ไม่มีของขวัญ…ไม่มีปัญหา

ไม่มีของขวัญ…ไม่มีปัญหา

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีองค์กรจำนวนมาก ทั้งภาครัฐและเอกชนพร้อมใจกันประกาศนโยบายงดรับและงดให้ของขวัญ (no gift policy) กันอย่างคึกคัก

ซึ่งถือเป็นสัญญาณดี ที่ของการนำนโยบายนี้มาใช้ แต่ก็มีคำถามที่น่าสนใจว่า ในทางปฏิบัติจะมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้จริงๆ หรือเปล่า

ในฐานะผู้อำนวยการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหาร ทั้งขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก ทำให้ได้ทราบว่าสำหรับบริษัทขนาดเล็กๆ แล้ว การมีนโยบาย no gift นั้นเป็นตัวช่วยอย่างดี ในการที่จะปฏิเสธการให้ของขวัญ และเลี้ยงรับรองแก่พนักงานของหน่วยงานที่บริษัทต้องติดต่อด้วย

ผู้บริหารรายหนึ่งเล่าว่า ในช่วงเทศกาล เป็นช่วงที่เขา “เครียดมาก” เพราะนอกจากต้องคิดว่าจะให้ของขวัญอะไรกับใครบ้างแล้ว ยังต้องมานั่งบวกลบคูณหารต้นทุนที่ไปสรรหานี้ ที่อาจจะเป็นแค่ของชิ้นเล็กๆ ที่ไม่ได้มีมูลค่ามากมายอย่างเช่น ไวน์สักขวด ไล่ไปจนถึงของชิ้นใหญ่ที่มีราคาสูงอย่างเช่นรถยนต์เพื่อเป็นรางวัลในการจับฉลาก

“หลังจากเข้าร่วม CAC แล้ว เราได้กำหนดนโยบาย และเพิ่มความเข้มข้น จนถึงขั้นประกาศนโยบาย no gift policy ซึ่งในช่วงแรกๆ คนที่เคยได้รับก็ยังคงคาดหวัง แต่หลังประกาศจุดยืนที่ชัดเจนความคาดหวังในของขวัญก็ลดลงไปมาก” เจ้าของธุรกิจรายหนึ่งบอก “ในปีที่แล้ว ค่าใช้จ่ายในการให้ของขวัญของบริษัทลดลงไปถึง 50% เลยทีเดียว” ซึ่งสำหรับบางบริษัทแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่ประหยัดไปได้คิดเป็นมูลค่าหลักล้านบาทเลยทีเดียว

เจ้าของธุรกิจอีกแห่งหนึ่งบอกว่า ในอดีตเขาจะเครียดและกังวลมากเมื่อถึงหน้าเทศกาล แต่ “ตอนนี้ผมไปพักร้อนได้อย่างสบายใจ การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CAC ทำให้ผมมีเหตุผลที่ดีในการบอกกับบุคคลภายนอกว่า ในฐานะที่บริษัทผ่านการรับรองจาก CAC จึงได้มีการกำหนดนโยบาย no gift policy ซึ่งก่อนหน้านี้มันยากที่จะหาข้ออ้างที่ไม่ต้องให้ของขวัญ"

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ ปัญหาที่ผู้บริหารพบอาจจะกลับข้างกัน เพราะมีโอกาสจะเป็นผู้รับของขวัญมากกว่า การมีนโยบาย no gift policy ก็ช่วยให้ผู้บริหารไม่ต้องกังวลการรับสินบน ซึ่งผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่แห่งหนึ่ง บอกว่า ความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงสุด หรือ “tone at the top” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และบริษัทของเขาก็พยายามที่จะสื่อสารกับพนักงานทุกคนถึงความจริงจังของประธานกรรมการในเรื่อง no gift policy โดยผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในสำนักงาน ในลิฟต์ รวมถึงช่องทาง intranet

และเมื่อถามว่าการเลิกให้ของขวัญส่งผลกระทบด้านลบกับธุรกิจบ้างหรือไม่ ผู้บริหารท่านหนึ่งบอกว่า “เราไม่พบว่ามีผลกระทบด้านลบเกิดขึ้นเลย"

CAC ไม่ได้บังคับว่าบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC จะต้องมี no gift policy แต่ในการพิจาณาให้การรับรองมีเกณฑ์ที่กำหนดให้บริษัทต้องกำหนดแนวปฏิบัติเรื่องการให้ของขวัญที่ชัดเจน และต้องแจ้งให้คู่ค้าทราบนโยบายเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญด้วย

ในขณะที่ CAC รณรงค์ให้บริษัทเอกชนประกาศนโยบาย no gift policy ก็มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐประกาศนโยบาย no gift policy ด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลของ ACT พบว่าหน่วยราชการไทย 13 กระทรวงจากทั้งหมด 20 กระทรวง และรัฐวิสาหกิจ 39 แห่ง จากทั้งหมด 56 มีการประกาศนโยบาย no gift Policy แล้ว ในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลอีกหลายแห่ง อย่างเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานงบประมาณ, ศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด ต่างก็มีการประกาศนโยบาย no gift Policy

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ ACT บอกว่า “ทุกวันนี้ทุกฝ่ายสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าต้องวิ่งสรรหาอะไรให้ใคร หรือต้องได้จากใคร หรูหรา ราคาเท่าไหร่ มันเปิดเผย เรามีวิธีรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามอีกมาก แค่ดอกไม้ก็แสดงความเคารพกันได้ คงมีบ้างที่แอบให้กัน แต่เขาย่อมรู้แก่ใจว่ามันเบียดบัง และไม่ถูกต้อง”

CAC เป็นความริเริ่มของภาคเอกชนไทยในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชนในรูปแบบของ collective action เพื่อสร้างกระแสการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการที่จะปฏิเสธการรับและจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ โดยมีสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการขับเคลื่อนโครงการ

จนถึงปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการคอร์รัปชันกับ CAC แล้ว 937 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทจดทะเบียน 429 บริษัทคิดเป็นมูลค่าตลาดถึงกว่า 80% ของมูลค่าตลาดของตลาดหุ้นไทย ในขณะที่มี 366 บริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC ว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการรับ-จ่ายสินบนครบตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผ่านการรับรองตามเกณฑ์ใหม่ที่กำหนดไว้สำหรับ SME อีก 10 บริษัทด้วย การที่มีบริษัทต่างๆ เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ และดำเนินการเพื่อให้ผ่านการรับรองจาก CAC เป็นจำนวนมากทำให้ CAC เป็นหนึ่งในความริเริ่มของภาคเอกชนในการต่อต้านการคอร์รัปชันระดับแนวหน้าของโลก

โดย... 

พนา รัตนบรรณางกูร 

ผู้อำนวยการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)