มุมมองค่าเงินบาท...อ่อนหรือแข็งค่า

มุมมองค่าเงินบาท...อ่อนหรือแข็งค่า

ประเด็นที่ดิฉันคิดว่ากำลังอยู่ในความสนใจของนักลงทุนส่วนใหญ่ในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง "ค่าเงินบาท"

เนื่องจาก การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท จะมีผลกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุน ทั้งในภาคการเงิน การลงทุน และภาคเศรษฐกิจจริง ผ่านมูลค่าการส่งออกและนำเข้า

นับตั้งแต่ต้นปี 2019 เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินดอลลาร์ โดย ณ วันที่20 ก.พ. เงินบาทได้ทำสถิติแข็งค่าที่สุดเมื่อเทียบสกุลเงินดอลลาร์ ประมาณ 3.83% ซึ่งแข็งค่าเป็นอันดับที่ 1 ในภูมิภาคเอเชีย โดยในช่วงนั้นดอลลาร์อ่อนค่าลง เนื่องจาก Fed ได้ส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น (Dovish)

โดย Fed ระบุว่า จะใช้ความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าจะพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก (Data Dependent) และ Fed พร้อมที่จะพิจารณาใหม่เกี่ยวกับการปรับลดการถือครองพันธบัตรในงบดุลของ Fed หากมีความจำเป็น

นอกจากนี้ ดอลลาร์ ยังอ่อนค่าลงจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ชัตดาวน์หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ และ ความวิตกกังวลเกี่ยวแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า อยู่ที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ ลดลงจาก 3.7% ที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว

สำหรับปัจจัยสนับสนุนค่าเงินบาทมาจาก ความต้องการถือครองเงินบาทในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก เสถียรภาพทางด้านต่างประเทศของไทยแข็งแกร่ง เช่น ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2019 จนถึงปัจจุบัน เงินบาทได้อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ประมาณ 2.44%เนื่องจาก การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความคืบหน้ามากขึ้น

นอกจากนี้ ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนก.พ.ที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ซึ่งดิฉัน เห็นว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อในระยะสั้น เนื่องจาก แรงขายทำกำไร หลังในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทได้แข็งค่าเทียบดอลลาร์ สรอ.ค่อนข้างมาก ใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติส่งเงินกลับไปยังประเทศตน (ประมาณเดือน เม.ย.-พ.ค.)

นักลงทุนยังคงกังวลต่อปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ เงินยูโรที่มีแนวโน้มอ่อนค่า จากตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนที่ส่งสัญญาณชะลอตัว ยังส่งผลให้เงินดอลลาร์ กลับมาแข็งค่าขึ้นด้วย สำหรับสัปดาห์นี้ นักลงทุนรอติดตามการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ซึ่งหากออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นได้

สำหรับมุมมองระยะยาวนั้น ดิฉันเห็นว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเทียบเงินดอลลาร์  โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB-EIC) ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์  ในปี 2019 แข็งกว่าค่าเฉลี่ยในปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 32.3 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากการที่ Fed มีแนวโน้มดำเนินนโยบายที่ dovish มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน และเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มชะลอลงขณะที่เงินหยวนอาจแข็งค่าขึ้นได้ หากสงครามการค้ามีแนวโน้มคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2019

นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังคงเกินดุลในระดับสูงที่ประมาณ 6.30% ต่อGDP ตามการขยายตัวของการส่งออกไทยและการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีแนวโน้มไหลกลับเข้าสู่ตลาดทุนของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หลังความเชื่อมั่นมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น (risk-on sentiment) และ P/E ratio ปรับต่ำลงมามาก ทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ความต้องการเงินบาทน่าจะมีมากขึ้นต่อไป

สำหรับส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยและสหรัฐฯ ปัจจุบันได้ลดลงอยู่ในดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น และมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนไม่มากนัก