แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน (จบ)

แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน (จบ)

การขจัดความยากจนให้หมด 100% คงไม่สามารถทำได้ เพราะตัวเลขคนจนคล้าย ๆ กับระบบน้ำไหลเวียน คือ เมื่อมีคนพ้นจนไหลออกไป ก็มีคนจนหน้าใหม่ไหลเข้ามา

หรือคนจนหน้าเดิมไหลย้อนกลับมาจนใหม่ วนเวียนไปเรื่อย ๆ แต่การแก้ปัญหาความยากจนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถทำได้ ส่วนตัวผมมองว่าต้องทำ “5 ให้ ครับ

1.เก็บข้อมูลให้ลึกเป็นรายคน: โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐคือ “คำตอบที่ใช่ที่สุด ณ ขณะนี้” เพราะช่วยให้รัฐบาลเห็นเป้าแจ่มชัดขึ้นเป็นรายคนในแต่ละหมู่บ้าน และมีการตรวจสอบข้อมูลอายุ สัญชาติ รายได้ เงินฝาก ที่ดิน และบ้านเป็นรายบุคคล จาก 26 หน่วยงาน ในจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านเกณฑ์ 14.5 ล้านคน เป็นคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนประมาณ 10.8 ล้านคน อีก 3.7 ล้านคน เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ยังมีความเสี่ยงที่จะจนอยู่ข้อดีของข้อมูลชุดนี้ คือ ทำให้รัฐบาลทราบว่า 14.5 ล้านคนนี้เป็นใครบ้าง ใครอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ใครอยู่สูงกว่าเส้นความยากจน สิ่งที่ควรทำต่อและเพิ่มเก็บข้อมูลของสมาชิกในครอบครัวมาด้วย และเพิ่มเกณฑ์ให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งต้องมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพิ่มขึ้น

2.เชื่อมข้อมูลให้มีพลังมากขึ้นในการทำนโยบาย :สิ่งที่กระทรวงการคลังพยายามต่อยอดคือ การเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น เช่น ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมในชุมชน (กชช.2ค.) เป็นต้น ทำให้เห็นปัญหาด้านต่าง ๆ ชัดมากขึ้นในแต่ละกลุ่มคน เช่น จากคนจน 10.8 ล้านคน บ้านใครมีเด็กขาดนม มีคนพิการ มีคนขาดเงินออม ชุมชนใดขาดถนน ไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร น้ำสะอาด การศึกษาภาคบังคับ เข้าไม่ถึงสาธารณสุข เป็นต้นดังนั้น เมื่อเราเข้าถึงข้อมูล เข้าใจปัญหา การแก้ปัญหาก็จะสำเร็จมากขึ้น และสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้ข้อมูลนี้ร่วมกัน จะได้เป็นฐานเดียวกัน

3.ทำระบบให้สามารถประเมินผลได้ :เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเป๊ะ ๆ ต้องทำคล้าย ๆ กับห้องทดลองวิทยาศาสตร์คือ ต้องเป็นระบบปิดแบบปีต่อปี เพื่อให้เช็คได้ว่าใครบ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น ใครบ้างที่มีรายได้ลดลง และแต่ละคนขาดกี่บาทเขาจึงจะพ้นเส้นความยากจน ถ้าไม่ทำเป็นระบบปิดจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เช่น เกิดคำถามว่าทำไมคนจนเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงคือคนจนในปีที่แล้วลดลง แต่เป็นเพราะมีคนใหม่โผล่เข้ามาฉะนั้น ผมจึงลองออกแบบระบบโดยเอา 14.5 ล้านคน มาวางในช่วงรายได้แต่ละชั้น เพื่อให้ทราบจำนวนตั้งต้นของกลุ่มเป้าหมายก่อนที่เราจะดำเนินมาตรการ (ตามภาพข้างล่าง) ดังนั้น ทุกสิ้นปีรัฐบาลสามารถทราบว่าคนที่พ้นจนแล้ว ชื่ออะไร บ้านอยู่ไหน ทำอาชีพอะไร

แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน (จบ)

4.ให้สวัสดิการตรงตัวไม่ต้องผ่านใคร :จะต้องมีการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มเบี้ยต่าง ๆ ซึ่งผมเรียกว่า Protective welfare และการฝึกอาชีพและอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ ผมจะเรียกว่า Productive welfare โดยตัวแรก คือ “การให้สวัสดิการต่าง ๆ ที่เป็นตัวเงิน” ให้ทำผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น บรรเทาภาระค่าครองชีพเหมือนที่ทำอยู่แล้ว เบี้ยผู้พิการ เบี้ยเด็กแรกเกิด เบี้ยผู้สูงอายุ และอื่น ๆข้อดีคือ เงินเข้าบัตรพร้อมกันทุกคน ตรงเวลา ไม่มีการรั่วไหลไปไหน ส่วนตัวที่ 2 คือ “การฝึกอาชีพ” ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เขาพ้นความยากจน รัฐต้องจัดให้มีหลักสูตรการฝึกอาชีพในทุกจังหวัด มีหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดมาร่วม มีมาตรฐานเดียวกัน และเปิดตลอดทั้งปี ข้อดีคือ เขาสามารถมาฝึกอาชีพช่วงเดือนไหนก็ได้ ฝึกแล้วต้องมีงานทำ มีความต่อเนื่อง ไม่ขี้เกียจ รัฐก็ต้องช่วยสนับสนุน เช่น ให้สินเชื่อ เครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่ทำกิน สถานที่ค้าขาย

5.จัดสวัสดิการ/งบประมาณให้เหมาะสมกับกลุ่มคนและพื้นที่ :จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัด โครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น และอาชีพเดิมที่เขาทำอยู่ มีผลอย่างมากที่ทำให้เขาจนหรือด้อยโอกาส เช่น คนสูงอายุและคนพิการ หรือบ้านที่มีสมาชิกเป็นคนสูงอายุและคนพิการอยู่ด้วย มีโอกาสจนกว่าบ้านที่ไม่มี จังหวัดที่มีเสาหลักทางเศรษฐกิจคือเกษตรกรรม สัดส่วนคนจนจะมีมากกว่าจังหวัดอุตสาหกรรมหรือท่องเที่ยว เช่น จ.แม่ฮ่องสอน เทียบกับ จ.ภูเก็ต เป็นต้นดังนั้น การช่วยผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่อยู่คนเดียว หรืออยู่กับครอบครัวที่มีผู้เลี้ยงดู ควรมีความแตกต่างกัน การช่วยคนจนใน จ.แม่ฮ่องสอน หรือ จ.ภูเก็ต ควรมีความแตกต่างกัน ตลอดจนการจัดงบประมาณเพื่อลดความยากจนควรให้วงเงินกับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากกว่า สูงกว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนน้อยกว่า

กระบวนการทั้งหมดนี้เราเรียกว่า เทย์เลอร์เมด โพลิซีหรือนโยบายที่ออกแบบได้ แม้ดูจะยากในทางปฏิบัติ แต่ในความเห็นผม หากทำเป็นระบบแบบนี้ทุกปี ได้งบประมาณด้านนี้อย่างสม่ำเสมอและพอเพียง น่าจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนครับ ส่วนระบบอะไรที่ยังมีช่องโหว่ ก็ค่อย ๆ ปรับกันไปครับ ...

โดย... พงศ์นคร โภชากรณ์