จากสวนทุเรียนถึงไร่ถั่วเหลือง

จากสวนทุเรียนถึงไร่ถั่วเหลือง

ประเทศผู้ผลิตทุเรียนส่งออกมากที่สุดอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศผู้ผลิตถั่วเหลืองส่งออกมากที่สุดอยู่ในทวีปอเมริกา

ประเทศใน 2 กลุ่มนี้อยู่คนละฟากโลก แต่ส่งออกทุเรียนและถั่วเหลืองไปยังที่เดียวกัน นั่นคือ จีน อันเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับผลิตผลทั้ง 2

เป็นเวลากว่า 30 ปี เศรษฐกิจของจีนขยายตัวสูงมากส่งผลให้มีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 รองจากของสหรัฐเท่านั้น คนจีนส่วนใหญ่ได้รับผลดีและมีความมั่งคั่งจนสามารถนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากต่างประเทศเพื่อบริโภค หรือเป็นวัตถุดิบได้รวมทั้งทุเรียนและถั่วเหลือง ความมั่งคั่งและการนำเข้าของจีนเป็นปัจจัยทำให้การผลิตทุเรียนและถั่วเหลืองขยายตัวในอัตราสูง การขยายตัวเช่นนี้เป็นที่ปรารถนาของทุกประเทศโดยไม่มีใครมองในมุมกลับทั้งที่มีการวิจัยและปรากฏการณ์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์

ภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งการวิจัยได้ยืนยันว่าเป็นผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของมนุษย์ ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะต่างๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้งร้ายแรงที่ขยายออกไปในวงกว้าง หรือพายุใหญ่ซึ่งทั้งร้ายแรงขึ้นและเกิดบ่อยขึ้นทั่วโลก นอกจากนั้น มันยังมีผลกระทบโดยตรงต่อพืชและสัตว์สารพัดชนิดอีกด้วย

องค์การสหประชาชาติมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจิจัยและเผยแพร่เรื่องภาวะโลกร้อนซึ่งตอนนี้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องสำคัญๆ อีกมากที่องค์การนี้มีบทบาทสำคัญ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานสรุปของสื่อชื่อ ฮัฟฟ์โพสต์ ว่าในเดือนพฤษภาคม องค์การสหประชาชาติจะตีพิมพ์ผลของการวิจัยซึ่งใช้เวลา 3 ปี โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทั่วโลกเข้าร่วม รายงานสรุปนั้นมาจากการอ่านรายงานส่วนหนึ่งของการวิจัยและจากการสัมภาษณ์นักวิจัยหลายคนซึ่งชี้ว่า ภาวะความเสื่อมทรามของระบบนิเวศอาจมีผลร้ายมากกว่าภาวะโลกร้อนเสียอีก ความเสื่อมทรามนั้นมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคของมนุษย์เช่นเดียวกับภาวะโลกร้อน

รายงานสรุปดังกล่าวนำเรื่องราวสั้นๆ จากทั่วโลกมาเสนอเริ่มด้วยภาพขนาดใหญ่ของการทำลายป่าในมาเลเซียเพื่อปลูกทุเรียนส่งขายให้จีน ก่อนจะเป็นสวนทุเรียน พื้นที่ป่านั้นกลายสภาพเป็นเนินเขาหัวโล้นซึ่งถูกฝนชะล้างหน้าดินออกไปให้เห็นได้อย่างแจ้งชัด ภาพสุดท้ายเป็นภาพถ่ายทางอากาศขนาดใหญ่ของพื้นที่ป่าในลุ่มแม่น้ำอะเมซอนของบราซิล ป่าขนาดมหึมาซึ่งมีพันธุ์ไม้สารพัดและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิดนั้นมีสภาพเสมือนปอดของโลก แต่มันกำลังถูกทำลายลงอย่างรวมเร็วเพื่อนำพื้นที่มาใช้ทำเกษตรกรรม รวมทั้งการปลูกถั่วเหลืองส่งขายให้จีน

เรื่องราวในแนวเดียวกันกับการขยายสวนทุเรียนในมาเลเซียและการขยายไร่ถั่วเหลืองในบราซิล กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกอันเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อสนองความต้องการของประชาการโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและแต่ละคนมักต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้ง ทั้งนักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักมองว่า นั่นคือเป้าหมายของการบริหารและการพัฒนาประเทศโดยไม่มีใครใส่ใจว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั่งนั้น มักมาจากการทำลายไม่ว่าจะเป็นป่า อากาศ น้ำหรือดิน เมื่อรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน กระบวนการนี้ทำลายความหลากหลายในพืชและสัตว์ส่งผลให้เกิดความเสื่อมทรามในระบบนิเวศจนไม่สามารถสนับสนุนการดำรงชีวิตของมนุษย์ในหลายส่วนของโลกได้ การอพยพของชาวโลกอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจึงเกิดขึ้น

คอลัมน์นี้เสนอบ่อยครั้งว่า อย่าดูแต่เฉพาะผลผลิตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ให้ดูด้วยว่ามันมาจากไหนบ้างเพราะหลายอย่างก่อปัญหามากกว่าผลดี การผลิตบุหรี่อาจเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุด การทำลายป่าของชาวมาเลเซียและชาวบราซิลอาจสร้างความร่ำรวยให้บางคนและสร้างความพอใจให้ชาวจีนที่สามารถบริโภคทุเรียนและถั่วเหลืองได้มากขึ้น แต่มันกำลังสร้างปัญหาให้แก่โลกทำให้การพัฒนาโดยทั่วไปไม่ยั่งยืน

ทางออกมีไหม? ผู้เชี่ยวชาญตอบว่ามี คำตอบคร่าวๆ ของพวกเขามิใช่ของใหม่สำหรับผู้เข้าใจในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง กระนั้นก็ดี ยังไม่มีรัฐบาลใส่ใจและคนไทยยังน้อมนำมาใช้อย่างจำกัด