พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลาย ‘ฉาอิรสุลตันเมาลา' ตอนจบ***

พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลาย ‘ฉาอิรสุลตันเมาลา' ตอนจบ***

บทความในตอนสุดท้าย ที่จะได้กล่าวถึงคุณูปการที่ได้รับบท “ฉาอิรสุลตันเมาลานา” ฉบับปริวรรตเป็นอักษร “รูมี”  โดย...

ตัวบท ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานาสะท้อนภาพด้านใดบ้างและอย่างไร

ลักษณะการดำรงความเป็นอยู่ให้รอดที่ทั้งปาตานีและเกอดะฮ ต้องฟันฝ่ามานั้นได้สะท้อนผ่าน “ฉาอิรสุลตันเมาลานา(ฉสม)” อย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจได้ไม่ยาก ผู้วิจัยได้ประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ภาพสะท้อนจาก ฉสม ได้ 12 ภาพใหญ่ที่ประกอบด้วยภาพย่อยซ้อนแฝงในภาพใหญ่เหล่านั้นอีกหลายภาพ ภาพใหญ่ดังกล่าวได้แก่ (1) ภาพสะท้อนพลังภูมิปัญญาความเป็นปราชญ์ของกวีผู้รจนา ฉสม (2) ภาพสะท้อนวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมมลายูร่วมสมัยกับกวี (3) ภาพสะท้อนบทบาทผู้ปกครองรัฐ ขุนนาง และนักรบฝ่ายรัฐสุลต่านมลายูในสงครามปราบกบฏดาตูปังกาลัน ปาตานี พ.ศ.2351 (4) ภาพสะท้อนบทบาทผู้ปกครองรัฐ ขุนนาง และนักรบฝ่ายสยาม ในสงครามปราบกบฏดาตูปังกาลัน ปาตานี และสงครามกอบกู้เมืองสาลัง (5) ภาพสะท้อนชนต่างชาติในเมืองสาลัง เช่น พ่อค้าชาวอินเดีย และพ่อค้าชาวจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำการค้าอยู่บนเกาะสาลัง ว่าเป็นพวกค่อนข้างมั่งมี (6) ภาพสะท้อนผู้ปกครองรัฐ ขุนนางและนักรบฝ่ายพม่า ที่กวีชื่นชมในความกล้าหาญที่กล้าเสี่ยงชีวิตยกกองทัพเรือมาทำศึกกับสยามในช่วงฤดูมรสุม (7) ภาพสะท้อนของกองทัพพม่า ที่สามารถจัดขบวนเรือรบและสร้างค่ายทหารได้น่ากลัวจนทหารมลายูและสยามรู้สึกขยาดที่จะบุกโจมตี (8) ภาพสะท้อนความรู้สึกของกวีที่มีต่อกองทัพสยามเมื่อสงครามสิ้นสุด กวีรู้สึกน้อยใจแทนทหารมลายู ว่าถูกกองทัพสยามเอาเปรียบมาก (9) ภาพสะท้อนลักษณะเรือรบของรัฐสุลต่านมลายู  ที่กวีภูมิใจว่าสวยงาม สง่า แข็งแรง สมเกียรติและตำแหน่งของนักรบทุกระดับ (10) ภาพสะท้อนสงครามที่ปาตานีต้องล่มสลายและสาลังเมืองร้าง ซึ่งเป็นภาพที่โหดร้าย (11) ภาพสะท้อนความโหดร้ายของสงคราม เป็นความเลวร้ายของสงครามสยามปราบกบฏปาตานี และความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติลมฟ้าอากาศ เช่น ภาพความทรมานในการอยู่ในทะเล ภาพการสู้รบในสมรภูมิรบ ภัยธรรมชาติครั้งรุนแรงที่บริเวณตันฌงฌัมบูที่ด้านหลังของเกาะตาลีบง และภาพการประจัญบานของกองทัพเรือมลายูที่เป็นทัพหน้าพายเรือฝ่าเข้าไปหักค่ายฐานทัพเรือพม่าที่อายเอ็รเกอลูบี ซึ่งน่ากลัวมากที่สุด และ (12) ภาพสะท้อนความเดือดร้อนของราษฎรและความวิบัติของบ้านเมือง สาลังโดนกองทัพพม่าเผาทำลายจนกลายเป็นเมืองร้าง

มุมมองด้านมลายูและไทยในเรื่องศึกถลางจากตัวบท ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานาและเอกสารประวัติศาสตร์ของมลายูและไทยที่เกี่ยวข้องได้สะท้อนมุมมองที่มีต่อศึกถลางอย่างไร

ผู้วิจัยสังเกตว่า สังคมคนภูเก็ตปัจจุบันได้รับรู้และภูมิใจกับเหตุการณ์ถลางชนะศึกพม่า เรื่องความเสียหายของเมืองสาลังที่เกิดจากการโจมตีของพม่าในปี 2352 นั้น มีคนจำนวนมากที่รู้น้อยมาก ส่วนคนเกอดะฮ เปิรลิส และกูบังปาสู นั้นส่วนใหญ่ได้ยืนยันว่าไม่ค่อยรู้เรื่องศึกถลาง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกแผ่นดินเกอดะฮ สิ้นสงครามแล้วประชาชนไม่ได้อะไร นอกจากสุลตันอะฮมัดตาฌุดดินฮาลิมฉะฮ ที่ 2 เท่านั้นที่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา คนเกอดะฮปัจจุบันส่วนใหญ่ก็พอได้รู้เรื่องสงครามที่สยามยึดเกอดะฮในปี พ.ศ.2364 ที่เขาเรียกว่า “Musuh Bisik” หรือสงครามเงียบเพราะเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในลักษณะการลวงเข้าโจมตีโดยฝ่ายเกอดะฮคาดไม่ถึง นักรบระดับแนวหน้าที่ได้ร่วมมือกับสยามไปรบกับพม่าในการกอบกู้เมืองสาลังในปี 2352 หลายนายถูกปลิดชีวิตในเหตุการณ์นี้ จึงเป็นสงครามที่สร้างบาดแผลลึกแก่คนเกอดะฮอย่างกว้างขวาง ทำให้สุลตันอะฮมัดตาฌุดดินฮาลิมฉะฮ ที่ 2 ต้องหนีไปพึ่งอังกฤษที่เกาะปีนัง และถูกเนรเทศให้ย้ายไปพำนักที่มะละกา ดังนั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตจึงได้รับสมญานามว่า ‘มัรหุมมาลากา’ (Marhum Melaka)

องค์ความรู้เรื่องภาพลักษณ์ในอดีตและมุมมองด้านมลายูและไทยในเรื่องศึกถลางที่ได้มาจากการศึกษาตัวบท ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานาและเอกสารประวัติศาสตร์ของมลายูและไทยที่เกี่ยวข้องสู่สังคมพหุวัฒนธรรมไทยปัจจุบันโดยรวมนั้น ได้ให้ประโยชน์อะไรต่อการพัฒนาวงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและสังคมไทยในบริบทสังคมพหุวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน

ผู้วิจัยเห็นว่า ฉสม ไม่ใช่เป็นแค่งานประวัติศาสตร์นิพนธ์มลายู ที่กวีนิรนามได้บันทึกเหตุการณ์สงครามเท่านั้น หากแต่ ฉสม เป็นคลังความรู้หลากหลายศาสตร์ อาทิ ความรู้ด้านภาษา วรรณกรรม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา รัฐประศาสนศาสตร์ การเมือง การปกครอง การเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งมีคุณค่าต่อวงการศึกษาของไทยปัจจุบันหลายประการ อาทิ เป็นแหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์ไทยและมาเลเซีย เป็นคุณูปการแก่กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยและมาเลเซีย เป็นเสมือนทูตวรรณกรรมที่ผูกความสัมพันธ์ระหว่างโลกความเป็นไทยกับโลกมลายูให้แน่นแฟ้นเพื่อนำสู่แนวทางของความคิดเชิงบวก เป็นสัญลักษณ์ของการขยายพื้นที่ความรู้เรื่อง “มลายู” สู่ “สยาม-ไทย” ที่เอื้อประโยชน์ต่อการศึกษาด้านสังคม และวัฒนธรรม

โดย... 

ศ.ดร.รัตติยา สาและ

นักวิจัย ฝ่าย 1 สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) 

[บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่ได้มาจากงานวิจัยเรื่อง พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลายในต้นฉบับตัวเขียนเรื่อง ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานา’ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนงบประมาณจนสามารถดำเนินการวิจัยให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ขอขอบคุณ ณ ที่นี้ด้วย]