Social host liability

Social host liability

อุบัติเหตุจราจรในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการคาดการณ์ว่าหากไม่มีมาตรการในการแก้ไข

มูลค่าการสูญเสียจะสูงถึง 300,000 ล้านบาทต่อปี โดย 40% ของผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากอุบัติเหตุ มีสาเหตุมาจากการขับขี่ขณะเมาสุรา สุราจึงเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุจราจร นอกจากนี้ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังก่อปัญหาต่อสุขภาวะทางกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญาของประชากรไทย โดยส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้บริโภคเองรวมไปจนถึงบุคคลรอบข้าง รวมทั้งชุมชน สังคม และประเทศที่ต้องมีส่วนแบกรับภาระจากผลกระทบที่ตามมาอีกด้วย

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันพบว่า มีปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยของประชากรไทยและจำนวนนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการดื่มแอลกอฮอล์ได้กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นและมีรูปแบบการบริโภคที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ตลอดจนตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในมิติของปริมาณและมูลค่า และมีผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรไทยเข้าถึงเครื่องดื่มประเภทนี้ได้ง่ายมากขึ้น และรับรู้ถึงการโฆษณาเครื่องดื่มประเภทดังกล่าวได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

จากที่กล่าวมาข้างต้นได้นำไปสู่คำถามที่ว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับใดที่ก่อให้เกิดความรับผิดกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุรา ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งแบบที่มีที่นั่งดื่ม เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ และร้านอาหาร และแบบไม่มีที่นั่งดื่มเช่น ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ให้บริการหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้เยาว์หรือผู้ที่มึนเมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ (หรือที่เรียกความรับผิดประเภทนี้ว่า “social host liability) หรือไม่ เพื่อเป็นการรักษาสมดุลระหว่างการแสวงหากำไรจากยอดขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย และความปลอดภัยของผู้บริโภครวมไปจนถึงบุคคลภายนอกที่อาจได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ที่มึนเมาได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องปรามผู้ขาย โดยกำหนดโทษสำหรับการขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 39) และการขายสุราให้คนเมาที่ครองสติไม่ได้ (มาตรา 40) แต่การห้ามขายนอกช่วงเวลาอนุญาตบังคับใช้ได้ผลเฉพาะห้างขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อ เพราะผู้ซื้อสามารถหาซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีอยู่ทั่วไปได้ ชี้ให้เห็นว่าการบังคับใช้ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ส่วนการห้ามขายเพิ่มให้ผู้ที่มึนเมาครองสติไม่ได้นั้นกฎหมายเอาผิดในแง่ขายเพิ่ม 

ปัจจุบันไม่มีคดีที่ผู้ขายขายให้บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้แต่อย่างใด จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าแม้มีโทษกำหนดไว้แต่เจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ทั่วถึงเพียงใด เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย แต่ร้านอาหาร ร้านเหล้า ร้านค้าปลีกมีมาก การตรวจตราและจับกุมผู้กระทำความผิดจึงมีต้นทุนสูง อีกทั้งคำว่า “มึนเมาจนครองสติไม่ได้” ไม่มีนิยามชัดว่ามีอาการอย่างไร มึนเมามากแล้วเพียงใดที่ผู้ขายต้องไม่ขายเพิ่ม จึงทำให้การบังคับกฎหมายข้อนี้ทำได้ยาก

ในประเทศสหรัฐ มีการบัญญัติกฎหมาย Dram Shop Laws ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุราต้องรับผิดชอบเมื่อมีการให้บริการหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้เยาว์หรือผู้มึนเมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต่อมาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ เนื้อหาในกฎหมาย Dram Shop Laws มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละมลรัฐ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์การบังคับใช้และความรับผิดชอบของร้านค้าตามสถานการณ์และในระดับที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ได้รับอนุมัติจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละรัฐ หลักเกณฑ์นี้ใช้กับทุกธุรกิจที่ขายหรือให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งรวมถึงร้านอาหาร บาร์ ร้านขายเหล้า ร้านเหล้าในสนามกีฬาด้วย

ดังนี้ การมีกฎหมายในลักษณะที่เป็น Social Host Liability ของต่างประเทศจึงช่วยให้บุคคลที่สามที่ตกเป็นเหยื่อของบุคคลที่มีพฤติกรรมเมาสุราสามารถยื่นฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากพนักงานเสิร์ฟ ร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้เยาว์หรือผู้ที่เมาสุราอย่างเห็นได้ชัดได้ โดยไม่ตัดโอกาสของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อที่จะฟ้องร้องบุคคลที่มีพฤติกรรมเมาและอาจได้รับการเยียวยาความเสียหายจากทั้ง 2 ฝ่าย หากประเทศไทยจะแสวงหามาตรการเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สามารถรับมือกับปัญหาการเพิ่มมากขึ้นของอุบัติเหตุอันเกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจพิจารณาตัวอย่างกฎหมายดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาข้างต้น เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพต่อไป

โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์