เงินชดเชยจ่ายครั้งเดียวจากการออกจากงาน ไม่ควรเสียภาษี

เงินชดเชยจ่ายครั้งเดียวจากการออกจากงาน ไม่ควรเสียภาษี

ประมวลรัษฎากร เรื่องพนักงานลูกจ้างที่ออกจากงานก่อนครบ 5 ปี ต้องเสียภาษีเต็มจำนวน น่าจะมีการพิจารณาใหม่ เพราะไม่เป็นธรรม

และเป็นการซ้ำเติมผู้เดือดร้อนจากการออกจากงาน เพราะมาตรา 40(1), (2) บัญญัติไว้ว่าเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ผู้มีเงินได้สามารถเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ประเภทอื่นได้ตาม ม. 48(5) แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขข้อ 2 ของประกาศอธิบดีสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ลงวันที่ 24 กันยายน 2535 โดย 1. มีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม 2. เฉพาะเงินได้ที่มีการจ่ายภาษีในปีภาษีแรกเท่านั้น และ 3. ผู้มีเงินได้ไม่นำไปรวมคำนวณตาม ม. 48(1) และ (2) ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน นั่นหมายความว่าใครก็ตามที่ที่ทำงานไม่ครบ 5 ปีเต็ม จะต้องนำเงินชดเชยจ่ายครั้งเดียวออกจากงานไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีทั้งจำนวนโดยไม่มีข้อยกเว้น

หลักการนี้ออกมาในสมัยที่มีการทำโครงการเกษียณก่อนกำหนดโดยสมัครใจหรือ early retire ที่องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจมีการปรับโครงสร้างองค์กร ลดขนาดองค์กร ลดค่าใช้จ่ายองค์กรเพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปี 2534-35 ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีปัญหาเช่นว่านั้น แต่มีเรื่องการเปลี่ยนงานของคนรุ่นใหม่ที่นิยมการย้ายงานหลังทำงานมาระยะหนึ่งแล้วต้องการเปลี่ยนงาน หรือองค์กรที่เป็นนายจ้างไม่ต้องการผูกมัดพนักงานให้ทำงานแบบตลอดชีวิตก็หันมาทำสัญญาจ้างระยะสั้นๆไม่เกิน 5 ปีแล้วต่อสัญญาเป็นเทอมๆไป การออกจากงานโดยพนักงานลูกจ้างทำงานไม่ถึง 5 ปีจึงเป็นเรื่องปกติ

ในการกำหนดให้ผู้ออกจากงานก่อนครบ 5 ปีไม่สามารถนำเงินชดเชยมาแยกคำนวณเหมือนผู้ที่ทำงานครบ 5 ปีนั้น เป็นเหตุผลเพราะอะไร ไม่ชัดเจน ทำไมต้องเป็น 5 ปี และการกำหนดเช่นนี้ ทำให้นายจ้างเลี่ยงบาลีโดยทำสัญญาจ้างเป็นเทอมๆละไม่เกิน 5 ปี ทำให้ผู้ที่ออกจากงานต้องเกิดภาระภาษีทั้งๆที่อายุงานอาจต่างจากผู้ทำงานครบ 5 ปีเพียงวันเดียวหรือ 4 ปี 11 เดือน กับ 28, 29, หรือ 30 วัน เกิดผลกระทบต้องจ่ายภาษีทั้งจำนวน ในขณะที่ผู้ทำงานครบ 5 ปี แม้เพียง 1 วันได้รับสิทธิแยกคำนวณไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวนสามารถหักลดหย่อนได้สูงสุดถึง 300,000 บาท ตั้งแต่ปี 2535 ที่อธิบดีสมัยนั้นกำหนดเงื่อนไข 5 ปี จนถึงวันนี้เป็นเวลา 27 ปีแล้ว โลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่เงื่อนไขเรื่องภาษีบางเรื่องเราไม่เปลี่ยน ทั้งๆที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีอย่างมาก

ปกติผู้ที่ออกจากงานนั้นมีทั้งผู้ที่ประสงค์จะเปลี่ยนงานและผู้ที่ถูกให้ออกจากงานทั้งๆ ที่ไม่อยากออก เมื่อองค์กรที่ทำงานมีปัญหาจำเป็นต้องลดขนาดองค์กร การลดจำนวนพนักงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นความจริงที่ยอมรับ แต่ที่ไม่ยอมรับคือ ทำไมรัฐต้องกำหนดให้สิทธิพิเศษเฉพาะคนที่ทำงานครบ 5 ปีเท่านั้นที่สามารถได้รับการลดหย่อนภาษีจากเงินชดเชย ทั้งๆ ที่โดยปกติ ด้วยอายุงานที่มากกว่าน่าจะมีรายได้มากกว่า มีความมั่นคงมั่งคั่งมากกว่า แต่ได้รับสิทธิลดหย่อน ในขณะที่คนทำงานไม่ถึง 5 ปี น่าจะมีรายได้น้อยกว่าเพราะอายุงานน้อยกว่า แต่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน ความเป็นธรรมอยู่ที่ตรงไหน

รัฐโดยกรมสรรพากร น่าจะพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ สิทธิลดหย่อนภาษีที่ได้จากเงินชดเชยนี้อาจทำเป็นระดับขั้นบันไดมากกว่ากำหนดตายตัวที่ 5 ปี ทุกคนที่เกิดมาหนีไม่พ้นสองเรื่องคือความตาย กับภาษี ใครที่ทำงานมีเงินได้ต้องเสียภาษี นั้นถูกต้องแล้ว แต่การกำหนดให้เสียภาษีก็ต้องเป็นธรรมด้วย เพราะถ้าเป็นอย่างนี้จะกลายเป็นว่าคนรวย คนมีรายได้มากกว่า ทำงานมานานกว่า ถูกออกจากงานไม่ต้องจ่ายภาษีทั้งก้อน แต่คนจน คนที่ทำงานได้ไม่นาน ครอบครัวยังต้องดิ้นรน อายุงานไม่ถึงตามที่กฎหมายกำหนด กลับไม่มีสิทธิหักค่าลดหย่อนหรือได้สิทธิเสียภาษีน้อยกว่าคนรวย

อยากให้กรมสรรพากรพิจารณายกเลิกข้อกำหนดทำงานไม่ถึง 5 ปี ต้องเสียภาษีเต็มจำนวนนั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นการเสียภาษีแบบขั้นบันได เช่นไม่เกิน 1, 2, 3, 4, 5 ปี จะได้รับสิทธิทุกคน แต่แตกต่างกันเพราะเหตุอายุงานไม่เท่ากัน แต่ที่ดีที่สุดคือยกเลิกข้อกำหนดเรื่อง 5 ปีนี้ไปเลย เพราะทุกคนจะได้นำเงินได้จากการออกจากงานที่จ่ายให้ครั้งเดียวนี้ไปใช้จ่ายระหว่างหางานใหม่ สังคมต้องได้รับความเป็นธรรมมากกว่านี้

ฝากรัฐบาล นักการเมือง พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งด้วย