ห้าประเด็นเข้าใจผิดที่มักได้ยินบ่อยๆ

ห้าประเด็นเข้าใจผิดที่มักได้ยินบ่อยๆ

พอดีเมื่อสุดสัปดาห์มีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์จัดให้กับพนักงานธนาคารและบริษัทในเครือ

เพื่อให้สามารถทำงานตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น เลยขอลองเปลี่ยนไม่เขียน “แนวโน้มตลาด” ซักเดือนนะครับ โดยเดือนนี้ขอนำประโยคที่เรามักได้ยินในห้องค้าบ่อยๆ  มาดูกันว่ามีประเด็นอะไรน่าสนใจบ้าง

บทวิเคราะห์แนะนำซื้อ ให้ซื้อเลย” ประมาณด้วยตาเปล่าคงบอกได้ว่า “ซื้อไม่ไหวเพราะตังค์ไม่พอ” เพราะกว่า 75% ของบทวิเคราะห์จะแนะนำซื้อ อีกราว 15% แนะนำถือ ที่เหลือไม่ถึง 10% แนะนำขาย ถ้าเอาตามนี้ผมว่าไปซื้อ SET Index fund เลยจะง่ายกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดนักวิเคราะห์ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของเศรษฐกิจ เช่น ทุกรอบ 10 ปีจะมีวิกฤติเศรษฐกิจ 1-2 ครั้ง ปีที่หุ้นตกมี 2-3 ปี ที่เหลือ 7-8 ปีหุ้นขึ้น ดังนั้นการทายว่าหุ้นขึ้นมีโอกาสถูกมากกว่า ส่วนบริษัทเองก็มักตั้งเป้าสดใส (ขืนตั้งเป้าหดกิจการอาจได้หางานใหม่)  ดังนั้นในฐานะนักลงทุนเวลาอ่านจึงไม่ควรให้น้ำหนักมากนักกับคำแนะนำซื้อและราคาเป้าหมาย แต่ให้ใส่ใจสมมติฐานว่าการเติบโตมาจากอะไร จะทำได้จริงหรือไม่ ผู้บริหารพูดแล้วเคยทำได้มั้ย มี competitive advantage ที่จะขยาย market share ได้จริงหรือไม่ ฯลฯ

มูลค่าตามราคาตลาด (market capitalization) สูงกว่า GDP แล้วน่ากลัวมั้ย” อันนี้ผิดตั้งแต่ถามเลยครับ ราคาตลาดของหุ้นควรสะท้อนรายได้ของบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ใช่GDP ซึ่งเป็นตัวแทนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ยิ่งตลาดหุ้นไทยยิ่งไม่ควรเทียบ GDP เพราะเรามีหมวดพลังงานที่ใหญ่ซึ่งสะท้อนราคาน้ำมัน (ไม่ใช่ GDP)  นอกจากนี้ Market cap. ยังอาจแสดงตัวเลขที่สูงจากการนับซ้ำ (double count) เช่น การนำมูลค่าตลาดของ PTT + PTTEP + TOP + PTTGC + IRPC มารวมกันอาจดูใหญ่เกินจริงไปมาก เพราะมูลค่าตลาด PTT นั้นนับรวมมูลค่าบริษัทลูกเหล่านี้ไว้แล้วรอบนึง (ถือหุ้น 48-65%) ดังนั้น นักลงทุนกลับไปใช้ PE ratio, PB ratio ในการมองภาพรวมน่าจะเพียงพอ แค่ต้องรู้ข้อจำกัด เช่น PE ratio ต้องดูคู่กับการเติบโต  ส่วน PB ต้องดูคู่กับ ROE เป็นต้น

ดอกเบี้ยขึ้น ทำให้เงินหนีออกจากตลาดหุ้นไปตลาดตราสารหนี้หรือเงินฝาก” อันนี้ก็ผิดครับ  เพราะการตัดเงินจากบัญชีผู้ซื้อไปเข้าบัญชีผู้ขายนั้น ไม่ทำให้เม็ดเงินไม่หายไปไหน เหมือนกรณีที่มีอ้างว่าซื้อของ on-line แล้วเงินหายไปจากระบบก็ไม่จริง (เงินออกจากผู้ซื้อไปเข้าบัญชีผู้ขาย) ถึงสั่งซื้อบริการ Netflix จากสหรัฐฯ เงินบาทก็ไม่หายไปจากระบบครับ เพราะคนขายเค้ารับเป็นดอลลาร์ ดอลลาร์จึงหายไปจากประเทศครับ บาทไม่หาย (เบื้องหลังอาจซับซ้อนกว่านี้ เพราะมีเรื่องการแลกเปลี่ยน การแทรกแซงค่าเงิน และการปรับสภาพคล่องของ ธปท. ซึ่งขอไม่ลงรายละเอียด) สรุปคือเงินไม่ได้หนีไปไหน  ดอกเบี้ยขึ้นทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้นทำให้คนซื้อต้องการผลตอบแทนการลงทุนมากขึ้น เลยรอซื้อหุ้นที่ราคาต่ำลง เมื่อคนซื้อเน้นตั้งรับ เคาะขวาน้อยลง ราคาหุ้นก็ขึ้นได้ยากขึ้น เว้นแต่เศรษฐกิจดีมากจริงๆ

ตลาดหุ้นขึ้นได้ยากเพราะเครื่องยนต์ติดไม่ครบทุกตัว มีแต่รายย่อยและกองทุนซื้อ ขณะที่ต่างชาติขาย” อันนี้ก็ผิดครับ เอาสั้นๆ เลยคือเครื่องยนต์อะไรเนี่ย มันติดพร้อมกันสามเครื่องไม่ได้อยู่แล้วครับ จะหวังให้นักลงทุนสามกลุ่มนี้คือ รายย่อย กองทุน และต่างชาติ (ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในตลาด) ซื้อพร้อมกันหมดมันเป็นไม่ได้ครับ มันต้องมีคนขายเสมอ  สรุปอย่าไปใส่ใจเรื่องนี้ครับ ที่น่าสนใจกว่าคือการเปลี่ยนผู้ขับเคลื่อนตลาดส่งผลให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อก่อนเราให้ความสำคัญต่างชาติ เพราะวอลุ่มใหญ่ แต่หลังๆ สถาบันในประเทศมีบทบาทสูงขึ้นมาก หลังจากเราสะสม LTF RMF มาเป็นสิบปี ข้อดีคือ ตราบใดที่คนไทยยังออมเก่ง (ดูจาก Current Account Surplus +5-8% GDP) เม็ดเงินจากการออมก็จะยังคงไหลเข้ากองทุนช่วยให้มีแรงซื้อใหม่ๆ เข้ามาในตลาด เป็นผลดีในระยะยาวครับ

ใกล้สิ้นไตรมาสให้ซื้อหุ้นขนาดใหญ่เพราะจะมี window dressing” ซึ่งน่าจะพยายามสื่อว่าจะมีกองทุนเข้าซื้อหุ้นขนาดใหญ่จำนวนมากในช่วงปลายไตรมาส เพื่อหวังดันราคาให้ผลประกอบการกองทุนดีขึ้นตอนส่งรายงาน  แต่... ผมว่าไม่มีหรอกครับ ถึงมีก็น้อยมาก ผู้จัดการกองทุนหุ้นนั้นตามปกติถือเงินสดเยอะๆ ไม่ได้ ดังนั้นจะเอาเงินสดที่ไหนมาซื้อทุกสิ้นไตรมาส และต่อให้ทำจริง (ซึ่งยืนยันว่าไม่มีใครเค้าทำกัน) เค้าก็ไม่ซื้อตัวใหญ่หรอกครับ เพราะใช้เงินเยอะและทุกกองทุนได้ประโยชน์ ถ้าอยากแต่งตัวเลขให้กองทุนเราเด่นจริงๆ ต้องซื้อตัวเล็กๆกลางๆ  ที่ไม่มีใครมีนอกจากเรา (อันนี้ก็ไม่มีใครเค้าทำกัน เพราะการซื้อหุ้นเล็กแบบดันราคา ถึงเวลาจะขายยากครับ)