Social Enterprise ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก

Social Enterprise ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก

เมื่อปี 2558 ผมมีโอกาสได้ไปร่วมในพิธีปล่อยนกกระเรียนพันธ์ุไทยคืนสู่ธรรมชาติ บริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก 

และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการ “เตรียมความพร้อมเพื่อทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธ์ุไทย จากสภาพเพาะเลี้ยงกลับคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศ” ขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 

โดยได้รับความร่วมมือจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ และมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล สหรัฐอเมริกา โครงการดังกล่าวอยู่ในพันธกิจหลักของงานทางด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าขององค์การสวนสัตว์ ที่ได้รับงบประมาณอย่างต่อเนื่องนานกว่า 7 ปี ทำให้ในปี 2562 ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทย มีจำนวน 99 ตัว ที่ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ มีชีวิตรอดจำนวน 69 ตัว คิดเป็น 69.7 %

นกกระเรียนพันธ์ุไทย ยังจัดเป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามปัจจุบันจำนวนประชากรของนกชนิดนี้เริ่มลดจำนวนลงกลายเป็นสัตว์ป่าหายาก และสูญพันธุ์ไปจากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งในอดีตเคยพบเห็นนกกระเรียนจำนวนมากตามทุ่งนา หนองบึง ทำให้ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของประเทศไทยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และจากรายงานการสำรวจประชากรนกกระเรียนพันธ์ุไทยทั่วโลก พบว่า เหลืออยู่ประมาณ 800-1500 ตัว เท่านั้น

ทั้งนี้ สวนสัตว์นครราชสีมาเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงนกกระเรียนพันธ์ุไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยได้รับบริจาคนกกระเรียนจากประชาชนในบริเวณชายแดนไทย-ลาว-กัมพูชา ในช่วงปี 2532-2540 จำนวน 33 ตัว จนกระทั่งใน ปี 2540 สวนสัตว์นครราชสีมาสามารถเพาะพันธุ์ลูกนกตัวแรกได้ ปัจจุบันมีพ่อแม่พันธ์ุในกรงเลี้ยงประมาณ 90 ตัว และยังสามารถเพาะพันธุ์ได้ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อีกประมาณ 20 ตัว โดยมีอัตราการผลิตลูกนกประมาณ 10-20 ตัว ต่อปี

จากความสำเร็จขององค์การสวนสัตว์ ทำให้มีหลายหน่วยงานให้การสนับสนุน หน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่ กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) ซึ่งให้การสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่กำลังปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินโครงการที่เน้นการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมโลก ในนาม โครงการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธ์สัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลกในพื้นที่ภาคการผลิต (Flora and Fauna project)" ภายใต้การกำกับดูแลของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี (20 ก.ย. 2558-21 ก.ย. 2562) งบประมาณสนับสนุน 1,758,904 ดอลล่าร์

โครงการนี้น่าจะเป็นโครงการ Social Enterprise ที่สมบูรณ์แบบโครงการหนึ่ง เพราะมีลักษณะสำคัญ ได้แก่ มีเป้าหมายทางสังคมและวิ่งแวดล้อม มีรูปแบบการดำเนินการที่มีความยั่งยืนทางการเงิน เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลกำไรกลับคืนสู่สังคม มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล

เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ที่ต้องขอเล่ารายะเอียดตอนต่อไปครับ..