สองขั้ว สองวัฒนธรรม

สองขั้ว สองวัฒนธรรม

ดีเอ็นเอเป็นตัวกำหนดว่า ตัวตนของเราเป็นอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร ตั้งแต่ผิวไปจนถึงสังขารอื่นๆ ของเรา องค์กรแต่ละองค์กรแตกต่างกัน

แม้ว่าจะมีพันธกิจหน้าที่เหมือนกัน เพราะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมเป็นเสมือนดีเอ็นเอขององค์กร มีหุ่นยนต์ชั้นดี มีเอไอชั้นเลิศ แต่องค์กรหนึ่งใช้หุ่นยนต์ ใช้เอไอ มาต่อเชื่อมทำงานเป็นเรื่องเป็นราว ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณค่า อีกองค์กรหนึ่ง ใช้หุ่นยนต์ ใช้เอไอเอาไว้เป็นของโชว์ โอ้อวดสารพัดว่าของโชว์นั้นทำนั่นทำนี่ได้ แต่เป็นได้แค่คารม ของจริงไม่มี ความแตกต่างใน 2 องค์กรนี้เริ่มมาจากวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง มีเงินซื้อไฮเทคจึงไม่ได้หมายถึงคุณค่าที่จะได้มากขึ้น

บทความในวารสารธุรกิจจากฮาร์วาร์ด บอกว่าวัฒนธรรมการทำงาน ประกอบขึ้นจาก 2 มิติ คล้ายๆ กับที่เส้นกราฟมีแกนตั้งและแกนนอน 2 มิตินั้นได้แก่ การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการทำงานร่วมกัน ถ้าแกนนอนแทนการทำงานร่วมกัน แกนตั้งจะเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง มิติการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในปลายสุดของทิศทางหนึ่ง จะเป็นการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำทุกอย่างเพื่อต่อต้านไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่อีกปลายหนึ่งจะเป็นการยอมรับ และทำทุกอย่างเพื่อปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง ถ้ายังต้องใช้เวลาทำงานเป็นตัวบอกว่าใครทำงานดีไม่ดี เช้าต้องมา เย็นกลับตามเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นต์แฟ้มลงเวลาทำงาน หรือเป็นการสแกนใบหน้า เพื่อบอกว่าฉันมาทำงานแล้ว ก็เป็นแบบเดียวกัน คืออยู่ในทิศทางของการอนุรักษ์ของเก่า ไม่ยอมปรับตัวตามของใหม่ที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่แล้วก็ตาม 

ดังนั้น ถ้ามิติการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงมีค่อนข้างน้อย โอกาสที่จะได้คุณค่าอะไรใหม่ๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีไม่ค่อยมากนัก มีได้แน่ๆ แค่ใช้เทคโนโลยีใหม่ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คือวิ่งได้เร็วขึ้น แต่ยังวิ่งวนอยู่ในเส้นรอบวง ของวงกลมเดิม วิ่งเร็วแค่ไหนก็ยังวนอยู่ที่เดิม ของใหม่ไฮเทคทั้งปวง จึงมีไว้เพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ไปถึงการเพิ่มคุณค่า แปลว่าอย่าพูดถึงนวัตกรรมในองค์กรที่มีมิติวัฒนธรรมในด้านการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ที่สุดโต่งไปในทางอนุรักษ์นิยม อยากมีเงินมีทองเพิ่มขึ้นจากการสร้างสรรค์ของใหม่ ที่มีคุณค่าใหม่ ๆ ต้องดูกันก่อนว่าองค์กรนั้น มีมิติวัฒนธรรมด้านการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ตรงข้ามกับอนุรักษ์นิยมมากน้อยแค่ไหนเสียก่อน จะได้ไม่คาดหวังอะไรที่ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้จริง

อีกมิติหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงาน คือการทำงานร่วมกัน สุดปลายด้านหนึ่งคือข้ามาคนเดียว ทุกอย่างของจักรวาล มีข้าเป็นศูนย์กลางเสมอ มีหนึ่งโปเดียมกับหลายเก้าอี้ อีกสุดปลายหนึ่งคือจักรวาลมาจากเรา เราคือความสำเร็จ หนึ่งโต๊หลายเก้าอี้ หรือโต๊กลม ถ้าเป็นมิติที่เอียงไปทางหนึ่งโปเดียมหลายเก้าอี้ คือทุกอย่างมาจากฉันแล้ว จะดีหรือพัง มาจากฉันที่ยืนตรงโปเดียมนั้นทั้งสิ้น แต่ไม่ได้แปลว่ายืนที่โปเดียมกันเป็นแผง จะหมายถึงมิติวัฒนธรรมที่บ่งบอกว่า เราคือความสำเร็จ ยืนเป็นแผงแต่พูดอยู่คนเดียว ทำอยู่คนเดียว ไม่ต่างไปจากยืนพูดอยู่คนเดียว องค์กรที่มีมิติวัฒนธรรมแบบ ข้ามาคนเดียว อาจสร้างคุณค่าใหม่ๆ ที่แปลกแหวกแนวได้อย่างน่าอัศจรรย์ และมีให้พบเห็นอยู่เป็นประจำ แต่ต้องเป็น ข้ามาคนเดียว ที่อยู่คู่กับ มิติวัฒนธรรมที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ฉันคิดได้ ฉันสร้างสรรค์ได้ แต่เจอกับ ทุกอย่างต้องเหมือนเดิม ก็เป็นอันจบกัน นวัตกรรมมีไว้พูด โดยไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง ในทางตรงข้าม ถ้ามิติเป็นแบบ เราคือความสำเร็จ แต่เจอกับทุกอย่างต้องเหมือนเดิม ก็จะได้ยุคหินในสมัยเอไอ คือใช้ของใหม่ด้วยกันทั้งผอง เพื่อทำงานแบบเดิม ๆที่ผองเราคุ้นเคยกันอยู่ จะเห็นว่าไม่ง่ายนักที่องค์กรจะได้คุณค่าใหม่ ๆใดๆจากของใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ของใหม่แบบเดียวกันให้คุณค่ามหาศาลกับองค์กรหนึ่ง แต่เป็นแค่เครื่องประดับราคาแพงในอีกองค์กรหนึ่ง

ทาง 2 แพร่งของการเปลี่ยนแปลงถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะไปแพร่งไหน โดยมิติวัฒนธรรมขององค์กรนั้น