Social Enterprise ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก(จบ)

Social Enterprise ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก(จบ)

โครงการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลก ในพื้นที่ภาคการผลิต แผนงานนกกระเรียนพันธุ์ไทย

ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ได้กำหนดตัวชี้วัด คือ พื้นที่นาข้าวภายในรัศมี 1 กิโลเมตร (กม.) อย่างน้อย 2,500 ไร่ รอบอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ ต้องมีกระบวนการปลูกข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวนนกกระเรียนพันธ์ุไทยในธรรมชาติต้องมากกว่า 25 ตัว และอัตรารอดของนกกระเรียนที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในช่วงระยะเวลาดำเนินงานต้องมากกว่า 70 % โดยมีแผนการดำเนินงาน 3 ส่วน

คือ 1.การบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเป็นแหล่งอาศัยของนกกระเรียนพันธ์ุไทย 2.มีกลยุทธ์การจัดการด้านการเงิน ในระยะยาวเพื่อการพัฒนาถิ่นอาศัยของนกกระเรียนพันธ์ุไทย และ3.การมีส่วนร่วมของชุมชนโดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนแนวทาง ในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตสู่กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเป็นแหล่งอาศัยของนกกระเรียน การดำเนินงานที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของเยาวชนและชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย ลดความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่า เพื่อเพิ่มความอยู่รอดของนกกระเรียนพันธ์ุไทยในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก กรณีพบนกกระเรียนพันธ์ไทยไปทำรังในนาข้าว จะชดเชยความเสียหายในอัตรารังละ 3,000 บาท ซึ่งปี2561 มีการชดเชยไปแล้ว 3 รัง รวม 9,000 บาท

โครงการยังดำเนินงานโดยใช้ยุทธศาสตร์แบบกลไกตลาดเพื่อเป้าหมายทางสังคม และสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Triple Bottom Line โดยส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีรายได้ โดยส่งเสริมให้ชุมชนปลูกข้าวหอมมะลิปลอดสาร แล้วนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวภายใต้แบรนด์ ข้าวสารัช” และสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อจากชุมชนท้องถิ่น ขายให้กับหน่วยงานพันธมิตร โดยรับซื้อปีละไม่น้อยกว่า 30,000 กิโลกรัม และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ การสร้างแบรนด์ ให้ความรู้ด้านแผนธุรกิจ การตลาด สมัยใหม่ ปัจจุบันได้จัดตั้งชุมชนต้นแบบในการผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย 4 แห่ง

เรื่องที่สำคัญที่สุดในความอยู่รอดของโครงการ คือกลยุทธ์การจัดการด้านการเงินในระยะยาว โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 10 ล้านบาท จากบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์จำกัด(มหาชน) ในการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำและอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 90 %

เมื่อปลายเดือนที่แล้วได้พบกับคุณอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บมจ น้ำตาลบุรีรัมย์ บอกกับผมว่าโครงการนี้เป็นความภูมิใจของชาวบุรีรัมย์ และพร้อมจะให้การสนับสนุนเต็มที่ จะมีการเปิดศูนย์ฯอย่างเป็นทางการในเดือนก.ค.นี้ และได้รับแจ้งจาก UNDP ว่าจะมาร่วมพิธีเปิดด้วย

โครงการอยุรักษ์นกกระเรียนพันธ์ุไทย ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และชุมชนในท้องถิ่น เป็นต้นแบบของ  Social Enterprise (SE) ที่ผมอยากให้เกิดขึ้นมาก ๆ ต่อไปนักท่องเที่ยวจะแวะมาชม นกกระเรียนสัตว์ทีมีความรักมั่นคง เมื่อมีคู่แล้วจะไม่มีวันแยกกันชั่วชีวิต อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จะเป็นแหลงท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกครับ...