ธอมัส เพน นักปฏิวัติสากลนิยมคนแรก

ธอมัส เพน นักปฏิวัติสากลนิยมคนแรก

ชื่อบทความนี้ คือชื่อหนังสือเล่มใหม่ของผม จัดพิมพ์โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม ธอมัส เพน (1737-1809)

นักเขียน นักปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยชาวอังกฤษในยุคสองร้อยกว่าปีที่แล้ว) มีบทบาทสำคัญในการเขียนหนังสือปลุกระดมให้ชาวอาณานิคมอเมริกันทำสงครามกู้อิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษหรือการปฏิวัติอเมริกัน (1775-1783) หลังจากนั้นได้เดินทางไปเข้าร่วมสนับสนุนการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1799) รวมทั้งเขียนหนังสือ, เคลื่อนไหวผลักดันการปฏิวัติในอังกฤษและไอร์แลนด์ด้วย ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิวัติสากลนิยมคนแรก First International Revolutionary ของโลกสมัยใหม่

เพนเป็นเพื่อนกับวิลเลี่ยม เบลค, เชลลี่ และกอดวิน (กวีและนักเขียนหัวก้าวหน้าชาวอังกฤษ) เบนจามิน แฟรงคลิน, ธอมัส เจฟเฟอร์สัน, ยอร์ช วอชิงตัน (ผู้นำนักปฏิวัติอเมริกัน), คอนโดแซท, ลาฟาแยต, ดังตอง, แซงต์ ซีมอง และนโปเลียน โบนาปาตร (ผู้นำนักปฏิวัติฝรั่งเศส)

เพนมาจากคนชั้นล่างยากจน ได้เรียนหนังสือน้อย แต่อ่านและไปเข้าร่วมวงเสวนาทางการเมือง ประสบการณ์และการเป็นคนช่างคิด ทำให้เขาพัฒนาแนวแนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าล้ำยุค เช่น คัดค้านระบอบราชาธิปไตยและคริสตจักรแบบรวบอำนาจ, สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ บนหลักของเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คัดค้านระบอบทาส (ในอเมริกาและที่อื่นในยุคนั้น) สนับสนุนเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและภาษีอื่นๆ ในแนวก้าวหน้า (คนรวยเสียภาษีสูง) เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ เพื่อคนจน, เด็ก, คนสูงอายุ, ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ

เพนเขียนจุลสารเรื่อง Common Sense (สำนึกคนทั่วไป) พิมพ์เผยแพร่ในช่วงที่ชาวอาณานิคมอเมริกันยังลังเลว่าจะแค่เรียกร้องให้รัฐบาลราชาธิปไตยอังกฤษยอมผ่อนปรนเรื่องภาษีให้พวกเขาหรือจะทางครามปฏิวัติแยกประเทศเลย เพนยืนยันอย่างหนักแน่นว่าต้องประกาศอิสรภาพเท่านั้น เพราะรัฐบาลราชาธิปไตยของอังกฤษนั้นล้าหลัง กดขี่ขูดรีด และอังกฤษเป็นแค่เกาะเล็กๆ ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นทวีปใหญ่ที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่ามาก เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติอเมริกันมากที่สุด และภายหลังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือ 20 เล่มที่มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของโลก

งานเขียนของเพนสะท้อนถึงการตีความเรื่องการปฏิวัติ (Revolution) ในความหมายที่ก้าวหน้าขึ้น จากคำนี้ในช่วงแรกที่เคยมีความหมายแค่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปสู่รัฐบาลที่ไม่โกง และการยึดหลักการรัฐธรรมนูญ ไปเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและการเมืองอย่างรวดเร็วและก้าวหน้า เชื่อมั่นในความก้าวหน้าของมนุษย์ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาจากยุคป่าเถื่อน (Barbarism) ไปสู่ยุคอารยธรรมที่มีฐานอยู่บนแนวคิดการทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผล และการยอมรับสิทธิอันไม่อาจทำให้เป็นอื่นได้ของมนุษย์ นายทหารไทยและนักการเมืองไทยยุคปัจจุบันยังคงใช้คำว่าการปฏวัติแบบโบราณ เวลาพวกเขาใช้กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ ชอบใช้คำว่า ปฏิวัติ ทั้งๆ ที่มันคือแค่การรัฐประหาร

เพนเป็นนักปฏิวัติยุคก่อนคาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) แม้เพนจะร่วมสมัยและเป็นเพื่อนกับนักสังคมนิยมอุดมคติ (ยูโทเปีย) เช่น แซงต์ ซีมอง (1760-1825) แต่เพนมีแนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตยทุนนิยมมากกว่าแนวสังคมนิยม เขามีความคิดในเรื่องความเสมอภาคทางโอกาสและรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้าในหลายเรื่อง

เพนเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงมากในช่วงปฏิวัติอเมริกันและเป็นเพื่อนกับผู้นำนักปฏิวัติอเมริกันระดับบิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐ (Founding Father) หลายคน แต่เนื่องจากเป็นคนจนที่มีการศึกษาน้อย (แต่อ่านศึกษาด้วยตนเอง) และมีทัศนะที่ก้าวหน้ากว่าชนชั้นสูงและคนชั้นกลางชาวอเมริกันในยุคนั้นในหลายเรื่อง เช่น วิจารณ์เรื่องระบบทาส วิจารณ์เรื่องความศรัทธาอย่างงมงายของชาวคริสต์ ทำให้ชาวอเมริกันหลังยุคชนะอังกฤษ ประกาศอิสรภาพเสร็จแล้วไม่ค่อยยอมรับเพน

เพนเดินทางไปหาลู่ทางเสนอโครงการสะพานแบบใหม่ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นในอังกฤษ แต่งานเขียนที่ก้าวหน้าทำให้รัฐบาลอังกฤษจะจับตัวเขาในข้อหากบฏ ทำให้เขาต้องหนีไปอยู่ฝรั่งเศส ในยุคที่ฝรั่งเศสกำลังเกิดการปฏิวัติใหญ่ในฐานะนักเขียนปฏิวัติผู้มีชื่อเสียง เพนได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกสภาแห่งชาติฝรั่งเศส แต่การเมืองในฝรั่งเศสผันผวนและรัฐบาลบางช่วงถูกควบคุมโดยพวกหัวรุนแรง ทำให้เพนซึ่งมีความคิดแนวสายกลาง ถูกจับกุมคุมขังอยู่ ๘เดือน แต่ก็รอดชีวิตมาได้ เขาเขียนหนังสือเผยแพร่แนวคิดเสรีประชาธิปไตยและการวิพากษ์องค์กรศาสนาคริสต์ที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น

ในวัยชราเมื่อเพนอพยพจากฝรั่งเศสกลับไปที่สหรัฐฯ คนอเมริกันพากันทอดทิ้งหรือแม้แต่ประนามเขาว่าเป็นหัวรุนแรง ไม่เชื่อถือพระเจ้า ทั้งๆ ที่เพนเป็นพวกสายกลาง มองพระเจ้าในฐานะธรรมชาติหรือจักรวาลมากกว่าจะมองว่าเป็นเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์

นอกจากธอมัส เพน จะเข้าร่วมการปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งใหญ่ทั้งสองแห่งแล้ว เขายังพยายามเขียนเผยแพร่ความคิดแนวทางการปฏิวัติในอังกฤษและไอร์แลนด์ด้วย แม้กลุ่มที่นิยมแนวคิดของเขาใน๒ประเทศนี้ขจะถูกปราบปรามแต่แนวคิดที่ก้าวหน้าของเพนหลายอย่าง เช่น เรื่องสวัสดิการเด็ก คนสูงอายุ ฯลฯ ภายหลังรัฐบาลอังกฤษ และอเมริกันก็นำไปใช้ หนังสือและบทความของเพนกลายเป็นวรรณกรรมการเมืองคลาสสิกที่ทรงคุณค่า มีความคิดที่เป็นสากลที่ยังคงอยู่ร่วมสมัยกับพวกเรา ความคิดหลายเรื่องของเขาที่เขียนเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้วนั้นก้าวหน้า มองการณ์ไกลมากกว่าพวกชนชั้นนำไทยยุคปัจจุบันที่ยังเป็นจารีตนิยมอยู่มาก

ข้อความสั้นๆ ที่น่าจะสรุปถึงความเป็น ธอมัส เพน ได้อย่างรวบยอดและเป็นธรรมที่สุด

“ผู้บุกเบิกการปฏิวัติที่ถูกทอดทิ้งในประเทศหนึ่ง เป็นเหยื่อการสูญเสียอิสระภาพของการปฏิวัติในอีกประเทศหนึ่ง เป็นคนกล้าถึงขั้นหลง และมีความเป็นมนุษย์เท่ากับที่เขามีความกล้า ไม่มีใครในรุ่นเดียวกับเขาที่จะสอนถึงคุณธรรมของสาธารณรัฐนิยมในภาษาอังกฤษได้ดีเท่าเขา และใช้ชีวิตเพื่อมันโดยไม่คำนึงถึงตัวเองได้งดงามเท่าเขา” (H.N. Brails Ford in “Thomas Paine” in Shelly, Godwin and Their Circle 1913)