เราพร้อมใจเดินไปสู่ความหายนะ?

เราพร้อมใจเดินไปสู่ความหายนะ?

แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 21 ปี แต่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงในวันที่ 24 มี.ค. นี้ ส่วนใหญ่คงจำได้ว่า เกิดอะไร

หลังรัฐบาลประกาศให้เงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2540 ส่งผลให้ค่าเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงมากว่าครึ่ง และกิจการเล็กใหญ่ล้มละลายกันอย่างทั่วถึง

ในคืนวันที่ 4 ธ.ค.ปีนั้น ชาวไทยโดยทั่วไปได้ยินคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นครั้งแรกจากพระราชดำรัสของพ่อหลวง ร. 9 และได้ยินซ้ำอีกครั้งหลังพระองค์ทรงอธิบายความหมายของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ในพระราชดำรัส เมื่อคืนวันที่ 4 ธ.ค.2541 พระองค์ทรงเสนอให้ใช้แนวคิดนี้ในการดำเนินชีวิตและพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง โดยปราศจากความเสี่ยงต่อการต้องเผชิญกับวิกฤติร้ายแรงซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้น

หลังเศรษฐกิจฟื้นจากวิกฤติได้ในระดับหนึ่ง เมืองไทยได้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งบนฐานของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งร่างเสร็จเมื่อปี 2540 รัฐบาลนั้น มีนโยบายในแนวใหม่หลายอย่าง นโยบายที่แปลกใหม่ที่สุดได้แก่การเริ่มใช้แนวคิดประชานิยมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในละตินอเมริกาอันเป็นประชานิยมแบบเลวร้าย มิใช่ประชานิยมตามอุดมการณ์ด้านดี

ทั้งแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดประชานิยมได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและวิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานาจากหลากหลายมุมมอง ผมเป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามทำความเข้าใจใน 2 แนวคิดนั้น และนำผลของความเข้าใจมาเสนอไว้ในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพิมพ์เป็นหนังสือ ด้านแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หนังสือเล่มล่าสุดได้แก่เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ ซึ่งพิมพ์เมื่อเดือน ก.ย.2560 ส่วนด้านแนวคิดประชานิยม หนังสือเล่มล่าสุดได้แร่เรื่อง ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.2555 (หนังสือทั้ง 2 เล่ม อาจดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

ลอดช่วงเวลากว่า 20 ปีหลังวันที่พ่อหลวง ร. 9 พระราชทานแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมได้ยืนยันว่าแนวคิดนี้คือคำตอบที่ตรงกับโจทย์ของโลกปัจจุบันและโลกที่จะมาในอนาคต เพราะอะไรมีคำอธิบายอยู่ในหนังสือที่อ้างถึง

ด้านนโยบายต่าง ๆ ในกรอบแนวคิดประชานิยมที่ถูกนำเข้ามาใช้ในกลางปี 2544 ผมได้ยืนยันเสมอมาว่า มันเป็นยาเสพติด เมื่อเริ่มแล้วเลิกยากมากและผลสุดท้ายจะนำเมืองไทยไปสู่ความล้มละลาย หรืออาจถึงกับหายนะดังตัวอย่างสด ๆ ชั้นดีที่มีให้ดูอยู่ในเวเนซุเอลา ส่วนตัวอย่างอื่น ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับอาร์เจนตินามีรายละเอียดอยู่ในหนังสือเล่มที่อ้างถึง

เนื่องจากการดำเนินนโยบายตามแนวคิดทั้ง 2 นี้ จะมีผลออกมาตรงข้ามกันและชาวไทยจะมีโอกาสเลือกว่าจะเดินตามทางไหนในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง ผมจึงพยายามอ่านแนวนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะพาเดินไปทางไหน เป็นที่ประจักษ์ว่าพรรคใหญ่ๆ ต่างแข่งขันกันเสนอมาตรการตามแนวคิดประชานิยมแบบเลวร้าย จะแตกต่างกันบ้างก็เพียงในรายละเอียดและความเข้มข้นเท่านั้น ส่วนพรรคที่ชูแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพรรคขนาดเล็กที่ไม่มีโอกาสเป็นแกนนำรัฐบาล ฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ ชาวไทยจึงไม่มีทางเลือกที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล เขาจะสานต่อนโยบายในกรอบของประชานิยมแบบเลวร้าย

หากถามว่าการทำเช่นนั้นจะขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” ทั้งนี้เพราะจริงอยู่ยุทธศาสตร์ชาติอ้างว่าใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน แต่เมื่อศึกษาเนื้อในควบคู่กันไปกับการนำไปสู่การปฏิบัติชื่อ “ประเทศไทย 4.0” จะพบว่า การอ้างนั้นเป็นเพียงการ “โหน” ชื่อของแนวคิด เมื่อเป็นเช่นนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดินในอนาคตอันใกล้ เมืองไทยจะเดินไปสู่ความล้มละลายเช่นเดียวกับหลายประเทศที่ใช้นโยบายตามแนวคิดประชานิยมแบบเลวร้าย ส่วนจะล้มละลายเมื่อไรยังบอกไม่ได้ในขณะนี้ อาร์เจนตินาใช้เวลา 40 ปี ส่วนกรีซใช้เวลาสั้นกว่านั้น สิ่งที่บอกได้คือ ผลของมันจะร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤติปี 2540 มากนักและบุคคลที่ดำเนินชีวิตตามแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัดจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ลอยไปตามกระแสคลื่นประชานิยม