรู้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่เหนือเทคโนโลยี

ให้คงอยู่เพื่อร่วมพัฒนาให้ธุรกิจของบริษัทเติบโดยได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว!!!!