เมื่อเศรษฐกิจโลกเป็นขาลง

เมื่อเศรษฐกิจโลกเป็นขาลง

ปีนี้เป็นของความไม่แน่นอน เพราะความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกมีสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านนโยบาย

ความเสี่ยงหลักที่มีมาตั้งแต่ต้นปีและจะมีผลอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจเอเชียก็คือ หนึ่ง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่อาจรุนแรงขึ้น นำไปสู่การปรับขึ้นภาษีนำเข้าของทั้งสองประเทศ ที่จะกระทบการค้าทั่วโลก สอง ข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit ที่ยังไม่มีข้อยุติว่าอังกฤษจะมีกระบวนการออกจากสหภาพยุโรปอย่างไร จะกระทบการปรับฐานและเพิ่มต้นทุนให้กับภาคอุตสาหกรรมในยุโรป กระทบการขยายตัวของอังกฤษและสหภาพยุโรป สาม ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองในพื้นที่ต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะตะวันออกกลางและละตินอเมริกา และสี่ ทิศทางของนโยบายการเงินสหรัฐที่การปรับสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ ความเสี่ยงเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจของทั้งนักลงทุนและต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ กดดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราที่ลดลงปีนี้ และถ้าชะลอมากและต่อเนื่อง ก็อาจเกิดภาวะถดถอยได้ นี่คือความเสี่ยง

ล่าสุด ข้อมูลเศรษฐกิจชี้ว่า ความเสี่ยงเหล่านี้ได้ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมชะลอลงทั่วหน้าในช่วงสองเดือนแรกของปี สำนักข่าวบลูมเบิร์ก อ้างตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ที่ 2.1 เปอร์เซนต์เทียบกับร้อยละ 4 ปีที่แล้ว สะท้อนการชะลอตัวที่คาดว่าจะรุนแรง การชะลอตัวขณะนี้เกิดขึ้นในสหรัฐ ยุโรป และจีน เดือนมกราคม ดัชนีภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐปรับลดลง 0.6 เปอร์เซนต์ เป็นการลดลงครั้งแรกในช่วง 8 เดือนขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนก็อ่อนแอ ที่จีนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในจีนชะลอตัวในเดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนการอ่อนตัวของการใช้จ่ายในประเทศซึ่งสอดคล้องกับการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของจีนปีนี้โดยทางการจีน ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีก็ชะลอตัวในเดือนมกราคม ชี้ถึงแนวโน้มการอ่อนตัวของเศรษฐกิจในยุโรปซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางยุโรปอาจต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำต่อไป ในภาพรวม ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจของโลกอ่อนตัวลงในเดือนมกราคม และลดลงในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบสองปีครึ่ง การอ่อนตัวนี้ส่งผลต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ ล่าสุด ตุรกี ประกาศว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจหดตัวและเศรษฐกิจกำลัง่เข้าสู่ภาวะถดถอย

ในทางเศรษฐศาสตร์ ภาวะชะลอตัวที่เกิดขึ้นไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจโลกปีนี้มีมาก ขณะที่ผลบวกจากนโยบายต่างๆ ที่เศรษฐกิจโลกเคยได้ประโยชน์ เช่น นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการปรับลดภาษีในสหรัฐก็เริ่มหมดลง ที่ชัดเจนก็คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญ ต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและจีน รวมถึงเศรษฐกิจโลก นำไปสู่การอ่อนตัวของการลงทุนที่แต่เดิมเคยได้แรงสนับสนุนจากการขยายการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี ขณะนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจมีให้เห็นไปทั่วไม่ว่าประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศตลาดเกิดใหม่ กดดันให้ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร และราคาสินค้าวัตถุดิบปรับลดลง สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้นไปอีก

ที่น่าสังเกตคือ ตลาดการเงินโลกได้คาดการณ์แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ก่อนหน้าพอสมควร ทำให้ตลาดการเงินได้ปรับลดลงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะตลาดหุ้น การอ่อนตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐก็ยืนยันแนวโน้มขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐ แนวโน้มเศรษฐกิจเหล่านี้ได้ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากปรับขึ้นสี่ครั้งปีที่แล้ว โดยอ้างเหตุผลภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่มีมากขึ้น ในแง่ดีการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐได้ช่วยลดแรงกดดันต่อภาวะการเงินและสภาพคล่องในประเทศตลาดเกิดใหม่ ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่จึงเริ่มกลับมาแข็งค่า ส่งผลให้ดัชนีความเสี่ยงของตราสารหนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่ปรับลดลง

ถึงจุดนี้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้เป็นขาลงแน่นอน ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเศรษฐกิจไทย จากการค้าโลกที่จะชะลอตัวมากขึ้น ซึ่งจะกระทบการส่งออกของเรา และการชะลอของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนต่างประเทศที่จะกระทบการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นฐานรายได้หลักของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ดังนั้นภาคธุรกิจจึงต้องเริ่มปรับตัวรับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะชะลอ เปลี่ยนแนวธุรกิจที่เน้นการขยายตัวเป็นแนวธุรกิจที่ตั้งรับการชะลอตัว และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ในแง่ของประเด็นที่ต้องตามต่อจากนี้ไป คงมีสามเรื่อง ที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจ เรื่องแรก คือทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐจากนี้ไป ที่นโยบายการเงินเป็นขาขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว คำถามคือ ธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อหรือไม่ หรือจะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงแค่นี้ ที่ผ่านมา ตลาดการเงินมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไม่ค่อยทัน เพราะให้ความสำคัญกับตัวเลขเศรษฐกิจมากในการตัดสินใจ ทำให้ต้องรอดูข้อมูล จึงตัดสินใจช้ากว่าตลาดการเงินที่ปรับลดไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ล่าสุด ตลาดการเงินคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐคงรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้อาจจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นความไม่แน่นอนที่นักลงทุนต้องติดตาม

เรื่องที่สอง คือ ความสามารถของทางการแต่ละประเทศที่จะออกนโยบายแก้ไขการอ่อนตัวของเศรษฐกิจ คือกระตุ้นไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอลงมากเกินไป ซึ่งจะขึ้นอยูกับพื้นที่ทางนโยบายที่แต่ละประเทศมี คือ อัตราดอกเบี้ยจะสามารถลดลงได้หรือไม่และรัฐบาลมีทรัพยากรการคลังหรือไม่ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ของไทยก็จะเจอปัญหานี้ แต่จะไม่เป็นข้อจำกัดมาก เพราะทางการไทยมีพื้นที่ที่จะยืนนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ด้านการคลังรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาหลังเลือกตั้งคงจะใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัด เพราะงบประมาณประจำปี ที่เตรียมไว้เป็นของรัฐบาลที่แล้ว ที่ไม่ได้เตรียมพื้นที่เผื่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจต้องการการกระตุ้น ทำให้สิ่งที่เหลืออยู่และพอทำได้ คือ อัตราแลกเปลี่ยน เพราะเงินบาทยังสามารถอ่อนค่าได้อีกจากระดับที่ค่อนข้างแข็งในปัจจุบัน

เรื่องที่สาม คือโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะไหลเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หมายถึง เศรษฐกิจโลกไม่ขยายตัวแต่หดตัว ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ ประเด็นคือถ้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นจะต้องเริ่มจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักอย่างพร้อมเพรียงกัน(Synchonized) นำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ จนในที่สุดมีบางประเทศเริ่มขยายตัวติดลบ เช่น กรณี ตุรกี ปัจจุบันตลาดการเงินประเมินโอกาสของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยปีนี้ค่อนข้างต่ำ คือ น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ถ้าความพยายามแก้ไขสถานการณ์โดยนโยบายต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จ หรือเศรษฐกิจโลกมีปัจจัยลบอย่างอื่นเข้ามากระทบ การชะลอตัวก็อาจมีต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น ยกระดับความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ หรือปีหน้าให้สูงขึ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้

นี่คือสิ่งที่อยากให้นักลงทุนและผู้ประกอบการตระหนักและระวังมากขึ้นในปีนี้ เพราะปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศมีมาก