ช่องทางการเสียภาษีในยุคสมัย 4.0

ช่องทางการเสียภาษีในยุคสมัย 4.0

หน้าที่ของคนไทยในการเสียภาษีอากรให้กับรัฐถูกกำหนดไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ รวมถึงกฎหมายภาษีอากรระดับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)

และกฎหมายลำดับรองต่างๆ ที่บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการในการเสียภาษีอากรของผู้เสียภาษี ตลอดจนบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากรหรือภาษีชนิดอื่นๆ ที่มีการจัดเก็บในประเทศไทย ดังนั้น ผู้เสียภาษีและบุคคลอื่นที่กฎหมายกำหนดจึงมีหน้าที่ในการเสียภาษีอากรให้กับรัฐโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ในทางหลักการเมื่อกล่าวถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในเสียภาษีอากรให้กับรัฐแล้ว หลักเกณฑ์และวิธีการในการเสียภาษีอากร ประกอบด้วยเรื่องบุคคลที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี สิ่งที่เป็นมูลเหตุให้ต้องมีการเสียภาษี จำนวนอัตราภาษี วิธีการคำนวณภาษีและการชำระภาษี ความรับผิดทางภาษีและการระงับข้อพิพาททางภาษี ซึ่งภาษีอากรแต่ละชนิดได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวอย่างชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีอากรของประชาชนและประโยชน์ของรัฐเอง

สำหรับการชำระเงินภาษีอากรนั้น กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระเงินภาษีอากรให้กับรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวถือเป็นวิธีการในการนำเงินภาษีอากรจากประชาชนไปสู่รัฐนั่นเอง ปัจจุบันวิธีการชำระภาษีอากรสามารถจำแนกได้อย่างน้อย 2 ประการคือ 1) ผู้เสียภาษีชำระภาษีอากรให้กับรัฐด้วยตนเอง และ 2) การหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งให้กับรัฐ ซึ่งทั้งสองวิธีการดังกล่าวต่างประกอบด้วยเงื่อนไขและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

ในอดีตเมื่อถึงกำหนดเวลาชำระภาษีอากรตามกฎหมายแล้ว ผู้เสียภาษีจะต้องเดินทางไปพบเจ้าพนักงานภาษีอากรเพื่อคำนวณภาระภาษีของตนเองพร้อมทั้งชำระเงินภาษี โดยกฎหมายได้กำหนดสถานที่ที่ผู้เสียภาษีจะต้องชำระภาษีไว้เป็นการเฉพาะ ตัวอย่างเช่นที่ว่าการอำเภอซึ่งเป็นสถานที่ทำการของเจ้าพนักงานภาษีอากร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปพบเจ้าพนักงานภาษีอากรย่อมสร้างความยุ่งยากและความไม่สะดวกให้กับผู้เสียภาษีอากรเป็นอันมากทั้งจากภาระในการเดินทางและเวลาที่ต้องเสียไป

นอกจากนี้ ผู้เสียภาษียังต้องเผชิญกับภาระในการกรอกแบบฟอร์มแสดงรายการเสียภาษีที่มีจำนวนหลายแบบฟอร์ม ซึ่งเป็นเรื่องของรายละเอียดและเทคนิคทางภาษีอากรที่อาจทำให้ผู้เสียภาษีเกิดความไม่เข้าใจและสร้างความยุ่งยากในการเสียภาษีอากรอีกด้วย ดังนั้น ผู้เสียภาษีหลายคนจึงประสบกับสถานการณ์ที่ต้องเดินทางไปพบเจ้าพนักงานภาษีอากรเพียงเพื่อชำระตัวเงินภาษีเป็นหลักตามแต่ที่เจ้าพนักงานจะกำหนดให้ต้องชำระตามที่กฎหมายกำหนด

หลักการความสะดวกในการเสียภาษีอันเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการจัดเก็บภาษีอากรจึงถูกนำมาปรับใช้อย่างจริงจัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผู้เสียภาษีได้รับความสะดวกในการเสียภาษีอากรมากยิ่งขึ้น ด้วยการพยายามปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเสียภาษี ตลอดจนรายละเอียดของแบบฟอร์มแสดงรายการภาษีให้มีลักษณะที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ความสะดวกในการเสียภาษีดังกล่าวนี้สามารถเห็นตัวอย่างได้จากการขยายช่องทางชำระภาษีผ่านระบบอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน

แต่เดิมผู้เสียภาษีจะต้องเดินทางไปพบเจ้าพนักงานภาษีอากรเพื่อชำระภาษีให้กับรัฐ ณ สถานที่ทำการของเจ้าพนักงาน เมื่อถึงยุคสมัยที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ การเดินทางไปพบเจ้าพนักงานภาษีอากรเพื่อชำระภาษีจึงกลายเป็นวิธีการที่ไม่ทันสมัยนิยม และไม่สามารถสร้างความสะดวกในการเสียภาษีให้กับผู้เสียภาษีได้เท่าที่ควร ดังนั้น การชำระภาษีอากรผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความสะดวกของผู้เสียภาษี อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาและปรับปรุงระบบการชำระภาษีของเจ้าพนักงานภาษีอากรอีกด้วย

กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเห็นได้ว่า กฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีและชำระภาษีอากรผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพากรได้ โดยผู้เสียภาษีสามารถดำเนินการด้วยตนเองไม่ว่าเวลาใดและสถานใด แต่ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ วิธีการเสียภาษีดังกล่าวนี้ยังมีการนำไปปรับใช้กับภาษีชนิดอื่นด้วยเพียงแต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และวิธีการของภาษีชนิดนั้น ๆ

การยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีและชำระภาษีอากรผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจึงเป็นตัวอย่างของการพยายามพัฒนารูปแบบและวิธีการเสียภาษีให้สอดคล้องกับพลวัตของสังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความสะดวกของผู้เสียภาษีสำหรับช่องทางการเสียภาษีดังกล่าวอาจสร้างอุปสรรคในการเสียภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีบางกลุ่มได้ เนื่องจากความไม่พร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ การขาดแคลนเงินทุนหรือองค์ความรู้ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้

ดังนั้น เราจึงเห็นความพยายามของหน่วยงานจัดเก็บภาษีในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียภาษีได้รับความรู้และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตนให้ถูกต้องสอดคล้องกับช่องทางการชำระภาษีรูปแบบใหม่ ในขณะเดียวกันผู้เสียภาษีก็มีความพยายามด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อทำให้ตนเองเข้าถึงช่องทางการเสียภาษีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อีกทางหนึ่งด้วย ผู้เขียนเชื่อว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีอากรของรัฐ ซึ่งจะทำให้ช่องทางหรือวิธีการเสียภาษีในยุคสมัย 4.0 กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการเสียภาษีให้กับผู้เสียภาษี และสร้างความสะดวกในการจัดเก็บภาษีให้กับหน่วยงานจัดเก็บภาษีอีกด้วย. 

 โดย... ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์