ขอบฟ้าใหม่เศรษฐกิจโลกและประเทศไทย

ขอบฟ้าใหม่เศรษฐกิจโลกและประเทศไทย

วันนี้วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม เป็นวันที่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาคงจะเริ่มชัดเจนแล้ว หลังจากที่คนไทยทั่วประเทศได้พร้อมใจกัน

ไปลงคะแนนอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเลือกพรรคที่ประชาชนต้องการให้มาบริหารประเทศ ผมเองเมื่อวานอยู่ที่กรุงเทพไปเลือกตั้งแต่เช้า จากนั้นก็ต้องรีบเดินทางมาที่หัวหินเพื่อบรรยายให้กับหลักสูตรพัฒนากรรมการของสถาบันไอโอดี และวันนี้ช่วงบ่ายก็ต้องเดินทางกลับกรุงเทพเพื่อไปงานตอนเย็นที่นัดหมายไว้ ในใจก็นึกอยู่อย่างเดียวว่า จากนี้ไปทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศคงก้าวเข้าสู่ขอบฟ้าใหม่ ที่เป็นผลจากการตัดสินใจของคนไทยทั้งประเทศ ก็อยากให้นักการเมืองและเจ้าของอำนาจทุกฝ่ายเคารพในการตัดสินใจของประชาชน เพื่อให้ประเทศมีความเข้มแข็งในระบบที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้

สองอาทิตย์ก่อน ผมได้รับเชิญไปร่วมงานสัมมนาหัวข้อ “ขอบฟ้าใหม่เศรษฐกิจโลก หรือ New Horizons for the World Economy ที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นงานที่จัดร่วมกันโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ประเทศสิงคโปร์ กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ Le CERCLE DES Economists ซึ่งเป็นวงรวมกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของฝรั่งเศส เพื่อถกเถียงประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ต่างๆ และสถาบันนโยบายสาธารณะ ลี กวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ผมได้ร่วมเป็นวิทยากรในประเด็น การรวมตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคว่าจะเป็นทางออกให้กับปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีได้หรือไม่ งานสัมมนาน่าสนใจและประเทืองปัญญามาก ได้ข้อคิดต่างๆ มาเยอะและต้องยอมรับว่า นักวิชาการและนักการเมืองสิงคโปร์ก็ไปได้ไกลและดูดีในเวทีนักเศรษฐศาสตร์สากล

ประเด็นหลักของการสัมมนาคือเรื่อง โลกาภิวัฒน์(Globalization) และผลทางลบที่โลกาภิวัฒน์มีต่อเศรษฐกิจและความรู้สึกของประชาชน ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลกจนนำไปสู่การต่อต้านโลกาภิวัฒน์ขณะนี้ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จากที่การเติบโตของโลกทุนนิยมภายใต้กระบวนการโลกาภิวัฒน์ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงมากขึ้น มีคนจำนวนน้อยที่รวยขึ้นมากและได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ ขณะที่คนส่วนใหญ่รายได้และความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ในหลายประเทศความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกจากความไม่พอใจต่อผลของโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้น เช่น กรณี Brexit ที่อังกฤษ กลายเป็นปัญหาการเมืองที่นำไปสู่การเมืองแบบประชานิยม เช่น กรณีสหรัฐ และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย เช่นกรณีผู้ประท้วงเสื้อเหลืองในฝรั่งเศส ในบางประเทศ ความไม่พอใจเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางที่ถือเป็นเสาหลักของระบบการเมืองของประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เมื่อไรที่ชนชั้นกลางรู้สึกว่าความเป็นอยู่ของตนเองแย่ลงหรือไม่มีโอกาสที่จะดีขึ้น เมื่อนั้นก็จะเกิดเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการเมืองหรือระบบประชาธิปไตยของประเทศ

ในระดับสากล ความไม่พอใจต่อโลกาภิวัฒน์มักจะนำไปสู่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศแบบมองแต่ประโยชน์ของประเทศตัวเองฝ่ายเดียว เกิดการกีดกันทางการค้า กีดกันการย้ายแรงงานข้ามพรมแดน นำไปสู่สงครามการค้าซึ่งไม่ดีต่อเศรษฐกิจโลก และถ้าการเมืองแบบประชานิยมสามารถเอาชนะเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ได้ เราก็อาจจะจบลงด้วยความรุนแรง ด้วยการเกิดสงครามเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกรณีสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อร้อยปีก่อน นี่คือ ความเสี่ยงของสิ่งที่อาจเป็นไปได้

ความเห็นส่วนใหญ่ของผู้เข้าร่วมสัมมนาก็คือ โลกาภิวัฒน์เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก นำไปสู่การขยายตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างรายได้และการมีงานทำ แต่ความเหลือมล้ำที่เกิดจากการกระจายผลของโลกาภิวัฒน์ต่อส่วนต่างๆ ของสังคมที่ไม่ทั่วถึงนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและต้องแก้ไข เพื่อให้การเติบโตของระบบทุนนิยมภายใต้โลกาภิวัฒน์สามารถเดินต่อไปได้ ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญต่อการกระจายและการแบ่งปันขยายประโยชน์ของโลกาภิวัฒน์ให้ทั่วถึงมากขึ้นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งในบริบทนี้การรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น ประเทศในอาเซียนสามารถมีการค้าขายและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ก็เป็นวิธีหนึ่งของการบริหารจัดการผลของโลกาภิวัฒน์ให้สร้างประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง

สำหรับประเทศในเอเชียก็มีคำถามว่า ความไม่พอใจต่อโลกาภิวัฒน์เหล่านี้มีในเอเชียหรือไม่ และเอเชียควรบริหารจัดการประเด็นเหล่านี้อย่างไร ในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ ทั้งในแง่เงินทุนนำเข้า เทคโนโลยี การค้าและการลงทุน นำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้ ขณะที่ความยากจนลดลงและมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มสูงมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ทำให้มีความจำเป็นที่นโยบายเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศไทย ต้องให้ความสำคัญเรื่องความเหลื่อมล้ำมากขึ้นกว่าเดิม โดยประเทศต้องมีนโยบายที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ หรือแก้ความแตกต่างในการเติบโตของรายได้ของกลุ่มคนต่างๆอย่างเป็นกิจลักษณะ เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจสามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืนและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความแตกแยกของคนในสังคม

สิ่งหนึ่งที่พูดถึงกันมากในงานสัมมนา ว่าจะเป็นทางออกในเรื่องนี้ก็คือ การสร้างความเท่าเทียมในโอกาสของคนในสังคม ในการเข้าถึงบริการหรือโอกาสต่างๆ ที่จะสามารถสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น เช่น โอกาสทางการศึกษา การพัฒนาทักษะ(Skills) เพื่อประกอบอาชีพ โอกาสของการมีงานที่ดีทำ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และโอกาสในการได้รับการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน การมีโอกาสเหล่านี้จะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีรายได้น้อยมีความหวังในการสร้างอนาคตของตนเองให้ดีขึ้น เรื่องความหวังนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้ความไม่พอใจต่างๆ ที่คนในสังคมมีต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่บานปลายหรือแปลงไปเป็นความโกรธหรือความรุนแรง ในประเด็นนี้มีการตั้งข้อสังเกตุในที่ประชุมว่าในประเทศที่มีการประท้วงรุนแรงจนกลายเป็นประเด็นการเมือง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผู้มาประท้วงหมดความหวังว่าความเป็นอยู่ของพวกเขาจะดีขึ้นภายใต้นโยบายและระบบโลกาภิวัฒน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

กลับมามองบ้านเรา ความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มสูงขึ้นมากในประเทศเราจนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ความไม่สบายใจของคนในประเทศต่อความเป็นอยู่ที่ไม่ดีขึ้นก็มีมาก และประชาชนเหล่านี้ก็หวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เราจึงเห็นพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้งเหมือนจะแข่งกันว่าใครจะให้หรือจะแจกเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้มากกว่าเพื่อให้ได้คะแนนเสี่ยง แต่การแจกเงินไม่ใช่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่การสร้างความหวัง เปรียบได้กับการสอนให้คนตกปลา เราต้องไม่เน้นการให้ปลาเพื่อแก้ความหิว แต่ต้องทำให้คนหิวสามารถตกปลาได้เองเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ในวันข้างหน้า นี่คือการสร้างความหวัง รัฐบาลต้องสร้างความหวังให้กับประชาชนโดยนโยบายที่เน้นการกระจายที่สร้างโอกาสให้คนส่วนใหญ่สามารถพัฒนาชีวิตของตนเองให้ดีขึ้นและอยู่ได้ในระบบทุนนิยม นำไปสู่การเติบโตของรายได้ที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม

นี่คือสิ่งสำคัญที่ต้องทำในขอบฟ้าใหม่ของการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ เราต้องทำให้ถูกต้อง ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีความหวัง เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความหวัง เศรษฐกิจก็จะเข้มแข็ง การเมืองก็จะเข้มแข็ง