ศตวรรษา ศ.ดร ประเสริฐ ณ นคร แบบอย่างดี-คุณค่าของมนุษย์ชาติ

ศตวรรษา ศ.ดร ประเสริฐ ณ นคร แบบอย่างดี-คุณค่าของมนุษย์ชาติ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปในงานเชิดชูเกียรติ

ในโอกาสที่อายุครบ 100 ปี ศตวรรษา ศาสตราจารย์ ดร ประเสริฐ ณ นคร ณ ห้องประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และทรงขับร้องเพลง “ฝากรัก” พระราชทานด้วย 

เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมได้มีโอกาสสำคัญครั้งหนึ่งของชีวิต ได้รับมอบหมายจากสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เป็นประธานจัดงาน ครบ 8 รอบ 96 ปี และเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ได้ไปร่วมงานเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ และคาถาพัน เชิดชูเกียรติ 100 ปี ศตวรรษา ศาสตราจารย์ ดร ประเสริฐ ณ นคร ณ อาคารกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีโอกาสได้สนทนากับอาจารย์ได้ความรู้ที่มีประโยชน์ในการดำรงชีวิตมาก

อาจารย์เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2461 เป็นปีที่พิสูจน์ทฤษฏีสัมพัทธภาพ ที่อำเภอเมืองจังหวัดแพร่ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ เมื่อปี พศ.2481 ปริญญาโท เอก ภาควิชาสถิติ และผสมพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พศ.2496 และ พศ.2500 เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์วิทยาลัยเกษตร บางเขน กรมเกษตรและการประมง ตั้งแต่ปี พศ. 2481 ได้รับโปรดเกล้าเป็นศาสตราจารย์ เมื่อปี พศ. 2503 เป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พศ. 2507 ปี และปีพศ. 2515 ย้ายไปเป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัยคนแรก จนเกษียณในปี พศ 2522

อาจารย์มีความรอบรู้ในลักษณะสหวิทยาการ ทั้งคณิตศาสตร์ สถิติ และประวัติศาสตร์ไทย มีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับและอ้างถึงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ได้แก่ การชำระประวัติศาสตร์สุโขทัย การแบ่งกลุ่มไทยตามตัวหนังสือ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารไทยและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 100 บทความ

ความสามารถพิเศษจนได้รับการยกย่องให้เป็น คีตกวี คือความสามารถในการประพันธ์ โดยได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าให้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ 5 เพลง ได้แก่ เพลงใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ในดวงใจนิรันดร์ และเพลงเกษตรศาสตร์ และยังประพันธ์เพลงฝากรัก ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ร่วมกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์

เมื่อ4 ปีที่แล้วอาจารย์เล่าให้ผมฟังถึงหลักแห่งการดำรงชีวิต คือการทำงาน อาจารย์ยังไปทำงานที่ราชบัณฑิตยสถาน ทุกวัน ออกกำลังด้วยการเดินไม่น้อยกว่าวันละ 2 กิโลเมตร กินอาหารน้อย ไม่เครียด จึงไม่มีทั้งความดันและเบาหวาน

ปีนี้อาจารย์อายุครบ 100 ปี อาจารย์ก็ยังคงทำงาน บางวันประชุม 4 ชม. บางวันประชุม 8 ชม.หยุดสอนหนังสือในหลายมหาวิทยาลัยเมื่อตอน อายุ 98 ปี แต่ไม่หยุดออกกำลัง ด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้เดินช้าลง ใช้เวลาในการเดินมากขึ้น แต่ต้องเดินให้ได้ 2 กม. มีวินัยในการกินอาหาร ควบคุมอารมณ์ให้ไม่เครียด ความสุขของอาจารย์คือการร้องเพลง ผมสังเกตตอนที่วงดนตรี KU BAND ร้องเพลงที่อาจารย์แต่ง อาจารย์เคาะมือเป็นจังหวะตาม ร้องคลอเบา ๆ อาจารย์ให้ความสุขกับผู้มาร่วมงานด้วยการร้องเพลงลาวดวงเดือน โดยไม่ต้องดูเนื้อเพลงจนจบ

แม้วงจรชีวิตของมนุษย์จะมีการเกิด แก่ เจ็บตาย เป็นสัจธรรม ที่ไม่มีใครหนีพ้น

แต่ปรากฎการณ์ที่มีอายุยืนยาวครบ 100 ปี ของอาจารย์ และยังสามารถทำงานได้ทุกวัน สอดคล้องกับหลักการสำคัญของชาวโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ที่เรียกว่า IKIGAI ที่มีความสุขจากการมีอะไรทำตลอดเวลา มีแรงบันดาลใจทีจะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตตอนเช้า 

เป็นแบบอย่างที่ควรยึดถือปฏิบัติ