เมื่อตลาดการเงินกลัวเศรษฐกิจถดถอย

เมื่อตลาดการเงินกลัวเศรษฐกิจถดถอย

วันนี้ผมเขียนเรื่องเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง แต่ขอเริ่มโดยแสดงความเห็นใจ

ต่อคนไทยในประเทศนิวซีแลนด์ ทั้ง 1,542 คนที่พร้อมใจกันทำหน้าที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญ ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าตามวันเวลาที่ทางการกำหนด แต่จากความผิดพลาดของการทำงานอย่างไม่มีความรับผิดชอบของหน่วยงานและทางการไทย บัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ได้มาถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งตามเวลาที่กำหนด เป็นผลให้คะแนนที่ใช้สิทธิ์ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมานับรวมกับบัตรเลือกตั้งอื่นๆ ทำให้เสียสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญอย่างไม่ควรเกิดขึ้น

 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาธรรมาภิบาลในภาครัฐที่เป็นปัญหาหนัก คือการทำหน้าที่ของภาคทางการอย่างขาดความรับผิดชอบ ไม่โปร่งใส ขาดประสิทธิภาพ และตรวจสอบไม่ได้ เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องแก้ไขปฏิรูปเพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ก็หวังว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะทำผิดให้เป็นถูกเพื่อรักษาและปกป้องสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

อาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับความห่วงใยของตลาดการเงินต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง ความห่วงใยนี้มาจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคม ที่สะท้อนการอ่อนตัวของการผลิตและภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรป เช่น ตัวเลขภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐ ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเยอรมันลดลงจากระดับ 52.8 เดือนกุมภาพันธ์ เป็น 51.5 เดือนมีนาคม ดึงให้ตัวเลขการผลิตรวมของกลุ่มประเทศยุโรโซนลดลงมากที่สุดในรอบห้าปี จากระดับ 45.4 เดือนกุมภาพันธ์ เป็น 43.7 เดือนมีนาคม ล่าสุดตัวเลขจีดีพีสหรัฐไตรมาสสี่มีการปรับลดลงเหลือร้อยละ 2.2 ข้อมูลเหล่านี้ย้ำถึงสถานการณ์อ่อนตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นขาลง ที่ผมได้เขียนไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อสองอาทิตย์ก่อน

แต่ที่ตลาดการเงินโลกเริ่มกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็มาจากปรากฎการณ์ของสัญญาณสองสามอย่างที่มักชี้นำภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งหมายถึงภาวะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจเปลี่ยนจากขยายตัวเป็นหดตัว และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจติดลบติดต่อกันมากกว่าสองไตรมาส สัญญาณเหล่านี้ได้แก่

หนึ่ง ภาวะในตลาดพันธบัตรที่การลงทุนในพันธบัตรระยะยาวให้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งตรงข้ามกับภาวะปรกติที่การลงทุนระยะยาว เช่น การฝากเงินระยะยาวควรให้ผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากหรือการลงทุนระยะสั้น ภาวะกลับทางนี้เกิดจากการที่นักลงทุนขาดความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจระยะสั้น จึงหันไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว ราคาพันธบัตรระยะยาวจึงปรับสูงขึ้น กดดันให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวลดลง และขณะนี้ลดลงมากจนต่ำกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น ล่าสุด ผลตอบแทนในการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐสิบปีให้ผลตอบแทนร้อยละ 2.389 เทียบกับร้อยละ 2.410 ของการลงทุนในตั๋วเงินรัฐบาลสหรัฐสามเดือน ปรากฎการณ์ลักษณะนี้ถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าที่วิเคราะห์ว่าชี้นำการเกิดขึ้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอย พิจารณาจากข้อมูลตลาดช่วงหกสิบปีที่ผ่านมา รวมถึงสะท้อนภาวะที่นักลงทุนมองโลกในแง่ร้าย(pessimissm)

สอง ภาวะมองโลกในแง่ร้ายในภาคการผลิต สะท้อนจากตัวเลขการคาดการณ์กำไรในอนาคตที่มีการปรับลดลงมากขึ้นในภาคธุรกิจ ล่าสุด ผลสำรวจของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐ เปิดเผยว่า ร้อยละ 58 ของผู้บริหารธุรกิจในสหรัฐคาดว่าอัตรากำไร(profit-margin) ในธุรกิจของตนจะลดลงโดยเป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มของต้นทุนบวกกับเศรษฐกิจขาลงทำให้มีช่าวบริษัทธุรกิจเริ่มปรับประมาณการกำไรของบริษัทลง ล่าสุดก็เช่น ซัมซุง และจีอี

สาม การมองโลกในแง่ร้ายของผู้บริโภค หรือภาคครัวเรือนที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในสหรัฐและเยอรมนี ปรับลดลงในเดือนมีนาคม ของสหรัฐดัชนีปรับลดลงจากระดับ 131.4 เดือนกุมภาพันธ์ เป็น 124.1 เดือนมีนาคม จากที่ผู้บริโภคเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจระยะข้างหน้า เมื่อความเชื่อมั่นอ่อนแอ การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนก็จะอ่อนแอ ทำให้เศรษฐกิจยิ่งอ่อนแอ

สัญญาณเหล่านี้ ทำให้นักวิเคราะห์ปรับประมาณการเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ปีนี้ลงทั่วหน้า ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ลงเป็นร้อยละ 3.8 จากร้อยละ 4.0 และให้ปีหน้าขยายตัวร้อยละ 3.9 กองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับประมาณเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเป็นร้อยละ 3.5 และให้ขยายตัวร้อยละ 3.6 ปีหน้า ที่ต้องตระหนักในตัวเลขเหล่านี้ก็คือ ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจส่วนใหญ่ขณะนี้ยังเป็นบวก ชี้ว่านักวิเคราะห์และผู้ทำนโยบายไม่ได้มองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดในปีนี้และปีหน้า แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้จะลดลงจากที่ประมาณไว้เดิม เป็นผลจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกได้อ่อนตัวลง

ในทางเศรษฐศาสตร์ การอ่อนตัวของเศรษฐกิจเป็นเรื่องปรกติ เพราะเศรษฐกิจจะมีขาขั้นและขาลง ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายภายในประเทศ และการอ่อนตัวของเศรษฐกิจจะเปลี่ยนเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ต่อเมื่อมีปัจจัยพิเศษเข้ามากระทบ ทำให้การอ่อนตัวของเศรษฐกิจมีความรุนแรงจนกลายเป็นเศรษฐกิจถดถอย กรณีของไทย สองครั้งสุดท้ายที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็คือ ช่วงปี 1998 หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ปี 1997 และตอนเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ ปี 2011 ที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสี่ติดลบ ดึงให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2011 ลดลงต่ำเหลือเพียงร้อยละ 0.1

ดังนั้น ถ้าไม่มีปัจจัยพิเศษใดๆ เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยรวมถึงปัจจัยการเมืองในประเทศที่สร้างแรงกระทบทางลบมากๆ สิ่งที่นักลงทุนควรห่วงปีนี้ ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นการอ่อนตัวของเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงมากกว่าที่ประเมินกันขณะนี้ จากสามปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด

หนึ่ง คือ เศรษฐกิจโลกที่กำลังเป็นขาลง ที่จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา ความเสี่ยงคือเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากขึ้นจากนี้ไป ทั้งจากการชะลอตัวของประเทศหลักอย่างสหรัฐ จีน และยุโรป จากภาวะมองโลกในแง่ร้ายในตลาดการเงิน ภาคธุรกิจและผู้บริโภค และจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่มีอยู่ เช่น กรณีสงครามการค้าและBrexit ที่ยังไม่มีทางออก

สอง การอ่อนตัวของการใช้จ่ายในประเทศซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ประเทศไทยมีต่อเนื่อง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแสดงว่าเศรษฐกิจออมมากกว่าลงทุน และที่เศรษฐกิจไทยออมมาก ส่วนหนึ่งก็โยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คนที่รวยมีรายได้ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยไม่ใช้จ่ายและเป็นผู้ออม ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ออมเพราะมีรายได้ไม่พอใช้จ่าย นอกจากนี้ ก็มีปัญหาประชากรสูงวัย ที่ทำให้คนมีอายุใช้จ่ายน้อยลงและเก็บออมมากขึ้น แต่เงินออมที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจไม่ได้ถูกนำไปลงทุน ส่วนหนึ่งเพราะความไม่แน่อนในสถานการณ์การเมืองของประเทศทำให้นักลงทุนชะลอไม่ตัดสินใจลงทุน อีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความล่าช้าในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทำให้ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนสร้างฐานการผลิตใหม่ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานเก่า นอกจากนี้ก็มีปัญหาเดิมของการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ เหล่านี้ทำให้ประเทศไทยไม่มีการลงทุน ผลคือการใช้จ่ายในประเทศ หรือกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ ทั้งการบริโภคและการลงทุนไม่สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

สาม สองปัจจัยที่ได้พูดถึง ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนไหวง่ายต่อแรงกระทบจากเศรษฐกิจโลก เพราะไม่มีความเข้มแข็งของกำลังซื้อในประเทศเป็นตัวเสริมหรือเป็นกันชน ทางแก้ไขก็คือ ภาครัฐดำเนินนโยบายกระตุ้นไม่ให้เศรษฐกิจทุรดตัวลงง่ายเกินไป ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินนโยบายที่ตรงจุดและทันเวลา แต่ขณะนี้ไม่ชัดเจนว่า เราจะตั้งรัฐบาลได้เมื่อไร และรัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างทันการและมีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นอีกมิติหนึ่งของความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจไทยปีนี้

โดยสรุป เศรษฐกิจถดถอยยังไม่ใช่ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในปีนี้ แต่ความเสี่ยงหลักอยู่ที่เศรษฐกิจอาจขยายตัวต่ำมากปีนี้ ซึ่งจะทำให้สภาพความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่ยิ่งลำบากมากขึ้น เป็นประเด็นที่น่าห่วงกว่ามากขณะนี้