รู้ได้อย่างไรว่า “มั่นใจเกินไป”

รู้ได้อย่างไรว่า “มั่นใจเกินไป”

คุณลักษณะสำคัญที่สุดอันหนึ่งของผู้นำไม่ว่าในองค์กรขนาดใหญ่หรือเล็ก ในภาครัฐหรือเอกชนหรือแม้แต่ครอบครัวก็คือความเชื่อมั่นในตัวเอง

การตัดสินใจที่เด็ดขาดอย่างแท้จริงในสายตาของเพื่อนร่วมงานมีฐานมาจากความเชื่อมั่นในตัวเองของผู้นำ อีกทั้งมันนำไปสู่การจุดไฟแห่งความเชื่อมั่นในตัวเองของเพื่อนร่วมงานอีกด้วย คำถามก็คือเส้นขีดแบ่งอยู่ตรงไหนระหว่างความเชื่อมั่นในตัวเองกับความเชื่อมั่นในตัวเองเกินไป

ความเชื่อมั่นในตัวเองเกินไปนำไปสู่ความหยิ่งผยองซึ่งผู้ร่วมงาน ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไหนก็ชัง มันทำให้ตนเอง“ตาบอด”เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการเติบโตของตนเองในฐานะผู้นำ ทำให้มองข้ามโอกาสใหม่ๆและสำคัญที่สุดคือนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด

เมื่อเราจมอยู่ในงานวันต่อวันเราจะมองไม่เห็นความมั่นใจเกินไปของตนเอง กว่าจะรู้ก็สายเกินไป นอกจากนี้เราจะซึมซับกับความชื่นชมในการมีความมั่นใจของตนเอง พูดง่ายๆก็คือมันมีโอกาสนำไปสู่ความวิบัติขององค์กรและตัวเองได้ไม่ยากนัก

Dr. Finkelsteinแห่งDartmouth Collegeเขียนหนังสือชื่อ“Superbosses: How Exceptional Leaders Master the Flow of Talent.” (2016)ให้คำแนะนำในการประเมินตนเองว่าเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองเกินไปหรือไม่ด้วยการตอบ4คำถามดังต่อไปนี้ 

คำถามที่ 1  ฉันใช้เวลามากแค่ไหนในการรับฟังคนอื่น?  (การรับฟังในที่นี้หมายถึงได้ยินด้วยคนจำนวนไม่น้อย“ฟัง”แต่ไม่ได้“ยิน” กล่าวคือมันผ่านสองหูโดยขาดการรับรู้และคิดไตร่ตรอง) คนเชื่อมั่นตัวเองเกินไปชอบได้ยินเสียงของตัวเองจึงมักชอบพูดมากกว่าฟัง ในใจของเขานั้นเขาเป็นคนเดียวที่มีคำตอบที่ดีที่สุด ดังนั้นจะไปฟังคนอื่นให้เสียเวลาไปทำไม

คนทั่วไปนั้นไม่คิดว่าสิ่งที่ตนพูดไปนั้นไร้สาระหากเขากำลังถ่ายทอดสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นเลิศ หากต้องการเป็นคนที่ไม่เชื่อมั่นตัวเองเกินไป ต้องพยายามเข้าใจคนอื่นด้วยการตั้งใจฟังและได้ยินด้วย ถ้าจะให้ดีลองอัดเทปเสียงการประชุมและย้อนไปฟังว่าตนเองมีบทบาทมากน้อยเพียงใดในการรับฟังเพื่อนร่วมงาน

การรับฟังคนอื่นอย่างตั้งใจจะทำให้ได้รับข้อมูลและไอเดียดี ๆ จากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะทำให้ตระหนักว่าตนเองมิใช่เป็นคนที่รู้ดีที่สุดและมีคำตอบที่ดีที่สุดเหนือกว่าคนอื่น

คำถามที่ 2 ฉันเป็นคนริเริ่มไอเดียส่วนใหญ่หรือไม่?  เมื่อผู้นำมีลักษณะหยิ่งผยอง ผู้ตามมักจะเงียบ(เฝ้าดูด้วยความขบขันในใจ) และคิดว่าจะเสนอไอเดียใหม่ๆไปทำไมในเมื่อยังไงเสียเขาก็ไม่ฟังและก็ไม่ได้ยินด้วย​

บ่อยครั้งที่ผู้นำปฏิเสธไอเดียใหม่ๆในที่ประชุมอย่างไม่ไตร่ตรองจนผู้ตามและผู้ร่วมงานท้อใจและเบื่อที่จะคิดเสนออะไรใหม่ๆจากประสบการณ์ที่ตนเองพบมา ดังนั้นทุกสิ่งจึงดำเนินไปอย่างที่เคยเป็นมาภายใต้ไอเดียของผู้นำ “yes men and women”จึงเกิดขึ้นภายใต้สภาวการณ์นี้ ถ้าผู้นำมีแนวคิดที่ดีก็โชคดีไปมิฉะนั้นก็พากันเข้ารกเข้าพง

ผู้นำที่ดีจึงต้องให้ความสำคัญและให้เกียรติผู้ตาม ส่งเสริมสนับสนุนการเสนอไอเดีย ไม่ครอบงำด้วยความคิดของตัวเอง พฤติกรรมที่ผิดไปจากนี้บอกได้เลยว่านั่นคือการเชื่อมั่นในตัวเองเกินไป  

คำถามที่ 3 ฉันรู้สึกบ่อยๆ ไหมว่าฉันเป็นคนที่สมาร์ทที่สุดในห้อง?  ผู้บริหารที่เชื่อมั่นตัวเองเกินไปมักชื่นชมความฉลาดของตนเองอย่างเงียบๆหรือไม่ก็คุยโม้ ยามใดที่ลูกค้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนร่วมงานหรือผู้ตามโต้แย้ง เขาก็มักจะคิดว่า“พวกเหล่านี้ผิด ฉันน่ะถูกอยู่แล้ว” สิ่งที่ผู้นำประเภทนี้เกลียดที่สุดคือการถูกขัดคอหรือมีคนไม่เห็นด้วย​​​​

สิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือผู้นำประเภทเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไป เชื่อลึกๆว่าตนเองนั้นมีคุณธรรมที่สูงส่งกว่าจนละเลยมองไม่เห็นอุปสรรค มองไม่เห็นความเสี่ยง เมื่อมีรายงานหรือข้อมูลเข้ามาที่ไม่ถูกใจก็เชื่อว่ามันผิดเพราะวิธีการวิจัยหรือใช้ข้อมูลที่ไม่เที่ยงตรง

คำถามที่ 4 ฉันคิดว่าตัวเองเป็นคนที่หาใครทดแทนไม่ได้สำหรับความสำเร็จขององค์กรหรือไม่ ผู้บริหารที่เชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปมีทางโน้มที่จะเชื่อว่าความสำเร็จของทีมหรือขององค์กรจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีตัวเขา ทัศนคติเช่นนี้จะทำให้เห็นแต่การมีส่วนร่วมของตนเองในความสำเร็จ บทบาทการมีส่วนร่วมของคนอื่นๆจะมีน้อยในใจของเขา เพื่อนร่วมงานและลูกน้องจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ คนรุ่นใหม่ที่มีคุณค่าจะหนีหายไป

การให้เครดิตแก่เพื่อนร่วมงานอยู่เสมอโดยตระหนักอย่างแท้จริงว่าผลงานนั้นเป็นผลพวงจากการทำงานร่วมกันจะทำให้ไม่กลายเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองเกินไป งานวิจัยพบว่าการรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญในองค์กรเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าเงินในการรักษาคนไว้ในองค์กร

ความมั่นใจในตัวเองเป็นเรื่องดี แต่ถ้าข้ามเส้นไปแล้วก็จะเกิดผลเสีย 4คำถามนี้จะช่วยให้ได้คิดว่าตนเองกำลังอยู่ในสถานะใดและควรทำอย่างไร

ความเชื่อมั่นตัวเองคือความเชื่อในตัวเราเอง แต่ถ้าหากเกินเลยไปมันคือการโอ้อวดว่าตนเองเก่งกว่าใครๆ ความเชื่อมั่นในตัวเองนั้นสร้างสรรค์เพราะกระตุ้นและปลุกเร้าใจตนเองและผู้อื่น ในขณะที่การเชื่อมั่นที่ข้ามเส้นคือการทำลาย