การบ้านรัฐบาลใหม่

การบ้านรัฐบาลใหม่

ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่คะแนนเสียงที่ใกล้กันมากของสองขั้วการเมืองทำให้เริ่มมีคนกังวลว่าอาจจะเกิด Deadlock

 จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ผมไม่คิดเช่นนั้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีทางออก เช่น ถ้าพรรคการเมืองไม่สามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 375 เสียงเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทางออกก็คือสมาชิกวุฒิสภา 250 คน จะเป็นคนช่วยตัดสินว่าใครจะได้เป็นนายกฯ แต่ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็ยังเปิดช่องให้สามารถเสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้อีก ดังนั้น โอกาสที่จะเกิด Deadlock ดูแล้วมีน้อยมาก

 ผมเชื่อว่าการจับขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. โดยพรรคพลังประชารัฐน่าจะมีโอกาสสูงสุดที่จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ถึงแม้จะมีคะแนนเป็นอันดับสอง เพราะน่าจะได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสภา ตลาดหุ้นเองก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยกังวลเรื่องการเมือง สังเกตจาก SET Index ที่เริ่มปรับขึ้น และเงินทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับ

 แต่ที่จะเป็นปัญหาแน่ๆ คือเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ และประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าขั้วไหนจะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ก็คงมีพรรคร่วมรัฐบาลไม่ต่ำกว่าหกพรรค แต่จะมีจำนวน ส.ส. เกินครึ่งไม่มาก หรือประมาณ 260-270 คน ซึ่งหมายความว่าการบริหารราชการ การผลักดันนโยบายต่างๆ รวมถึงการออกกฎหมาย จะทำได้ไม่ง่ายนัก รวมทั้งโอกาสที่จะเกิดปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนนำไปสู่การยุบสภาก็ดูมีค่อนข้างสูง    

 ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือรัฐบาลนี้จะต้องเข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว ล่าสุด IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งจะเป็นภารกิจที่ท้าทายมากสำหรับรัฐบาลใหม่ เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวสูงถึงเกือบ 70% ของ GDP และที่เศรษฐกิจไทยโตได้เกิน 4% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ก็เพราะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในขาขึ้น  

 ในภาวะชะลอตัวของภาคส่งออกและท่องเที่ยว เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องทำคือการเรียกความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจ นักลงทุน และประชาชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการลงทุนภาคเอกชน และการบริโภค โจทย์นี้ฟังดูอาจไม่ยาก แต่สำหรับรัฐบาลที่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพและมีแนวโน้มอยู่ได้ไม่นาน ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายพอสมควร เพราะความไม่แน่นอน คือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับภาคธุรกิจและนักลงทุน

 ในมุมมองของผม สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ควรทำคือ คัดสรรคนที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ รู้งาน เข้ามาเป็นรัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ยิ่งต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ตรง และมีความเชี่ยวชาญในงานที่ต้องรับผิดชอบ ควรผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย ครอบคลุม และทันสมัย ที่สำคัญ ต้องไม่มีคนที่สังคมมองว่า “ยี้” ถ้าทำได้อย่างนี้ ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นจะตอบสนองในทางบวกทันที  ซึ่งจะช่วยทำให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้น และการบริโภคจะดีขึ้นตาม

 สอง ควรสานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ๆ เช่น รถไฟฟ้า โครงการ EEC เป็นต้น เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า การเปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ถ้าทำได้อย่างนี้ ผมเชื่อว่าภาคเอกชนจะมั่นใจที่จะลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อย่างต่อเนื่อง     

 สาม ไม่ควรเน้นทำแต่มาตรการระยะสั้นๆ เช่น ประชานิยม เพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ควรให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเพื่อการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ เช่น การปฎิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ การปฎิรูประบบบำนาญเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย การปฎิรูปกฎหมายและลดทอนกฏเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เป็นต้น ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่อีกเช่นกัน ว่ารัฐบาลไทยไม่ได้มุ่งเน้นทำเฉพาะนโยบายที่เห็นผลทันที 

 ที่ผมกล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของการสร้างความเชื่อมั่นผ่านตัวบุคคลและนโยบาย ผมยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังมีศักยภาพที่จะปรับขึ้นได้อีกมาก แม้ว่ารัฐบาลใหม่อาจจะดูไม่มีเสถียรภาพ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเลือกทำนโยบายแนวไหน