เราจะรับมือการท่องเที่ยวยุค 4.0 ได้อย่างไร

เราจะรับมือการท่องเที่ยวยุค 4.0 ได้อย่างไร

มีผู้เคยถามผู้เขียนว่า เราจะรับมือการท่องเที่ยวในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร คำตอบของผู้เขียนก็คือว่า ที่รับมืออยู่ตอนนี้ คือ ท่องเที่ยว 4.0

 กล่าวคือ สถานภาพของการท่องเที่ยวไทยนั้นล้ำหน้ากว่าการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจอื่นๆ และหากจะนิยามว่า ไทยแลนด์ 4.0 คือ ยุคที่ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เทียมหน้าเทียมตาประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง การท่องเที่ยวไทยก็ 4.0 ไปแล้ว เพราะว่าในปัจจุบันภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยติดอันดับ 4 ของโลก เทียมหน้าเทียมตาประเทศพัฒนาแล้วไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และจะถ้าจะดูรายรับสุทธิจากการท่องเที่ยว ประเทศไทยสามารถหารายได้จากต่างประเทศด้านการท่องเที่ยวติดอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์จากการเป็นยุคทองของการท่องเที่ยวในปัจจุบัน แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาหลายปัญหาด้วยกันก็คือ 1) ปัญหาที่เกี่ยวกับการต้อนรับขับสู้นักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะอันได้แก่ ปัญหาความผันผวนของรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ คือ นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งอาจจะขึ้นลงตามกระแสการเมือง เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างจีนกับประเทศเจ้าบ้าน หรือกระแสข่าวในโลกโซเชียลเกี่ยวกับปัญหาความไม่ปลอดภัยก็ดี ปัญหาการหมิ่นเกียรติหมิ่นศักดิ์ศรี คนจีน หรือพฤติกรรมที่เจ้าบ้านต้อนรับคนจีนไม่ดี หรือปัญหาทางด้านเทคนิคคือต้องปรับระบบการรองรับการท่องเที่ยวไทยให้สามารถรองรับพฤติกรรมของสังคมไร้เงินสดของคนจีน 2) ปัญหาการจัดการซัพพลายหรือที่เราเรียกในภาษาสมัยใหม่ว่าการจัดการห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว ซึ่งแยกออกมาเป็น 2 ปัญหาย่อยคือ (2.1) ปัญหาความสามารถในการรองรับเนื่องจากคนจีนมามากและเพิ่มเร็ว ก็ทำให้การรองรับของทั้งภาคเอกชนและการรองรับของสาธารณูปโภคนั้นไม่พอ นอกจากนั้นแหล่งท่องเที่ยวของเราที่เป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตาคือทะเลและปะการังก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปราะบางต้องมีมาตรการที่เข้มแข็งในการดูแลให้เกิดความยั่งยืน (2.2)ปัญหาย่อยอีกปัญหาหนึ่งก็คือ การเชื่อมต่อกันระหว่างห่วงโซ่อุปทานนั้นไม่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสามารถรับสายการบินต้นทุนต่ำที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาได้มาก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่มีระบบรองรับนักท่องเที่ยว ด้านการขนส่งภายในจังหวัดที่เป็นรถยนต์สาธารณะที่มีคุณภาพ 3) ปัญหาการพัฒนาทักษะบุคลากรในสายท่องเที่ยว ซึ่งการพัฒนาทักษะนี้ต้องเกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างๆในชุมชนไปจนถึงอุตสาหกรรมต้อนรับระดับห้าดาวซึ่งในแต่ละระดับก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน เพราะลูกค้าไม่เหมือนกันและศักยภาพของแต่ละกลุ่มที่รองรับนักท่องเที่ยวก็ไม่เหมือนกัน แต่บริการของรัฐก็มักจะเป็นบริการขั้นต่ำที่เหมือนกันสำหรับทุกคนรวมทั้งการฝึกอบรมแรงงานอีกทั้งยังไม่เข้าใจปัญหาในอุตสาหกรรมหรือในระดับพื้นที่ เพราะเกิดจากการดีไซน์นโยบาย จากเบื้องบน

วันนี้จะยกปัญหาแรกออกไปไว้ก่อนเพราะเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้เวลาและหน้ากระดาษมาก จะขอพูดปัญหาที่สอง ซึ่งจุดอ่อนใหญ่ของเราก็คือว่าเราเน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมาตลอดเวลา แต่เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวมากขนาดนี้ก็ต้องมีแผนที่บูรณาการในระดับพื้นที่ หมายความว่าต้องมีแผนที่บูรณาการบริการในทุกด้าน ในด้านสาธารณูปโภคผู้ให้บริการของรัฐก็จะต้องมาดูจัดทำแผนร่วมกันเพื่อมีให้เกิดปัญหาเดิมๆ เช่นต่างคนต่างขุดถนน หรือขุดถนนซ่อมถนนในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ต้องสนับสนุนเมืองให้เป็นฮับ ที่จะสามารถกระจายนักท่องเที่ยวไปได้โดยรอบ และไม่ใช่พัฒนาแค่เมืองหลักและเมืองรองเท่านั้นแต่อาจจะต้อง เป็นเขตเทศบาลในอำเภอหรือตำบล รัฐจึงต้องสนับสนุนการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะอย่างไรก็ดีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลทุกตารางนิ้วในประเทศไทย แม้ว่าจะมีองค์กรพิเศษซึ่งไปดูแล ด้านการท่องเที่ยว องค์กรเหล่านี้ก็ควรไปทำงานร่วมกับองค์กรปกครองในท้องถิ่นเพื่อมิให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการออกแบบการรองรับไม่ให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่สุนทรี เช่นไปสร้างห้องน้ำบดบังวิวทิวทัศน์ที่สวยงามหรือไปสร้างอนุสาวรีย์ เช็คพอยท์ที่น่าเกลียดที่ชายหาด

ในเรื่องการจัดการสาธารณูปโภคนั้นเราอาจจะต้องอาศัยภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่จริงแล้วในขณะนี้ภาคเอกชน เช่น ศูนย์การค้าต่างๆ ก็ได้เป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยวไปแล้ว ในด้านห้องน้ำและการบริการอื่นๆ แต่ในบริเวณที่ห่างออกไปและไม่มีศูนย์การค้าอื่นๆ เราอาจจะสนับสนุนให้ร้านสะดวกซื้อเช่น 7-11 หรือแฟมิลี่มาร์ท มีห้องน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวและสามารถเอาเงินลงทุนในห้องน้ำนี้หักภาษีได้ ทั้งนี้รวมถึงร้านค้าของไทยซึ่งจะให้บริการห้องน้ำสาธารณะ แต่การที่รัฐบาลไปสร้างห้องน้ำในที่ สาธารณะนั้นไม่มีประโยชน์ หากไม่มีคนดูแล นอกจากนั้นเราก็ควรให้ผู้ที่มีรถสามารถเข้าบริการรถเช่าระยะสั้นได้เช่นเดียวกับ Grab หรือ Lineman โดยถูกกฎหมายแต่เขาเหล่านี้จำเป็นจะต้องมีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะเช่นเดียวกับแท็กซี่จึงจะถูกต้องและมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ในเมืองที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นคือเกินกว่า 500,000 ขึ้นไปจะต้องเริ่มคิดถึงการสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวภาคกลางคืน ซึ่งไม่ใช่บาร์เบียร์และอุตสาหกรรมบริการทางเพศ ตัวอย่างก็อาจจะเป็นพวกพิพิธภัณฑ์ซึ่งเปิดกลางคืน และ พื้นที่จตุรัสสาธารณะ ถ่ายรูปสวยได้ยามราตรี

สร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ยามราตรีที่มีความเป็นไทย เช่น กาด (ตลาด) มั่ว หรือกาด โก้งโค้ง ตั้งแต่ยามย่ำค่ำสนธยา การบันเทิงก็ไม่จำเป็นต้องมีแต่มวยเท่านั้นอาจจะมีตะกร้อวงมาร่วมด้วยก็ได้ รวมทั้งลีลาศรำวงในจัตุรัสเมืองในเวลาค่ำคืน จัตุรัสเมืองก็ควรออกแบบไม่ให้ร้อนเหมือนอุทยานราชภักดิ์ ที่เขาออกแบบไว้สำหรับการสวนสนามไม่เหมาะกับการท่องเที่ยว จัตุรัสเมืองนั้นไม่ต้องใหญ่มากแต่ต้องร่มรื่นในเวลากลางวัน มีพื้นที่กิจกรรมไม่ใหญ่นักในเวลากลางคืนที่ไม่ใช่ขายของ การออกแบบแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในช่วงเวลากลางคืนนี้จะสำคัญมากเมื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิของจังหวัดท่องเที่ยวไทยในเวลากลางวันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ในเรื่องสิ่งดึงดูดใจอื่นๆ ที่สำคัญมากคือ เราต้องทำให้อาหารเป็นเรื่องใหญ่ ตั้งเป้าไปเลยว่าจะต้องโค่นฝรั่งเศสและจีนให้ได้ ภายใน 20 ปี ในเรื่องอาหารที่ไม่เพียงแค่อร่อย แต่กินแล้วสุขภาพดี กินแล้วสวยด้วย

สุดท้ายก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะเดี๋ยวนี้ในยุคโซเชียลมีเดียคุ้มครองโลก ธุรกิจและเศรษฐกิจจะสามารถดังหรือดับได้ชั่วข้ามคืนตามกระแสโซเชียล