อย่าให้การป่วยออนไลน์กระจายมาสู่โลกจริง

อย่าให้การป่วยออนไลน์กระจายมาสู่โลกจริง

โลกออนไลน์ช่วงนี้เดือดง่ายมาก ขณะที่เรากำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งซึ่งเชื่อกันว่าจะพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ก็ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่ง

ที่มุ่งมั่นจะเผยแพร่ความเกลียดชังผ่านโลกออนไลน์ มีอาการขาดภูมิคุ้มการเสพข่าวลวง แชร์โดยไม่ทันจะคิด แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำรุนแรง ประชด เหยียดหยาม เพื่อเอาชนะกัน มากกว่าจะใช้เหตุใช้ผล ใช้ข้อมูลมาพูดคุยเพื่อให้ได้เป็นเรื่องราวได้รอบด้านมากขึ้น

อาการป่วยออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บป่วยที่ซ่อนอยู่ของสังคม เมื่อใดเกิดปัญหาสังคมเกิดขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจมักตกเป็นจำเลยอันดับแรก เพราะเชื่อกันว่า การพัฒนาเศรษฐกิจทำให้มีการแข่งขันกัน ต่างคนต่างก็สนใจแต่เรื่องของตนเองเป็นหลัก สังคมที่เคยอยู่กันอย่างอบอุ่นเปลี่ยนสภาพไปเป็นสนามรบย่อย ๆ ความมีน้ำจิตน้ำใจหายไป เงินกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ความเครียดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คนจึงเลือกเอาความเกลียดชัง ความเจ็บปวด มาระบายลงในโลกออนไลน์

มิหนำซ้ำ ที่ผ่านมา นักการเมือง ข้าราชการ หรือแม้แต่ประชาชนอย่างพวกเราเอง ก็ให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมน้อยกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาสังคมไม่ใช่ปัญหาสำคัญทางการเมือง การแก้ปัญหาวัยรุ่นตีกันตาย ปัญหางานบวชเสียงดัง ปัญหาครูรังแกนักเรียน ไม่ได้ส่งผลต่อคะแนนนิยมการแก้ปัญหาดุลการค้า ปัญหานักเรียนขายตัวไม่สำคัญเท่าการกระตุ้นจีดีพี ปัญหาครอบครัวแตกแยกไม่ใช่เรื่องเท่ากับการเจรจาการค้าการลงทุน การจับรถซิ่งไม่ได้ช่วยให้ก้าวหน้าในอาชีพเหมือนการสืบคดีทางการเมือง การช่วยเหลือชุมชนไม่สำคัญเท่ากับการรีบกลับไปดูละครที่บ้าน การใช้สิทธิทางการเมืองเพื่อควบคุมพฤติกรรมนักการเมืองสำคัญน้อยกว่าการไปเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า เมื่อสมาชิกของสังคมมีความคิดเช่นนี้ ก็เท่ากับปล่อยให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปตามบุญตามกรรม พอมีข่าวขึ้นมาก็หันหน้ามาคุยกันพอเป็นพิธีแล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป

สาเหตุที่ปัญหาทางสังคมได้รับความสนใจน้อยกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจอาจเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ปัญหาสังคมไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ ต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองโดยไม่ได้ประสานงานกันทั้งในภาพรวมและในระดับชุมชน

โดยธรรมชาติแล้ว ปัญหาสังคมไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่มีการก่อตัวขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ใช้เวลานานกว่าจะแสดงออกมาอย่างชัดเจน อาการป่วยทางสังคมเห็น จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสาเหตุเพียง 2 - 3  อย่างเหมือนอาการป่วยทางเศรษฐกิจ เลยระบุที่มาได้ยาก พอไม่รู้จะเริ่มกันตรงไหน การแก้ปัญหาจึงเป็นการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน เน้นเฉพาะการแก้ปัญหาระยะสั้น แบบผักชีโรยหน้า

เมื่อใดที่ปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคมเกิดขึ้นพร้อมกัน การแก้ปัญหาทางสังคมมักกลายเป็นประเด็นรองเสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมคือรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานทางสังคมที่ง่อนแง่นอาจจะเติบโตต่อไปได้ แต่การเติบโตแบบนี้มีความเสี่ยงสูงมาก หากเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นโดยไม่มีโครงสร้างทางสังคมที่เข้มแข็งมาเป็นเบาะรองรับ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะรุนแรง ดีไม่ดี ความเสียหายที่ตามมา อาจจะมากกว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เสียด้วยซ้ำ

ในทางตรงกันข้าม หากสังคมเข้มแข็ง ต่อให้รายได้ต่อหัวไม่สูงที่สุดในโลก เศรษฐกิจไม่ได้โต 8% เศรษฐกิจของประเทศก็ยังมีความมั่นคง คนในประเทศอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากกว่าเดิม เมื่อประสบปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ก็ยังอุ่นใจได้ว่า อย่างไรเสีย ปัญหาคงไม่บานปลายจนยากเกินกว่าการควบคุม

หากมองในแง่การเมืองแล้ว ปัญหาสังคมไม่ใช้สินค้าหลักของนักการเมืองที่มาเสนอขายให้กับประชาชนเหมือนกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมนโยบายของแทบทุกพรรคคงออกมาแนวเดียวกัน เป็นสูตรสำเร็จเกี่ยวกับการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความผาสุกของสังคม อาจแตกต่างกันบ้างก็ในรายละเอียดปลีกย่อย

ถ้าถูกนักข่าวถามเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าผู้สมัครคนไหนก็ตอบได้เป็นฉากๆ แต่พอพูดถึงนโยบายทางสังคม เราจะได้ยินคำตอบเป็นสูตรสำเร็จ ให้โอกาส” “ช่วยคนแก่คนจน” “ให้การศึกษาเป็นต้น แต่ไม่ค่อยบอกว่าจะแก้ปัญหาที่ยกมาอย่างไร และแทบจะตอบไม่ได้เลยว่าเหตุใดปัญหาทางสังคมเหล่านี้ถึงเป็นเรื่องสำคัญในเมื่อบ้านเมืองเรามีปัญหาทางสังคมตั้งมากมาย

ขนาดกรอบของนโยบายยังไม่สมดุล แล้วคาดหวังว่าจะสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้นจริงๆ ได้อย่างไร?

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราต้องแสดงออกให้นักการเมืองรู้ว่า ปัญหาสังคมคือสินค้าทางการเมืองที่สำคัญ และมีผลต่อการตัดสินใจว่าเราจะเลือกหรือไม่เลือกใคร ส่วนตัวของพวกเราเองก็ต้องคอยดูแลกัน ไม่ปล่อยให้ความเกลียดชังที่เพ่นพ่านอยู่ในโลกออนไลน์ระบาดออกมาในโลกจริง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น รอยร้าวทางสังคมที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงมากจนเกินกำลังจะเยียวยา