การพัฒนาเทคโนโลยี และความน่าอยู่

การพัฒนาเทคโนโลยี และความน่าอยู่

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้เข้าร่วมสัมมนาเรื่องการพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืนในฐานะภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการ

และหนึ่งในหัวข้อที่ได้หารือกัน คือ เทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาชุมชน มีผู้ร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นเชิงซักถามว่า “เทคโนโลยีทำให้ชุมชนเราน่าอยู่ขึ้นและทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้นจริงหรือไม่?” เพราะการที่เราคุ้นเคยและติดอยู่ในโลกออนไลน์ทำให้เราละเลยความรู้สึกและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเราไป แม้เราจะไปด้วยกัน นั่งกินข้าวด้วยกัน อยู่ร่วมกัน แต่เรายังนิยมคุยและแชร์เรื่องราวต่างๆ กันผ่านทางออนไลน์มากกว่า

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ในมุมมองของผู้บริโภคนั้น เทคโนโลยี ดิจิทัล สมัยใหม่เข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตเชิงกายภาพ เช่น ระบบโฮม ออโตเมชั่น ที่สั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือระบบความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิด เซนเซอร์ หุ่นยนต์ตรวจการ และระบบผ่านเข้าออก นอกจากนั้น ยังให้ความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมที่สามารถทำได้ ทุกที่ ทุกเวลา ในขณะที่ผู้ประกอบการเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดต้นทุนในการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนทางด้านบุคลากร ลดความผิดพลาดในการดำเนินการ และช่วยส่งเสริมการขายได้ดี

อย่างไรก็ดี มุมมองข้างต้นยังเป็นเพียงมุมมองการ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ในเชิงกายภาพ เพื่อสร้างคุณค่าในระดับบุคคลเป็นหลัก แม้ว่ามีผู้ประกอบการเริ่มขยายการพัฒนาเทคโนโลยีไปเพื่อสร้างเครือข่าย เช่น การสร้างสังคมออนไลน์ในกลุ่มผู้อาศัย การเชื่อมโยงกับเครือข่ายโรงพยาบาล แต่ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์หรือคุณค่าส่วนตนในระดับบุคคลเท่านั้น และใช้กับโครงการที่เพิ่งพัฒนาใหม่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา คำถามที่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนควรพิจารณา คือ เราจะ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ทั้งชุมชนที่มีอยู่และชุมชนใหม่ในอนาคต?

แนวคิดที่ต้องพิจารณาเติมเต็มให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์นั้นจะต้องได้ทั้งมุมมองเชิงความสะดวกสบาย (Convenience) และการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ (Relationship) สำหรับผู้ประกอบการทุกราย ท่านสามารถเริ่มต้นจากสิ่งที่มีจึงจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ไม่เฉพาะของตนแต่เพื่อชุมชนด้วย

เนื่องจาก เทคโนโลยีไม่ได้หมายความถึงแอพพลิเคชั่นระบบอัตโนมัติแต่หมายถึงการนำความรู้ที่มีไปประยุกต์ใช้ เช่น จากประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการและชุมชนกว่า 150 ชุมชนร่วม 30 ปี การติดต่อกับนิติบุคคลนั้นมีหัวใจสำคัญคือ การได้พบปะพูดคุยสื่อสารและสอบถามความเป็นอยู่ของเจ้าของร่วมและผู้อยู่อาศัย พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยอันอาจเกิดจากบุคคลแปลกหน้า และยังเป็นการสร้างความผูกพันในชุมชนด้วย เทคโนโลยีที่ควรเสริมขึ้นนอกจากการชำระเงินอัตโนมัติแล้วคือ การแจ้งเตือนล่วงหน้า 

การระบุและจัดเวลาของเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสม และระบบติดตามและแจ้งความคืบหน้าเรื่องที่เจ้าของร่วมได้ขอความช่วยเหลือไว้ ระบบและศูนย์รับแจ้งเหตุความปลอดภัย 24 ชั่วโมงที่ใช้ได้ครอบคลุมทุกโครงการทั้งใหม่และเก่า ระบบการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จึงจะสะท้อนถึงความ ใส่ใจ ในเจ้าของร่วมและผู้อยู่อาศัย (Human Centric) และช่วยให้ชุมชนเกิดความเชื่อมั่น วางใจและไว้ใจ ในสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ อันจะนำไปสู่ชุมชนน่าอยู่อย่างแท้จริง

แม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายอาจยังไม่มีความพร้อมในการทำให้เกิดชุมชนน่าอยู่ได้ในทันที แต่เมื่อมองการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความน่าอยู่จากแนวทางข้างต้น ผู้ประกอบการทุกรายสามารถเริ่มต้นสร้างความน่าอยู่ให้ชุมชนของตนได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบายและการสร้างความสัมพันธ์อันดีบนสิ่งที่มีได้อย่างแน่นอน