ความคิดก็เรื่องหนึ่ง แต่ความจริงคนละเรื่อง

ความคิดก็เรื่องหนึ่ง แต่ความจริงคนละเรื่อง

ผมเขียนบทความนี้ก่อนหน้าวันตัดสินคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ในวันที่ยังมีการตีความเรื่องลักษณะต้องห้าม ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีคนนำประเด็น “การเป็นเจ้าหน้ที่รัฐ” กับ “การเป็นหัวหน้า คสช.” มาตีความว่าไม่สามารถไปเกี่ยวพันกับกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ได้

เรื่องนี้อธิบายด้วยหลักกฎหมายโดยไม่ใช่มาเอาใจใคร ต้องบอกชัดๆ ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดยกเว้น “การเป็นข้าราชการการเมือง” เอาไว้ แม้ในกฎหมายรองๆ อย่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 หรือกฎหมายอื่น จะนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีไว้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญให้การยกเว้นก็ไม่ต้องไปวิจารณ์กันอีกเพราะ ยืนยันไว้แล้วโดยกฎมายสูงสุดของแผ่นดิน เช่นเดียวกับกรณีตำแหน่ง หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นตำแหน่งที่มีมาแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่มาพร้อมกับการยึดอำนาจของ คสช. และยังรับรองอีกเช่นเดียวกันในบทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับปัจจุบัน จึงใช้หลักเดียวกันในการอธิบายความว่า เมื่อ คสช. เป็นทั้งรัฐาธิปัตย์และอาจอนุโลมว่า คือ ตำแหน่งทางการเมือง ก็ไม่ต้องถกเถียงกันให้เสียเวลา ไม่เช่นนั้นแล้วในอดีตที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีชุดที่อยู่ในตำแหน่งก่อนการเลือกตั้ง คงไม่มีใครไปสมัครหรือทำหน้าที่ในทางการเมืองกระทั่งกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ได้

นี่คือ ตัวอย่างแรกของเรื่องว่าด้วย “ความคิดคนเรา” กับ “ความจริง” มันเป็นคนละเรื่องกันอย่างที่เขียนเป็นหัวเรื่องไว้ สำหรับอีกกรณีที่ถกเถียงกันมากเช่นกันว่า อะไรจะเกิดขึ้นตามมาหลังเหตุการณ์ ที่คาดกันว่า น่าจะมีการ “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ” ซึ่งไม่อยากฟันธงเช่นนั้น แต่ด้วยสายตามุมมองทางกฎหมายที่เห็นองค์ประกอบความผิดครบถ้วน ทั้งการกระทำทั้งเจตนา เหลือแต่ว่า ผลการตัดสินจะเป็นเอกฉันท์หรือไม่เท่านั้น แต่ก็ยังมีคนตั้งคำถามและวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ซึ่งมุมมองทางวิชาการอะไรถูกผิดมีข้อกฎหมายยืนยันให้อยู่แล้ว ไม่อยากให้ใช้จินตนาการหรือความรู้สึกเป็นเครื่องตัดสิน

ในทัศนะส่วนตัวมองว่า หากมีการ “ยุบพรรค” ไทยรักษาชาติ สิ่งที่จะเป็นประเด็นให้ต้องพิจารณามีอยู่หลายกรณี ดังต่อไปนี้

ประการแรก ยุทธศาสตร์ในการแข่งขันเพื่อการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะเปลี่ยนไปทั้งพรรคที่มีแนวโน้มจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคที่คาดว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ในเวลานี้ ถ้าพูดเฉพาะพรรคที่มีคะแนนนิยมและคาดว่าจะได้เสียงสูงสุดยังคงเป็นพรรคที่อาจไม่ใช่พรรคหรือกลุ่มที่พร้อมจะเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่เกือบทุกสำนักก็ยังเชื่อว่า พรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะได้เสียงมากหรือน้อยเท่าใด ก็ต้องอยู่ในฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล เรียกว่า จะไม่มีคำว่า “ฝ่ายค้าน” ปัญหาอยู่ที่ว่า การรวบรวมเสียงในครั้งนี้ น่าจะมีความเป็นไปได้สูงที่ พรรคเดิม รวมทั้งพรรคสาขาอื่นๆ น่าจะถูกโดดเดี่ยว เพราะคะแนนพรรคอื่นๆ รวมกันเมื่อรวมกันจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ก็น่าจะได้เกิน 250 เสียง อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของพรรคดั้งเดิมและพรรคสาขาทั้งหลายว่า จะสามารถโกยคะแนนความนิยมจากประชาชนมาได้มากเท่าใด หากได้ใกล้เคียงกับพรรคหลักและพรรคที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลอื่นๆ แล้ว คงจะเป็นปัญหาให้น่าหนักใจสำหรับทั้งผู้นำรัฐบาลและการบริหารจัดการประเทศของคณะรัฐบาลชุดต่อไป ดังที่เคยพูดตั้งแต่แรกๆ แล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องยาก แต่การบริหารปกครองนั้นเองคือเรื่องที่ยากยิ่งกว่า

ประการที่สอง ภาพของการแข่งขันที่น่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีอดีตผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติอยู่ อาจเกิดปรากฎการณ์ที่ยากคาดเดา แต่ทึ่เคยเห็นมาในพื้นที่ซึ่งผู้สมัครสูสีกันมากแล้วอีกฝ่ายถูกตัดสิทธิไปในสนามเลือกตั้ง ปรากฏว่าบรรดาคะแนนจัดตั้งทั้งหลายถูกเทไปให้กับผู้สมัครที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเข้ามาเป็น ส.ส. ได้ เรียกว่าเหมือนบุญหล่นทับให้กับผู้สมัครรายนั้นไป แต่ต้องเข้าใจว่าโอกาสเช่นนี้อาจมีไม่มาก เพราะพรรคเพื่อไทยเอง ได้จัดแบ่งผู้สมัครแบบเขต เอาไว้เหมือนการจัดสรรปันส่วนให้กับพรรคสาขาของตนเองอยู่ค่อนข้างชัดเจน นั่นหมายถึง ในเขตใดที่มีพรรคไทยรักษาชาติก็อาจไม่มีทั้งเพื่อไทยและพรรคสาขาอื่นๆ ในเขตนั้น การจะไปหวังพึ่งพรรคอื่น คงยาก ดังได้เรียนแล้วว่า พรรคอื่นคงมีน้อยที่จะมาร่วมกับพรรคที่มีแนวโน้มคล้ายถูกโดดเดี่ยวเช่นนี้

ประการที่สาม ปัญหาของคะแนน Vote No หรือการแสดงเจตนาไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ผู้ใด อาจเป็นทางเลือกที่บางฝ่ายนำมาใช้เพื่อยืดเวลาการจัดตื้งรัฐบาลออกไป เพราะหากยังได้ สส ไม่ถึงร้อยละ 95 ก็จะไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้ การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็จะทำไม่ได้ รัฐบาลเดิมไม่มีอะไรเสียก็รักษาการณ์ต่อไป แต่ยุทธวิธีนี้อาจทำให้บรรดา สส ที่แตกกระสานซ่านเซ็นออกไปของพรรคไทยรักษาชาติ อาจเตรียมไปสมัครเป็นสมาชิกอยู่ในพรรคที่ยังมีสถานะเป็นพรรคเการเมืองพื่อให้ครบเก้าสิบวันตามกฎหมาย

ประการที่สี่ กรรมการบริหารพรรคหากถูกตัดสิทธิทางการเมืองจะทำอะไรต่อไป นั้นต้องดูคำวินิจฉัย เพราะหากผิดจริงด้วยข้อหาที่ร้ายแรงย่อมถูกตัดสินด้วยโทษที่ร้ายแรง คือ การตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ แต่หากมีเหตุอันควรปราณีก็ต้องพิจารณาว่าศาลจะใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ อย่างไร ซึ่งหากมีการยบพรรคและตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตื้งจริง กรรมการบริหารพรรค ก็ต้องมีความระมัดระวังในการเข้ามาเกี่ยวพันกับกิจกรรมทางการเมือง เพราะการเข้าไปยุ่งเกี่ยวเช่น การไปจัดตั้งพรรค หรือ ทำกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างถูกห้ามไว้โดยกฎหมาย มีทั้งโทษปรับและจำคุก

จึงขอย้ำให้ทราบว่า ความคิดจินตนาการของคนเรานั้นยากจะห้ามกันได้ แต่เมื่อหันกลับมาดูโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่คิดที่เห็นอาจไม่ใช่เรื่องจริง แต่ของจริง คือ สิ่งที่ไม่ว่าท่านจะพอใจหรือไม่มันคือความจริงที่อยู่เบื้องหน้าของท่านทั้งหลาย