อาเซียนสร้างแนวป้องกันวิกฤติให้อาเซียน

อาเซียนสร้างแนวป้องกันวิกฤติให้อาเซียน

ประเทศอาเซียนสิบประเทศปัจจุบันถือว่าเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดและมีพลวัตมากที่สุดในโลก

พิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอาเซียนช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา ความสำเร็จนี้เป็นผลจากความเป็นเสรีของระบบการค้าและการลงทุนของเศรษฐกิจในอาเซียน สนับสนุนโดยการดำเนินนโยบายที่มองไปข้างหน้า และความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 สิ่งเหล่านี้เป็นฐานให้เศรษฐกิจอาเซียนสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของคนในอาเซียนให้ดีขึ้นทั่วหน้า

มองไปข้างหน้า ความเสี่ยงต่อการขยายตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจอาเซียนจะมีมากขึ้น ความเสี่ยงสำคัญก็ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกอาจถล้ำเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน จากผลกระกระทบของเศรษฐกิจถดถอยที่จะมีต่อภาวะสภาพคล่องในประเทศ ต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนและครัวเรือน และต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน เป็นความเสี่ยงไม่ใช่เฉพาะต่อภูมิภาคอาเซียน แต่เป็นความเสี่ยงต่อประเทศส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจโลก

ประเด็นสำคัญที่ตลาดการเงินห่วงขณะนี้คือ ความสามารถของภาคทางการหรือรัฐบาลที่จะดูแลแก้ไขปัญหาถ้าวิกฤติเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นจริง เพราะปัจจุบันสถานการณ์ต่างกับกรณีปี 2008 มาก คือ ไม่มีประเทศไหนที่ดูแล้วจะสามารถมีบทบาทนำหรือเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาวิกฤติ และความพร้อมของประเทศต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกันภายใต้ระบบพหุภาคีก็อ่อนแอลงมาก จากการแพร่ขยายของการเมืองแบบประชานิยม การกีดกันทางการค้า และความขัดแย้งระหว่างเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของโลก คือ สหรัฐกับจีนที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับนโยบาย ทำให้ถ้าวิกฤติเศรษฐกิจโลกเกิดชึ้นอีกครั้ง การแก้ไขปัญหาจะยากมาก

คำถามที่ตามมาคือ แล้วแต่ละประเทศมีความพร้อมหรือไม่ที่จะตั้งรับกับความเสี่ยงเหล่านี้

สำหรับอาเซียน หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเซีย ในปี 1997 สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพวงสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจในอาเซียน คือ การสร้างแนวป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจไม่ให้เกิดขึ้นอีก ในรูปของการจัดตั้งมาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (Chiangmai Initiative Multilateralization :CMIM) ในปี 2014 ที่ต่อยอดจากมาตรการริเริ่มเชียงใหม่เดิม ปี 2000 โดยประเทศอาเซียนสิบประเทศร่วมกับญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกว่า อาเซียนบวกสาม เป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคเพื่อเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีประเทศในกลุ่มประสบปัญหาดุลชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องเพื่อป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจไม่ให้เกิดขึ้น

กลไกนี้ทำงานคล้ายกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) คือมีกระบวนการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจในกลุ่มเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติ ทำโดยสำนักงานแอมโร(AMRO) ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของประเทศอาเซียนบวกสาม มีกระบวนการหารือด้านนโยบายร่วมกันในระดับรัฐมนตรีการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง และมีวงเงินช่วยเหลือสภาพคล่องที่เป็นกองกลางให้ประเทศที่มีความจำเป็นกู้ยืม โดยกู้ได้เท่ากับร้อยละ 30 ของวงเงินที่ประเทศจะสามารถกู้ได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 70 จะเป็นการปล่อยกู้โดยตรงของไอเอ็มเอฟตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ ล่าสุดวงเงินสภาพคล่องที่พร้อมให้กู้ยืมมีมากถึง 240 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ถือเป็นความเข้มแข็งสำคัญของกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน

อย่างไรก็ตาม แม้กลไกดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจไม่ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย แต่ที่ผ่านมา ในทางปฏิบัติเกือบยี่สิบปีที่กลไกนี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา ยังไม่มีการให้กู้ยืมหรือใช้ประโยชน์จากกลไกนี้ แม้บางประเทศในกลุ่มจะมีความต้องการสภาพคล่องฉุกเฉินและต้องการความช่วยเหลือ แต่ก็เลือกที่จะใช้วิธีการกู้ยืมโดยตรงระหว่างกัน(Bilateral Swaps) แทนที่จะใช้ประโยชน์จากกลไก CMIM สาเหตุหลักก็เพราะ การกู้ยืมจาก CMIM ต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสาม โดยเฉพาะจากประเทศบวกสาม คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลไก CMIM ทำให้กระบวนการอาจใช้เวลา นอกจากนี้ การขอกู้จาก CMIM ได้ถูกโยงกับโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทำให้เป็นข้อจำกัดสำหรับบางประเทศที่ต้องการกู้ยืมแต่ไม่อยากกู้ด้วยเหตุผลทางการเมือง ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการและการเชื่อมต่อระหว่าง CMIMกับการปล่อยกู้ของไอเอ็มเอฟเพื่อลดข้อจำกัดของการใช้ประโยชน์กลไก CMIM ให้น้อยลง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

ย้อนกลับไปก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ปี 1997 ความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศอาเซียนสิบประเทศก็เคยมีในลักษณะเดียวกัน คือ มีการประชุมหารือด้านนโยบายระหว่างประเทศในอาเซียนและมีกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน หรือ ASEAN SWAP ARRANGEMENT (ASA) ตั้งแต่ปี 1977 ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของประเทศในอาเซียนสิบประเทศเอง ไม่มีประเทศบวกสามเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หลังวิกฤติเอเชียบทบาทของประเทศบวกสามในแนวป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียเพิ่มสูงขึ้นมาก ผ่านการจัดตั้งกลไก CMIM อย่างที่กล่าว ที่เปรียบเหมือนประตูแรกของการขอความช่วยเหลือทางการเงินฉุกเฉินจากไอเอ็มเอฟ บดบังความร่วมมือทางการเงินที่ประเทศในอาเซียนเคยมีระหว่างกัน ทำให้ปัจจุบันอาเซียนไม่มีกลไกป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นของตนเอง รวมถึงไม่มีกลไกให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกัน เช่น ASA ที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นในภาวะที่ความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติเศรษฐกิจในเศรษฐกิจโลกมีสูงขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนมีมากรวมถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค รวมถึงในเอเชียและกลไก CMIM จึงมีเหตุที่ดีที่กลุ่มประเทศอาเซียนสิบประเทศควรพิจารณารื้อฟื้นความร่วมมือทางการเงินระหว่างกัน โดยเฉพาะการเสริมสร้างกลไก ASA ที่มีอยู่ให้เข้มแข็งจนสามารถเป็นทางเลือกให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการกู้ยืมระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องให้สามารถใช้ประโยชน์จากวงเงิน ASA ได้ ขนานไปกับกลไกCMIM ที่มีในปัจจุบัน เสริมเป็นอีกหนึ่งแนวป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจสำหรับประเทศในอาเซียน

ที่น่ายินดี คือ ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจอาเซียนขณะนี้ทำให้ประเทศในอาเซียนจะไม่มีข้อจำกัดในการเสริมสร้างความเข้มแข็งดังกล่าวให้กับกลไก ASA เพราะเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนดีขึ้นมากจากเมื่อยี่สิบปีก่อน ประเทศในอาเซียนมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันกว่า 900 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กลไกASA ที่เข้มแข็ง นอกจากจะหมายถึงการรื้อฟื้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศในอาเซียนอย่างที่เคยมีแล้ว จะทำให้อาเซียนมีกลไกความช่วยเหลือทางการเงินที่เป็นของตัวเอง ที่การตัดสินใจช่วยเหลือประเทศในกลุ่มจะมาจากประเทศในอาเซียนเอง ปลอดจากอิทธิพลของการเมืองระหว่างประเทศ และอิทธิพลของประเทศใหญ่ ทำให้การป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจจะสามารถทำได้อย่างทันเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการเสริมความเข้มแข็งนี้อยู่ในวิสัยที่ประเทศในอาเซียนสามารถทำได้ขณะนี้ ซึ่งจะเป็นการเตรียมตัวที่ดีและสำคัญในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมาก

นี่คือข้อคิดที่อยากจะฝากไว้ ในปีที่ประเทศไทยจะเป็นผู้นำเป็นเจ้าภาพอาเซียน