ฤาถึงคราวเศรษฐกิจถดถอย

ฤาถึงคราวเศรษฐกิจถดถอย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินปั่นป่วน หลังจากผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ

(ที่อยู่ที่ 2.39% ณ 29 มี.ค.) ปรับลดลงมาต่ำกว่า 3 เดือน (ที่ 2.43%) จนเกิด Inverted Yield Curve หรือ ภาวะผลตอบแทนพันธบัตรกลับหัว (คือพันธบัตรอายุยาวที่สะท้อนศักยภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ต่ำกว่าอายุสั้นที่สะท้อนต้นทุนทางการเงิน) และเป็นดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

นอกจากสัญญาณดังกล่าวแล้ว เครื่องชี้เศรษฐกิจอีก 2 ตัวก็บ่งชี้ถึงความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย นั่นคือ (1) การถดถอยของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ทั่วโลกที่อยู่ในแดนลบระดับเดียวกับปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแรง และ (2) การชะลอตัวลงของการค้าทั่วโลก โดยหากพิจารณาการส่งออกของประเทศในเอเชียจะเห็นว่าหดตัวลงอย่างรุนแรงใน 2 เดือนแรกของปี

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าตลาดกังวลความเสี่ยงเกินไป โดยมองว่า หากไม่มี “อุบัติเหตุ” ขนาดใหญ่แล้ว เศรษฐกิจที่ชะลอลงจะเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในครึ่งปีหลังเป็นอย่างช้า จาก 3 เหตุผลหลัก

เหตุผลแรก การเกิด Inverted Yield Curve ครั้งนี้ ไม่น่าจะเป็นสัญญาณของ Recession เพราะสัญญาณครั้งนี้ไม่ได้เป็นผลจากนักลงทุนที่กลัวว่าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะตกต่ำมากในอนาคต แต่เป็นผลจากการกระทำของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ย และประกาศยุติการลดทอนงบดุล (Quantitative Tightening: QT) ในเดือน ต.ค. ปีนี้ แต่ในเชิงปฏิบัติเป็นการ “แอบทำ” มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีกครั้ง

โดย Fed จะยังคงลดทอนปริมาณเงินฝั่งตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (MBS) จำนวน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และนำเงินที่ได้นี้กลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้น ในภาพรวม งบดุลของ Fed จะไม่เพิ่มขึ้น แต่จะเป็นการกลับไปซื้อพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้น กดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวลดลงจาก 2.6% มาอยู่ที่ประมาณ 2.4%

ทั้งนี้ แม้ว่าการทำนโยบายนี้จะทำให้สภาพคล่องกลับมาเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะในฝั่งตลาดพันธบัตร) รวมถึงลดทอนความเสี่ยงที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะกระชากขึ้น จากการที่่รัฐบาลทรัมพ์ทำนโยบายการคลังขาดดุลมากขึ้น (ปีละกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ผู้เขียนเห็นว่า นโยบาย แอบทำ” QE จะกลับมาสร้างฟองสบู่ให้กับตลาดอีกครั้ง รวมถึงทำให้เกิด Inverted Yield Curve ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าจะเกิด Recession ขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะ Self-fulfilling Prophecy หรือภาวะที่คำทำนายว่าจะเกิด Recession เป็นจริงเพราะความเชื่อของผู้คน

เหตุผลที่สอง นับจากต้นปีที่ผ่านมา ทางการของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ร่วมมือกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกหลังจากวิกฤตการเงินโลก ซึ่งน่าจะมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นได้ จาก

(1) Fed ที่กลับท่าทีจากคุมเข้ม (Hawkish) มาเป็นผ่อนคลาย (Dovish) ทำให้ภาวะทางการเงิน (Financial Condition) ของสหรัฐผ่อนคลายลง เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 30 ปี ที่ลดลงจาก 5.2% ในช่วงไตรมาส 3 ปีที่แล้ว มาเป็น 4.5% ในปัจจุบัน ซึ่งจากการคำนวณของผู้เขียนแล้ว จะทำให้ครัวเรือนสหรัฐมีเงินไปจับจ่ายมากขึ้นประมาณ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 0.3% ของ GDP สหรัฐ

นอกจากนั้น ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ลดลง ทำให้ภาระทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐลดลง โดยหากพิจารณาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 7 ปี (ซึ่งเป็นอายุเฉลี่ย) จะพบว่าลดลงจากช่วงไตรมาส 3 ที่ 3.1% เป็น 2.3% ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐลดลงถึงกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น และ/หรือ ทำให้ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการคลัง เช่นเดียวกับปัญหา “หน้าผาทางการคลัง” รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะสหรัฐชนเพดานลดลง

(2) รัฐบาลจีนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งการลดอัตราการกันสำรองถึง 5 ครั้งตั้งแต่ปีก่อน และการกระตุ้นผ่านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และการลดภาษีรายได้และภาษีการบริโภคโดยมีเม็ดเงินรวม 6.2 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 7% ของ GDP)

มาตรการเหล่านี้ ผสมผสานกับแนวโน้มสงครามการค้าที่ดูจะผ่อนคลายมากขึ้น น่าจะมีส่วนสร้างความมั่นใจในเศรษฐกิจให้กับประชาชนและภาคธุรกิจจีน นำไปสู่การบริโภคและลงทุนมากขึ้นใน 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งตัวเลขล่าสุดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งของทางการและภาคเอกชนของจีนต่างเริ่มส่งสัญญาณบวกแล้ว

(3) ทางการยุโรปที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากจะส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ยและออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (TLTRO) ให้กับธนาคารพาณิชย์แล้ว รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปโดยเฉพาะอิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส มีแนวโน้มที่จะทำมาตรการการคลังโดยเม็ดเงินรวมประมาณ 0.8% of GDPด้วย ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2-0.3% จากกรณีฐาน

เหตุผลสุดท้าย แม้ว่าการชะลอตัวลงของภาคการผลิต (โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม) จะเป็นผลจากวัฐจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขาลง เห็นได้จากสัดส่วนสินค้าคงคลังต่อสินค้าจัดส่ง (Inventory to shipment Ratio) ที่ปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ

แต่เป็นไปได้ว่าในปี 2020 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของภาคการผลิตโดยเฉพาะในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากการเปิดตัวของเทคโนโลยี 5G ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 4G อย่างมาก เช่น มีความเร็วมากกว่าถึง 100 เท่า และสามารถเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ หรือ Internet of Things (IoTs) ซี่งประสิทธิภาพที่สูงเช่นนี้ จะทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ตอบสนอง 5G ทั่วโลกเริ่มกลับมา โดยมีการประมาณการว่าในปี 2024 กว่า 90% ของชาวสหรัฐจะเปลี่ยนมาใช้ 5G และในปี 2030 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์กว่า 1.3 แสนล้านเครื่องทั่วโลกจะรองรับ 5G เพิ่มจาก 1.1 หมื่นล้านเครื่องในปัจจุบัน ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้ จะทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

กล่าวโดยสรุปคือ จาก 3 เหตุผลข้างต้น ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2020 อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจโลกจะโตต่ำและซึมยาว (หรือที่เรียกว่า Secular Stagnation) ที่สินค้ามีต้นทุนการผลิตต่ำลง จึงมีปริมาณ (Supply) มาก แต่ความต้องการซื้อ (Demand) จะอ่อนแอระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะ New Normal ที่เศรษฐกิจโตต่ำ การค้าน้อยลง เงินเฟ้อต่ำ และผลตอบแทนการลงทุนต่ำและผันผวน

New normal กลับมาแล้ว นักธุรกิจและนักลงทุน เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]