บลายด์ทรัสต์ มาตรฐานใหม่จัดการทรัพย์สินนักการเมือง?

บลายด์ทรัสต์ มาตรฐานใหม่จัดการทรัพย์สินนักการเมือง?

ช่วงนี้วิเคราะห์ข่าวการเมืองต้องหาข้อมูลจากหลายๆ ด้านนะครับ

เหมือนดังกรณีกระแสข่าวเรื่องการจัดการทรัพย์สินของนักการเมืองท่านหนึ่งที่มีความพยายามในการทำคล้าย “บลายด์ทรัสต์” ก็มีการถกเถียงว่าไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่จากสัญญาจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรีที่นักการเมืองในอดีตก็เคยทำมา อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากคำจำกัดความของทั้งสองอย่าง ตามที่ คุณกษิดิศ สุวรรณอำไพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ได้ยกมาชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า

“สัญญาจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี” (สัญญาจัดการหุ้นฯ) เกิดจากพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 โดยระบุว่ารัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งกฎหมายดังกล่าวระบุให้รัฐมนตรีนั้นสามารถทำสัญญาเพื่อโอนหุ้นให้นิติบุคคลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายสามารถดูแล จัดการ บริหาร แทนตัวรัฐมนตรีได้ โดยที่รัฐมนตรีต้องโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เงื่อนไขการจัดการนั้นสามารถเขียนไว้ในสัญญาได้ และต้องแจ้งให้ ป.ป.ช. ทราบ

สรุปคือสัญญาจัดการหุ้นฯ ทำให้รัฐมนตรีเจ้าของสินทรัพย์ต้องโอนหุ้นที่มีให้นิติบุคคลที่กำหนด (ซึ่งก็คือ บลจ.) ไปบริหารจัดการเองในชื่อของ บลจ. ในระหว่างที่เป็นรัฐมนตรี ซึ่งสัญญาจัดการหุ้นฯ นี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ “ทรัสต์” ซึ่ง ณ เวลานี้ ยังไม่มีกฎหมายใดที่ระบุว่าสามารถจัดตั้งทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลในประเทศไทยได้ (ล่าสุดยังเป็นร่างพ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. … อยู่) ยกเว้นการจัดตั้งทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนเพื่อการระดมทุนโดยเฉพาะ เช่น จัดตั้งกอง REIT ซึ่งออกเป็นกฎหมายไว้แล้ว

แล้ว “ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล” คืออะไร? โดยหลักการแล้ว ทรัสต์ คือ กองทรัพย์สิน ที่เกิดขึ้นโดยสัญญา (นิติสัมพันธ์) ระหว่างบุคคล 3 กลุ่ม คือ ผู้ก่อตั้งทรัสต์ (Trustor) ผู้จัดการกองทรัสต์หรือทรัสตี (Trustee) และผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) ซึ่งตามร่างพ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล ระบุว่าในสัญญาจัดตั้งทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล (ขอเรียกสั้นๆ ว่าทรัสต์) จะต้องระบุ ผู้ก่อตั้ง ผู้รับผลประโยชน์ วัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง และกองทรัพย์สินที่จะใช้เป็นทรัสต์ให้ชัดเจนทั้ง 4 อย่าง ไม่เช่นนั้นสัญญาก่อตั้งทรัสต์จะเป็นโมฆะ

ผู้ก่อตั้งทรัสต์ต้องโอนทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไปไว้ในกองทรัสต์ และทรัสตีมีสิทธิตามกฎหมายเหนือกองทรัสต์ในฐานะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สิน และมีหน้าที่จัดการกองทรัสต์ตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และตาม พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแม้ผู้ก่อตั้งทรัสต์ ทรัสตี หรือผู้รับผลประโยชน์ตาย ล้มละลาย เลิกกิจการ หรือสิ้นสุดความเป็นบุคคลตามกฎหมาย หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทรัสตี ก็ยังไม่กระทบต่อทรัสต์ที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วด้วย ถือเป็นเอกเทศด้านการถือครองจากทั้งผู้ก่อตั้ง ทรัสตี และผู้รับผลประโยชน์โดยสิ้นเชิง ยกเว้นแต่มีกำหนดไว้ในสัญญาก่อตั้งทรัสต์

สรุปคือทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล จะทำโดยใครก็ได้ เอาทรัพย์สินของตัวเอง ไปตั้งเป็นทรัสต์ตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ แล้วให้ทรัสตีมาบริหาร เพื่อให้ผู้รับผลประโยชน์ได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไขการก่อตั้งทรัสต์ (แต่ตอนนี้ยังทำในไทยไม่ได้) และการใส่ Blind Feature เข้าไปในทรัสต์ เพื่อให้เป็น “บลายด์ทรัสต์” วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อป้องกันผลประโยชน​์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทรัพย์สินในกองทรัสต์ กับผู้ก่อตั้งทรัสต์หรือผู้รับผลประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อปกปิดการตรวจสอบจากผู้มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย

ดังนั้นความแตกต่างระหว่าง “สัญญาจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี” และ “ทรัสต์” หลักๆ คือ

1. สัญญาจัดการหุ้นฯ นั้นถูกบังคับใช้เฉพาะกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่รวมถึง ส.ส. และ ส.ว. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ส่วนผู้ก่อตั้งทรัสต์นั้นจะเป็นใครก็ได้ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

2. สัญญาจัดการหุ้นฯ ไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะต้องระบุผู้รับผลประโยชน์ แตกต่างจากทรัสต์ที่ต้องระบุไว้ชัดเจน ทำให้สามารถทราบได้ถึงที่มาและที่ไปของทรัพย์สินได้ครบถ้วนทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มจนจบ

3. สัญญาจัดการหุ้นฯ ระบุว่าไม่ให้รัฐมนตรีเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งในการจัดการหุ้นที่ได้โอนไปแล้ว ในขณะที่ทรัสต์นั้น ผู้ก่อตั้งทรัสต์สามารถมีสิทธิหรือหน้าที่เฉพาะเท่าที่กำหนดในสัญญาก่อตั้งทรัสต์เท่านั้น

4. สัญญาจัดการหุ้นฯ นั้นกฎหมายระบุให้ต้องส่งสำเนาไปแจ้ง ป.ป.ช. ด้วย แต่ทรัสต์นั้นเนื่องจากร่างพ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลฉบับล่าสุด ไม่ได้ระบุว่าต้องส่งสำเนาสัญญาจัดตั้งทรัสต์ให้ใคร แต่ก็มิได้ห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐเข้าไปขอตรวจสอบเช่นกัน ความหมายคือถ้า ป.ป.ช. ขอตรวจสอบตามกฎหมาย ก็ต้องถูกตรวจสอบได้เช่นกัน หรือผู้ก่อตั้งทรัสต์อาจจะระบุไว้เองเลยก็ได้ว่า ต้องการให้ใครสามารถตรวจสอบได้เลยบ้าง

5. สัญญาจัดการหุ้นฯ ระบุแค่หุ้นหรือหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท แต่สำหรับทรัสต์ กองทรัพย์สินที่จะตั้งเป็นทรัสต์นั้นจะเป็นอะไรก็ได้ รวมถึงบรรดาดอกผล หนี้สิน และความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการจัดการตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ หรือตามที่กำหนดในกฎหมายด้วย

แล้วทั้งสัญญาจัดการหุ้นฯ และทรัสต์ แตกต่างจากกองทุนส่วนบุคคลยังไง? คำตอบคือทั้งคู่มีความคล้ายคลึงกันกับกองทุนส่วนบุคคลในแง่ของรูปแบบการจัดการ ซึ่งมีการว่าจ้างบุคคลภายนอกมาบริหารจัดการ แต่แตกต่างกันที่ความเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ โดยกองทุนส่วนบุคคล เจ้าของและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังเป็นของลูกค้า และผู้รับผลประโยชน์จากการบริหารจัดการก็คือตัวลูกค้าเอง

สิ่งที่รัฐมนตรีท่านอื่นๆ ทำก่อนหน้าก็คือสัญญาจัดการหุ้นฯ ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี และบางท่านก็ทำเพียงการซื้อกองทุนรวมเท่านั้น ซึ่งน่าจะถือว่าแตกต่างจากคำจำกัดความของบลายด์ทรัสต์อยู่พอสมควร

วันนี้การที่มีนักการเมืองเริ่มการบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อให้ใกล้เคียงกับบลายด์ทรัสต์ไปอีกขั้น ถึงแม้เป็นเพียง MOU ยังไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนจัดตั้งทรัสต์จริง จะช่วยแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองให้ดีขึ้นกว่าในอดีตหรือไม่ ต้องติดตามไปด้วยกันครับ