อียูคัดกรองทุนจาก ตปท. หวั่นภัยความมั่นคง

อียูคัดกรองทุนจาก ตปท. หวั่นภัยความมั่นคง

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งวางกลไกด้านการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศของอียู

ตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ปรับปรุงและเสนอต่อที่ประชุมสภายุโรปให้มีมติรับรองไปแล้ว เมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ประมาณปลายปี 2563 เป็นต้นไป หรือในอีก18 เดือนข้างหน้า ภายหลังจากที่มีประกาศลงใน EU Official Journal เรียบร้อยแล้ว

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีส่วนร่วมกับชาติสมาชิกในกระบวนการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งมีผลกระทบหรืออาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอียู (national security) ตลอดจนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง (public order) โดยการกำหนดประเภทกิจการที่จะต้องได้รับการตรวจสอบและการจัดทำความคิดเห็นที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลการลงทุนของต่างชาติมีความเข้มข้นมากขึ้นและเป็นการปกป้องความมั่นคงของอียูและการยอมรับของสาธารณชน

ที่มาและพัฒนาการของกฎหมายฉบับนี้

จากการที่อียูเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักลงทุนต่างชาติและเป็นตลาดที่เปิดเสรีมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกทำให้ภายหลังวิกฤติหนี้สาธารณะเมื่อปี 2551 มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอียูจำนวนมาก โดยหลายกรณีอียูมองว่ามิใช่การลงทุนที่เกิดขึ้นจากกลไกทางตลาด ตัวอย่างเช่น กรณีรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลต่างประเทศเข้ามากว้านซื้อบริษัทในยุโรปที่มีเทคโนโลยีใหม่หรือเทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทาง (dual use) ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้เป็นอาวุธได้ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีนาโน รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในทางที่ผิดและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอียูและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้

จากสาเหตุดังกล่าวทำให้บางชาติสมาชิกอียู อันได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี เรียกร้องให้อียูให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความมั่นคงของชาติมากขึ้นและเสนอความคิดริเริ่มในการจัดตั้งกลไกการคัดกรองการลงทุนในระดับอียูเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศสมาชิก เนื่องจากปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอียูเพียง 14 ใน 28 ประเทศที่มีกฎหมายสำหรับการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศบังคับใช้

กฎหมายใหม่นี้จะมีผลในการจัดระเบียบที่สอดคล้องกันในทุกประเทศสมาชิก และวางกฎเกณฑ์การคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศในอียูให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยประเทศสมาชิกยังคงมีอำนาจชี้ขาดในการคัดค้านและปฏิเสธการลงทุนจากต่างชาติได้โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้ประเทศสมาชิกต้องพัฒนากลไกใหม่ในการคัดกรองการลงทุน แต่เป็นการปรับปรุงกลไกที่มีอยู่แล้วและกลไกที่จะเสนอขึ้นใหม่ในอนาคตให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์กลางที่จะต้องใช้เหมือนกันทั่วทั้งอียู ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานเรื่องความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ สามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจอย่างฉับไว การมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลลับ ตลอดจนระบุถึงสิทธิของนักลงทุนที่จะได้รับการเยียวยาจากอำนาจตุลาการในกรณีที่มีข้อพิพาทกับหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น โครงสร้างการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติและแหล่งเงินทุน ตลอดจนเปิดให้คณะกรรมาธิการยุโรปสามารถแสดงความคิดเห็นเรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ และข้อกังวลต่างๆ โดยคณะกรรมธิการยุโรปมีอำนาจให้ความเห็นแนะนำ (Advisory Opinion) ต่อประเทศสมาชิกในกรณีที่มีการร้องขอจากหน่วยงานของประเทศสมาชิก หรือหากคณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่าการลงทุนจากต่างประเทศอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือทำให้ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการศึกษาวิจัยที่อียูกำลังดำเนินการอยู่ อาทิเช่น โครงการ Horizon 2020 โครงการ Galileo หรือ โครงการ trans-European Networks ต้องสูญเสียไป กฎหมายฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อสะท้อนและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีในด้านนโยบายการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย

กิจการที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย

ประเด็นที่น่าสนใจของกฎหมายฉบับนี้ คือการกำหนดลักษณะของกิจการที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย อันได้แก่

1) กิจการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ด้านพลังงาน การขนส่ง การสื่อสาร การจัดเก็บข้อมูล ด้านอวกาศ หรือการเงิน สิ่งอำนวยความสะดวกและกิจการที่มีความอ่อนไหวอื่นๆ

2) เทคโนโลยีที่สำคัญรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หุ่นยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทาง (dual use) ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้เป็นอาวุธได้ ความมั่นคงทางไซเบอร์ เทคโนโลยีด้านอวกาศและด้านนิวเคลียร์

3) ความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายการผลิต เช่น พลังงานและวัตถุดิบที่สำคัญอื่นๆ

4) การเข้าถึงข้อมูลและการควบคุมข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลต่างประเทศด้วย ตลอดจนพฤติกรรมฉ้อฉล ปกปิดต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของภาครัฐ

5) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและพหุนิยมในสื่อ

กฎหมายคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ของ EU มีผลกระทบต่อไทยอย่างไร

แม้กฎหมายเกี่ยวกับการคัดกรองการลงทุนของอียูดังกล่าวจะถูกอ้างว่าเป็นการป้องกันความมั่นคงของอียูและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายฉบับนี้มีนัยเพื่อยับยั้งประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging economies) ที่ต้องการจะพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทคเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเหล่านั้นให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อที่จะรับประโยชน์จากการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก(Global Value Chain) ซึ่งอาจทำให้บริษัทของชาติตะวันตกซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเสียประโยชน์ นอกจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำกระแส Protectionismหรือการปกป้องทางการค้าที่คาดว่าประเทศต่างๆจะนำมาใช้เพื่อสนองนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศกันมากขึ้น

ส่วนผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในอียูคาดว่าน่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการลงทุนของไทยในอียูเน้นขยายการสร้างฐานการผลิตเพื่อเจาะตลาดและสร้างช่องทางการค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยสาขาที่ไทยไปลงทุนคือ เกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งน่าจะไม่เข้าข่ายเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของอียูดังกล่าวข้างต้น แต่โดยที่เทคโนโลยีสำคัญต่างๆ ที่อียูมีความอ่อนไหว เช่น Artificial Intelligence หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีด้านอวกาศ ล้วนเป็นสาขาที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลไทยมุ่งส่งเสริมเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไทยพึงติดตามและดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

ที่มา: http://europa.eu/rapid/press-release_IP-19-1532_en.htm