เวเนซุเอลา (หายนะของมหาเศรษฐี)

เวเนซุเอลา (หายนะของมหาเศรษฐี)

เราอาจเคยคิดสงสัยกันว่าในยุค Internet of Things ถ้าเราใช้โซเชียลมีเดียที่เคยใช้อยู่ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร?

โดยเมื่อวันพุธของสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ใช้งาน Facebook, Instagram, WhatsApp และ Gmail ในบางส่วนของโลกได้ประสบปัญหาการใช้งานในแอพลิเคชั่นเหล่านี้เกือบตลอดทั้งวัน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลใจว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่านี้ จะกระทบกับการดำรงชีวิตประจำวันมากเพียงใด?

ใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ยังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหลายคนแล้ว แต่ถ้าไฟฟ้าดับทั้งประเทศ น้ำประปาไม่ไหล โทรศัพท์มือถือชาร์จไม่ได้ อาหารในตู้เย็นที่บ้านและที่ร้านค้าเน่าเสีย อุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาลใช้ไม่ได้ เป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 1 สัปดาห์ เป็นสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมเมือง ที่ไม่ได้ห่างไกลความเจริญแต่อย่างใด

แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศเวเนซุเอลา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บ้านเมืองตกอยู่ในความมืดมิด ผู้ป่วยหนักและเด็กแรกเกิดเสียชีวิต เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงพยาบาล คิวรอตักน้ำยาวเหยียด ผู้คนอดอยากนับร้อยออกมาปล้นร้านค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ต สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับคนเวเนซุเอลาในวันนี้ ก็คือ นรกบนดินดีๆนี่เอง

เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบสำรองที่พิสูจน์แล้วมากเป็นอันดับ 1 ของโลก (มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองฯมากกว่าซาอุดีอาระเบีย และมากกว่าอิหร่านและอิรักรวมกัน) เป็น 1 ใน 17 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก เป็นประเทศที่ (เคย) มั่งคั่งมากที่สุด และประชากร (เคย) มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา แต่แล้วเพราะเหตุใด “ประชาชน” จึงต้องตกมาอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้?

เวเนซุเอลาค้นพบแหล่งน้ำมันดิบปริมาณมหาศาลเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2456 และให้สัมปทานบริษัทน้ำมันต่างชาติในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน อย่างไรก็ตามช่วงปี 2503 – 2513 รัฐบาลเริ่มมีแนวคิดที่จะโอนธุรกิจน้ำมันทั้งหมดของประเทศมาเป็นของรัฐ และทำสำเร็จเสร็จสิ้นในปี 2519 ซึ่งเป็นช่วงที่ปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้น จากการที่รัฐไม่สามารถจัดสรรรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่ ไปยังภาคการผลิต หรือการบริการอื่นๆที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้ โดยการส่งออกน้ำมันนั้นมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และเป็นแหล่งรายได้สูงถึง 60% ของรายได้รัฐ

การโอนธุรกิจมาเป็นของรัฐยังส่งผลให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด ปริมาณการผลิต รวมถึงผลิตภาพ (Productivity) ลดลง รายได้ไม่มากพอกับที่รัฐบาลใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลง รัฐบาลก่อหนี้สูง ค่าเงินอ่อนจนต้องประกาศลดค่าเงินหลายต่อหลายครั้ง และเมื่อประเทศไม่มีฐานการผลิตอื่น ก็ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่อง (แต่ก็ไม่สูงเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากรัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอย่างเข้มงวด จนทำให้สินค้าขาดตลาดมาโดยตลอด)

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยขาดวินัยทางการเงินการคลังหมักหมมยาวนานจากอดีต ส่งผลให้รัฐบาลในชุดต่อๆมาไม่มีเครื่องมือเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เมื่อรัฐบาลไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้อยู่ในสภาพที่ดีได้ พลเมืองมีรายได้ ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย สร้างแรงจูงใจให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในระดับต่างๆ

จากรากเหง้าของปัญหาทั้งหมด เมื่อรวมเข้ากับการคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ทั้งด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งทำให้บริษัทต่างชาติ เช่น บริษัทกู๊ดเยียร์ บริษัทคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ บริษัทเคลล็อก เป็นต้น ถอนทุนหรือหยุดการดำเนินกิจการ รวมมาถึงการคว่ำบาตรล่าสุดต่อบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา ยิ่งเป็นการตัดลมหายใจเฮือกท้ายๆของประเทศเข้าไปอีก

บทเรียนของประเทศเวเนซุเอลานี้ ไม่เพียงที่ผู้บริหารนโยบายของประเทศต่างๆสมควรจะจดจำใส่ใจเท่านั้น แต่ประชาชนอย่างพวกเราเอง ก็ควรจะรู้เท่าทันผู้บริหารนโยบาย และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ขาดวิสัยทัศน์มาบริหารประเทศ เพื่อไม่ให้วิกฤติการเมือง นำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติชีวิตของคนนับล้านๆในที่สุด