สิทธิสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองเชียงใหม่

สิทธิสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองเชียงใหม่

ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยในเขตเมืองเชียงใหม่มีทั้งที่มีสัญชาติไทยมีปัญหาสถานะบุคคล นานมาแล้วที่ภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวเชียงใหม่

โดยเฉพาะยามค่ำคืนจะพบเห็นคนจากบนดอย คนชาติพันธุ์สวมชุดประจำเผ่าเดินขายของที่ระลึก ขายดอกไม้ตามถนนหนทางในเมือง ตามจุดท่องเที่ยว ที่ส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก ภาพจำเหล่านี้ยังไม่จางหายไปแม้ว่าจะไม่โดดเด่นเหมือนเดิม จากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ความเป็นเมือง และวิถีชีวิตของคนเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือพวกเขาไม่จำเป็นมากนักที่ต้องสวมชุดประจำเผ่า พวกเขาอาศัยและทำงานปะปนกับคนท้องถิ่นในเมือง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต

สาเหตุสำคัญของการย้ายถิ่นเข้าเมือง มาจากปัญหาหนี้สิน ที่ดินทำกิน และการศึกษา รวมถึงปัญหาการแบกรับภาระการเงินในการศึกษาของบุตรหลาน โดยจะพบว่าการอพยพเข้ามาในครั้งแรก มักเอาศัยความช่วยเหลือจากเครือข่ายศาสนา ตามโบสถ์คริสตจักรในเมืองเชียงใหม่ ที่มีกลไกให้ความช่วยเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีสถานะบุคคลเป็นคนไทย ซึ่งมักมีเครือข่ายและครอบครัวเครือญาติที่ได้อพยพมาอยู่ก่อนแล้ว

ปัญหาสุขภาพของกลุ่มที่อพยพเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่มักเจ็บป่วยด้วยโรคตามฤดูกาลทั่วไป เช่น ไข้หวัด ไข้เลือดออก ในขณะที่ผู้ป่วยเรื้อรังในกลุ่มนี้มักจะเป็นเด็กและผู้สูงอายุ ที่ติดตามมาอาศัยอยู่ในระหว่างที่ครอบครัวทำงาน เป็นอาการติดเชื้อที่เกิดขึ้นตามในเขตชายแดน กลายมาเป็นผู้ป่วยเรื้อรังและต้องมาอาศัยพึ่งพิงครอบครัวที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองในการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งคนเหล่านี้เรียกว่าเป็นประชากรแฝงในเขตเมือง

ในด้านสิทธิสาธารณสุข พบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามากรณีเป็นผู้ที่มีบัตรประชาชนไทยมักไม่มีปัญหา ในขณะที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ปัจจุบันในด้านสิทธิสาธารณสุข มีกองทุนประกันสุขภาพให้การคุ้มครองคนกลุ่มนี้ (ตามมติคณะรัฐมนตรี 23 มี.ค.2553 การให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ มักไม่ทราบว่าตนเองสามารถย้ายสิทธิได้หรือไม่ และเมื่อมาอาศัยในเขตเมืองจะมีหน่วยบริการไหนให้การรองรับในสิทธิการรักษา นับว่าพวกเขาเข้าไม่ถึงสิทธิ จากความไม่สะดวกและไม่รู้ข้อมูลข่าวสาร

ในขณะเดียวกัน เมื่อมองถึงกลุ่มผู้รับบริการสาธารณสุขในเขตเมืองเชียงใหม่ กลับพบว่า มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขไม่ต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์มากนัก เพราะคนในเมืองเชียงใหม่ก็ขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการรับรู้ข้อมูลสถานพยาบาลในเขตเมือง เนื่องจากเขตเมืองมีการแบ่งพื้นที่กำหนดเขตการให้บริการของสถานพยาบาล ซึ่งส่วนมากเป็นโรงพยาบาลเอกชน ปัญหาเรื่องการย้ายสิทธิเพื่อมาใช้บริการในสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือหน่วยบริการที่สะดวกในการรักษาพยาบาล จึงเป็นปัญหาร่วมกันของคนในเขตเมือง ทั้งคนเชียงใหม่และชาติพันธุ์ที่เป็นประชากรแฝงในเขตเมืองเชียงใหม่ 

ด้วยเหตุนี้ การประชาสัมพันธ์ การสร้างการรับรู้รับ ข้อมูลสถานพยาบาลที่ให้การบริการตามสิทธิบัตรทอง และสิทธิกองทุนประกันสุขภาพบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ จึงเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มคนในเขตเมืองสามารถเข้าถึงสิทธิสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลสำคัญว่า กลุ่มชาติพันธุ์ หรือประชากรแฝงเหล่านี้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิในด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคด้วย กล่าวคือ พวกเขาที่อาศัยในเขตเมืองมักจะอาศัยตามหอพัก บ้านเช่า เวลาส่วนใหญ่คือ การใช้เวลาของคนกลุ่มนี้ไปกับการทำงานและขาดการเชื่อมโยงกับชุมชน ซึ่งเป็นที่พักอาศัย รวมถึงผู้ติดตามที่เป็นคนสูงอายุ มักจะมีอุปสรรด้านภาษา ในส่วนของเด็กที่อยู่ตามโรงเรียนน่าจะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงข้อมูลความรู้เรื่องสุขภาพมากกว่าและได้รับการส่งเสริมและป้องกันโรค รวมถึงการตรวจคัดกรองและการรับวัคซีน

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้ประชากรวัยแรงงานและผู้ติดตามที่ไม่มีโอกาสออกนอกที่พักอาศัยเข้าไม่ถึงสิทธิในด้านการส่งเสริมและป้องกันโรค ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับคนไทยที่อาศัยในเขตเมืองแล้ว การส่งเสริมและป้องกันโรคก็ยังมีคนในเมืองจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงสิทธิและข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะคนจนเมืองและคนไร้บ้านในเขตเมืองเชียงใหม่ ด้วยขาดการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนข้อมูลข่าวสารต่างๆ ด้านสาธารณสุข ไม่เข้าถึงกลุ่มคนที่แอบซ่อนตามมุมเมือง

ปัญหาใหญ่ในด้านสิทธิสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์ คือ กลุ่มคนที่เรียกว่า บุคคลตกสำรวจ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติหรือผู้ที่อยู่ในกระบวนการเคลื่อนย้ายเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และจำนวนไม่น้อยเป็นผู้สูงอายุ หากเกิดการเจ็บป่วยจะไม่ได้รับสิทธิใดๆ ในด้านสาธารณสุขแม้แต่การขอซื้อบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข

ข้อเสนอสำคัญต่อการเยียวยาและแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิสาธารณสุขของประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงคนในเขตเมือง คือ การกระจายหน่วยบริการอย่างทั่วถึง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมแก่ผู้รับบริการทุกชาติพันธุ์ โดยเฉพาะงานส่งเสริมป้องกันโรค หน่วยบริการอย่างโรงพยาบาลประจำจังหวัด ควรขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ เช่น ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีบทบาททั้งในด้านการย้ายสิทธิ และการส่งเสริมป้องกันโรค มีคลินิกบริการโรคสำคัญฯ เบาหวาน ความดัน วัคซีน ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง

โดย... 

รัชนี ประดับ

โครงการศึกษาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง