สานต่อและสืบทอดธุรกิจ

สานต่อและสืบทอดธุรกิจ

การยึดมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ

กว่าจะก่อร่างสร้างตัว เริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง แล้วค่อยๆ ขยายตัวจนเติบใหญ่ ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนก็ล้วนหวังธุรกิจที่ตัวเองสร้างมากับมือนั้นอยู่ต่อเนื่องสืบไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน เป็นรากฐานในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและวงศ์ตระกูลต่อไปได้นับสิบนับร้อยปี

แต่จากสถิติตัวเลขเรากลับเห็นธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้เกือบครึ่งล้มหายตายจากไปภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3-5 ปีเท่านั้น และหากมองระยะยาวไปถึง 20 ปีก็จะเห็นบริษัทที่อยู่รอดมาได้น้อยลงไปเรื่อยๆ องค์กรธุรกิจของไทยที่มีอายุเกินร้อยปีจึงมีจำนวนน้อยมาก

การสืบทอดความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างรุนแรงในทุกวันนี้ ลองคิดถึงธุรกิจในยุคบุกเบิกไม่ว่าจะเป็นรุ่นปู่หรือรุ่นพ่อในยุคนั้นการจับธุรกิจสำคัญเพียง 1-2 ด้านแล้วทำให้ดีที่สุดก็เพียงพอที่จะสร้างธุรกิจให้มั่นคงต่อไปได้ทั้งชีวิต

แต่ในวันนี้เราจะเห็นชั่วชีวิตหนึ่งอาจสร้างความสำเร็จอย่างรุ่งโรจน์และร่วงหล่นลงมาเพราะสถานการณ์เปลี่ยน ก่อนจะจับธุรกิจใหม่แล้วรุ่งเรืองอีกครั้งเป็นวัฏจักร จนช่วงชีวิตหนึ่งเราอาจอยู่ในกระแสขึ้นและลงแบบนี้ได้ไม่น้อยกว่า 3 รอบ 

การยึดมั่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวตลอดไปจึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับการทำธุรกิจในทุกวันนี้ไม่ต้องคิดไกลไปถึงการเป็นองค์กรธุรกิจอายุเกิน 100 ปีที่ดูจะเป็นไปได้ยากเหลือเกิน 

ยิ่งดูหลายๆ ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ที่แม้จะดูมั่นคงและมีความเป็นมายาวนานนับสิบปี แต่เราจะเห็นผู้กุมบังเหียนองค์กรเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ 60-70 ปีขึ้นไปทั้งนั้น หลายองค์กรกำลังจะส่งต่ออำนาจการบริหารจากผู้ก่อตั้งซึ่งนับเป็นรุ่นแรกของธุรกิจสู่รุ่นที่สองซึ่งมักจะเป็นลูก รวมไปถึงรุ่นที่สามซึ่งเป็นรุ่นหลาน เพราะธุรกิจในบ้านเราส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานมาจากธุรกิจครอบครัวทั้งนั้นซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

แต่การที่คนรุ่นก่อนยังไม่วางมือให้กับคนรุ่นใหม่สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายๆ ประการในเรื่องการวางแผน สืบทอดอำนาจในการบริหารที่ไม่ชัดเจน ส่งผลกระทบให้ธุรกิจขาดความต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้มีผลเฉพาะเพียงธุรกิจในครอบครัวเท่านั้น เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจครอบครัวเล็กๆ แต่อาจเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มียอดขายมหาศาลจนส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ปัญหาใหญ่ที่เราจะพบในการสืบทอดอำนาจการบริหารในองค์กรก็คือ “ช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่น” นั่นคือคนรุ่นเก่าไม่อยากพูด ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ไม่กล้าพูด ส่งผลให้การสื่อสารขาดตอนระหว่างคนสองรุ่น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพูดคุยกันไม่ชัดเจนโอกาสที่จะวางอนาคตร่วมกันก็เป็นไปได้ยากขึ้น

ประเด็นสำคัญที่คนรุ่นก่อนมักจะเก็บงำไว้ก็คือจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของวงศ์ตระกูลเพราะนี่คือธุรกิจที่คนรุ่นเขาก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา เมื่อขยายใหญ่ก็มีการจัดสรรปันส่วนให้กับเครือญาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว รวมไปถึงคนนอกที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่เช่นลูกเขย ลูกสะใภ้

ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะมองไปที่การบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ซึ่งมักจะส่งผลกระทบต่อการจัดสรรผลประโยชน์แบบเดิมที่คนรุ่นพ่อหรือรุ่นปู่วางเอาไว้ หลายองค์กรจึงเกิดศึกสายเลือดเป็นข่าวคราวให้เราได้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในวงศ์ตระกูล

หันไปมองธุรกิจครอบครัวในหลายๆ ประเทศเรากลับพบว่าเขาผ่านรอยต่อเช่นนั้นมาได้ จนกลายเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งมานานบางแห่งก็ 200 ปี บางแห่งก็เกิน 300 ปี สืบทอดธุรกิจได้สำเร็จและคงความยิ่งใหญ่ได้จนถึงปัจจุบัน

ซึ่งเราจะพบธุรกิจแบบนี้ได้มากในญี่ปุ่น ซึ่งหลายๆ บริษัทคนไทยก็รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ผมมีตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 300 ปีและไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจของคนเพียงครอบครัวเดียว แต่ครอบคลุมถึง 8 ครอบครัวซึ่งเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร ต้องติดตามต่อในฉบับหน้าครับ