ทำไมไทยยังไม่แบนพาราควอต บทเรียนจากยุโรป

ทำไมไทยยังไม่แบนพาราควอต บทเรียนจากยุโรป

รอลุ้นมานานหลายปีว่าประเทศไทยจะยอมยกเลิกและจำกัดการใช้สารพิษ 3 ชนิดสำคัญในการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส

และไกลโฟเสต หรือไม่ และเมื่อไหร่? ล่าสุดที่เห็นเป็นข่าวก็คือการออกมาเรียกร้องจากกลุ่มประชาสังคม NGOs และเครือข่ายต่างๆ ให้ แบนพาราควอตเดี๋ยวนี้ อาทิ ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 เครือข่ายทั่วประเทศ ราว 400 คน ได้มารวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านไม่เอาสารเคมีอันตรายพร้อมรายชื่อกว่า 10,000 รายชื่อ ต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน

คำถาม ทำไมประเทศไทยใช้เวลาเนิ่นนานในการทบทวนนโยบายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะการจำกัดการใช้สารพิษในการทำการเกษตร และล่าสุดก็ยังมีมติไม่แบนสารดังกล่าวทันที ทั้งๆ ที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรมมีการใช้สร้างดังกล่าวอย่างกว้างขวางและมีความเสี่ยงโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ใช้สารจำนวนหลายล้านคน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กว่า 51 ประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรปได้แบนการใช้สารนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว เราไปอยู่ที่ไหนมา

ตามรายงานจากสำนักข่าวบีบีซี ปัจจุบันมีอย่างน้อย 51 ประเทศทั่วโลกที่ ยกเลิกการใช้พาราควอต ซึ่งรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป ที่ยกเลิกเมื่อปี 2007 ศาลแห่งสหภาพยุโรปมีคำสั่งยกเลิกการใช้พาราควอต เนื่องจากข้อกังวลด้านสุขภาพและการประเมินความปลอดภัยในสารเคมี รวมทั้งการไม่นำรายงานผลกระทบต่อโรคพาร์กินสัน มาพิจารณา ในเอเชีย ห้ามใช้พาราควอตแล้วใน 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน คูเวต ลาว เกาหลีใต้ ศรีลังกา ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่จำกัดการใช้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จีนทยอยยกเลิกการใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2012 ด้วยเหตุผลเพื่อการปกป้องสุขภาพของประชาชน และยกเลิกการใช้และจำหน่ายสูตรน้ำเมื่อปี 2016

ทำไมไทยยังไม่แบนพาราควอต บทเรียนจากยุโรป

พาราควอต สารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีพิษรุนแรง และมีความเสี่ยงที่จะยังตกค้างอยู่ในดินอีกหลายปี สะท้อนให้คิดว่านโยบายที่เชื่องช้าของประเทศไทยในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการใช้สารเคมีและสารกำจัดวัชพืชครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย ที่ได้ประกาศนโยบายบายว่าจะมุ่งหน้าการเกษตรแบบอินทรีย์ ทั้งๆ ที่นโยบายสองด้านต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน มิเช่นนั้น เราจะไม่มีทางผลักดันนโยบายเกษตรอินทรีย์ได้สำเร็จ หากมีสารอันตรายใช้อยู่และตกค้างอยู่ในดิน

หันมามองยุโรป สหภาพยุโรปหรืออียูเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินนโยบายเกษตรแบบอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญ ยุทธศาสตร์และนโยบายของอียูมิได้เป็นเพียงแนวทางกว้างๆ แต่มีการวางกรอบกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อกำหนดมาตรฐานและการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วยุโรป และมีการวางโครงสร้างการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่สอดรับกับตลาดเกษตรอินทรีย์ที่มีกลไกตลาดสมบูรณ์แบบและสามารถเจริญเติบโตได้อย่างมีศักยภาพและยั่งยืน ที่สำคัญ อียูมีข้อกำหนดเรื่องการควบคุมการใช้สารเคมีและสารกำจัดวัชพืชที่เข้มงวดมากที่สุดในโลก

นอกจากเป็นห่วงผลกระทบของการใช้สารเคมีในหมู่เกษตรกรแล้ว ในฐานะผู้บริโภค เราจะทราบได้อย่างไรว่าสินค้าอาหาร ผัก และผลไม้ที่เราบริโภคอยู่ทุกวันปลอดสารตกค้างผักและผลไม้เกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิกส์ที่วางขายกันอยู่ในตลาดนั้นมีคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ หรือรักษาสิ่งแวดล้อมจริงอย่างที่โฆษณา หรือเป็นเพียงการติดตราแล้วตั้งตนเองว่าเป็นสินค้าออร์แกนิกส์รัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบเพื่อควบคุมเรื่องนี้อย่างเข้มงวด

ในยุโรป ผู้บริโภคยุโรปมีตัวช่วยมากเวลาหาซื้อสินค้าออร์แกนิกส์ในตลาด/ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะสามารถมองหาตราสัญลักษณ์ออร์แกนิกส์ของอียู ที่เป็นรูปใบไม้สีเขียว เนื่องจากเป็นเครื่องหมายรับรองว่าสินค้านั้นๆ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานและได้รับการรับรองตามกฎระเบียบเกตรอินทรีย์ของอียู ว่าเป็นสินค้าออร์แกนิกส์ของแท้แน่นอน กล่าวคือ หากเป็นสินค้าแปรรูป ก็หมายความว่า มีส่วนผสมอย่างน้อย 95% เป็นเกษตรอินทรีย์ และไม่มี Genetically Modified Organism (GMOs) เป็นส่วนประกอบ และที่สำคัญปลอดสารตกค้าง!

เพิ่งผ่านการเลือกตั้งไปหมาดๆ อยากเรียกร้องขอให้รัฐบาลใหม่ หันมาใส่ใจการปฎิรูปนโยบายการเกษตรอย่างจริงจังและครบวงจร โดยเฉพาะเรื่องนโยบายความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งการควบคุมการใช้สารเคมีและสารตกค้างในการทำการเกษตร ไม่ใช่เพียงเพื่อมุ่งเป้าการค้าขายหรือส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปต่างประเทศ แต่เพื่อให้ปรชาชนคนไทยมีสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ และอาหารได้บริโภคอย่างปลอดภัยไร้กังวล

ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่