อนาคตภายใต้ DigitalTransformation การอภิวัฒน์อุตฯครั้งที4(2)

อนาคตภายใต้ DigitalTransformation การอภิวัฒน์อุตฯครั้งที4(2)

งานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ว่า 2 ทศวรรษหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่า 44% (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง)

มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ โดยกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พนักงานขายตามร้านหรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ คนงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้า อาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70-80% โจทย์เรื่องตลาดแรงงานที่กำลังว่างงานจากเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่ ขณะเดียวกันโอกาสของงานใหม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แต่งานใหม่ๆ เหล่านี้ต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะแบบใหม่ ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาการสร้างเครือข่ายการผลิตผ่านห่วงโซ่อุปทานเป็นปรากฏการณ์ปกติของบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ไอโฟน มีห่วงโซ่การผลิตกระจายอยู่ในหลายประเทศ มีสายห่วงโซ่อุปทานที่ยาว ผลิตรถยนต์ มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก็ก่อให้เกิดการส่งออกนำเข้าการค้าระหว่างประเทศกลับไปกลับมาภายในธุรกรรมของบรรษัทข้ามชาติ อนาคตแนวโน้มนี้จะเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เมื่อต้นทุนแรงงานถูกไม่ใช่ข้อได้เปรียบ การแยกส่วนเพื่อไปผลิตตามประเทศต่างๆ ที่มีค่าแรงถูกจึงมีจำเป็นน้อยลง การตั้งโรงงานผลิตกระจายในหลายๆ ประเทศแบบโลกาภิวัตน์ในยุค 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมามีความจำเป็นน้อยลง เทคโนโลยี 3D Printing สามารถลดขั้นตอนการผลิตจากการดีไซน์สู่การผลิตได้เลย ผู้ผลิตจะตั้งโรงงานผลิตใกล้ๆ กับประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่

โลกาภิวัตน์ในยุคต่อไปอาจไม่ใช่ยุคของ MNC อุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลาย แต่จะเป็นยุคสมัยของบริษัทเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดธุรกิจ Platform เป็นเจ้าของเครือข่ายข้อมูลขนาดใหญ่และสร้างมูลค่าธุรกิจจาก Big Data ดังกล่าว ธุรกิจ Platform พวกนี้จะสร้างพื้นที่ให้ผู้ซื้อผู้ขาย ผู้บริโภคและผู้ผลิตมาเจอกัน เวลานี้บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้มีมูลค่าทางธุรกิจแซงหน้าอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมไปแล้ว

สถาบันการเงินธนาคารแบบเดิมกำลังถูกท้าทายจากฟินเทคที่ใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงิน สามารถให้บริการทางการเงินด้วยต้นทุนต่ำไม่ต้องมีเครือข่ายสาขา การทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์แบบเดิมต้องปรับเปลี่ยนมุ่งสู่ความเป็น Digital Banking มากขึ้น การบริการต่างๆ ทางการเงินสามารถทำผ่านรูปแบบดิจิทัลโดยไม่ต้องผ่านเครือข่ายสาขาแล้ว โลกดิจิทัลนั้นเปลี่ยนเร็ว ต้องปรับให้ทัน วันนี้ฟินเทค (FinTech) ก็กำลังถูก TechFin Disrupt เช่นกัน กำลังเจอบริษัทเทคโนโลยีแพลตฟอร์มทั้งหลายซึ่งเป็นเจ้าของฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่เสนอบริการทางการเงินแข่งแล้ว ตอนนี้ Alibaba, Line, Amazon ได้ขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมบริการการเงินแล้ว

กิจการไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ไทยเป็น “ผู้ซื้อ” และ “ผู้รับ” เทคโนโลยีมากกว่าเป็น “ผู้ขาย” และ “ผู้สร้าง” เทคโนโลยี กิจการธุรกิจต่างๆ ก็ไม่ได้ลงทุนทางด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากนัก ต่อไปธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ จะภายใต้การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติเจ้าของเทคโนโลยี โดยเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตหรือห่วงโซ่ธุรกิจที่อาจไม่ได้มูลค่าเพิ่มสูงนักก็ได้ ส่วนอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยยังหวังพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งก็ร่อยหรอลง) และค่าแรงราคาถูก (ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ถูกแล้ว) ต่อไป และความได้เปรียบเรื่องแรงงานราคาถูกไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอีกต่อไปในโลกยุคหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ แรงงานที่มีการศึกษาต่ำและทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูง และจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ การบ่มเพาะทักษะด้านบุคคล (Soft Skills) และทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) โดยเฉพาะความรู้ทางด้าน STEM (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) ที่ประเทศขาดแคลนอยู่ คนงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อยเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆ เป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน ระบบเสมือนจริงและระบบออนไลน์ได้ทำให้ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้าและห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าและทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป

เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มแห่งอนาคตเช่นเดียวกัน แนวคิดในการแชร์การใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ใช้ โดยชี้ประเด็นว่าสังคมที่เน้นการเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่างได้สร้างสังคมที่ผู้คนล้วนหนี้สินเกินตัว สะสมเกินพอดี อันนำมาสู่วิกฤติของระบบทุนนิยมโลก การบริโภคร่วมกัน (Collaborative Consumption) ที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ขายตรงและเป็นผู้บริโภคตรง (P2P) แต่ละบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ว่าต้องการเป็นบทบาทใด ในเวลาใด โมเดลธุรกิจแบบนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงหรือว่าเช่าใช้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายสินค้า ตลาดแรงงาน การจ้างงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้