อินเดียเร่งเครื่องสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว”

อินเดียเร่งเครื่องสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว”

หลายปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของอินเดียไม่สู้ดีนัก ภาพมลพิษที่ปกคลุมหลายพื้นที่ในอินเดีย

ขยะพลาสติกในแหล่งน้ำ กลายเป็นภาพที่คุ้นตาและเสมือนว่ายากเกินจะเยียวยาให้สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอินเดียที่สะอาด ปราศจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ไม่นิ่งนอนใจที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ปรับภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร ผ่านนโยบาย “เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) จากจุดยืนในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 21 (COP 21) ว่าจะปรับอินเดียจากประเทศผู้ปล่อยมลพิษอันดับที่ 3 ของโลก สู่ประเทศแนวหน้าที่จะลดมลภาวะ โดยควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก ลดการใช้พลังงานถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิง พร้องทั้งรับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - UNEP) ได้มอบรางวัล “2018 Champions of the Earth Award” ให้แก่นายกโมดี จากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอินเดีย อาทิ มาตรการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในอีก ๓ ปีข้างหน้า

ในการนี้ รัฐในอินเดียตะวันตก เช่น รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) และ รัฐคุชราต (Gujarat) ต่างตอบสนองนโยบายของรัฐบาลกลางที่จะขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว ดังนี้

การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle - EV)

ในปี 2561 รัฐบาลตั้งเป้าให้อินเดียเป็นประเทศแห่งยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Nation) และ Ministry of road transport and highways ได้มีนโยบาย “Electrical Vehicle Policy” เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การนำเข้าน้ำมัน ลดมลพิษทางอากาศ ตลอดจนผลักดันให้อินเดียมีการใช้รถ EV ไม่น้อยกว่า  30% ของรถยนต์ทั้งหมดบนท้องถนน ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และมียอดจำหน่ายรถ EV 4% ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมดภายใน 5 ปีข้างหน้า มาตรการดังกล่าวเป็นผลให้บริษัทผลิตยานยนต์รายใหญ่ของอินเดีย อาทิ Mahindra & Mahindra, TATA และบริษัทต่างชาติในอินเดียที่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐมหาราษฏระ และรัฐคุชราต ได้มีมาตรการเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลกลางอย่างรวดเร็วและเห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนี้

รัฐมหาราษฏระ มีนโยบาย “Electrical Vehicle Policy 2018” เพื่อ 1) เป็นศูนย์กลางการผลิตและการใช้รถ EV รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกรถ EV และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ เช่น แบตเตอรี่ และอุปกรณ์สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้า 2) ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต และเพิ่มทักษะแรงงานอินเดีย และ 3) สนับสนุนระบบขนส่งที่ยั่งยืนด้วยรถ EV ซึ่งมีแผนให้รถยนต์ขนส่งสาธารณะในเมืองขนาดใหญ่ อาทิ มุมไบ ปุเณ เอารังคาบาด เป็นรถ EV ทั้งหมด เหล่านี้จะเป็นผลให้รัฐมหาราษฏระมีรถ EV ประมาณ 5 แสนคัน และมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 125 พันล้านบาท รวมทั้งสร้างงานเพิ่ม 1 ล้านตำแหน่ง

ภายใต้นโยบายข้างต้น รัฐมหาราษฏระให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในอุตสหากรรมรถ EV และผู้บริโภค โดยในส่วนของภาคการลงทุน การลงทุนขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย หรือ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprises) จะได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ขณะที่ผู้บริโภคได้สิทธิรับเงินคืนภาษีจากการซื้อรถ EV และยกเว้นการจัดเก็บภาษีบางประเภท รวมทั้งยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนยานยนต์

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันคนอินเดีย และผู้ให้บริการเช่ารถไม่ประจำทาง เช่น UBER เลือกใช้รถ EV มากขึ้น แต่ก็ยังติดปัญหาสถานีชาร์จไฟฟ้ามีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และใช้เวลานานในการชาร์จแต่ละครั้ง ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนกลับไปใช้รถเติมน้ำมัน ในการนี้ รัฐมหาราษฏระจึงชักจูงภาคเอกชนจัดตั้งสถานีชาร์จในจุดต่าง ๆ ทั่วเมืองมุมไบ ซึ่งบริษัท TATA Power ได้จัดตั้งสถานีชาร์จแห่งแรกของประเทศที่เมืองมุมไบ และมีแผนขยายอีก 100 สาขาทั่วรัฐมหาราษฏระ

รัฐคุชราต เช่นเดียวกับรัฐมหาราษฏระ ได้มีนโยบาย “Electrical Vehicle Policy” และค่ายรถยักษ์ใหญ่ท้องถิ่นและต่างชาติที่มีฐานการผลิตในรัฐคุชราตต่างขานรับนโยบายของรัฐบาลกลาง โดยเพิ่มการผลิตรถ EV และแบตเตอรี่ โดยโรงงาน Suzuki Motor ในรัฐคุชราต มีแผนลงทุนผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion โรงงาน MG Motors, Fords, และ TATA มีแผนผลิตรถ EV หลายรุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ โรงงาน TATA ในรัฐคุชราต ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถ TATA Nano รถยนต์ขนาดเล็กที่สุดในโลก จะเริ่มผลิตรถยนต์รุ่นเดียวกันในระบบ EV

รัฐบาลของหลายรัฐ รวมทั้งรัฐคุชราตและรัฐมหาราษฏระ ได้จัดซื้อจัดจ้างรถ EV ผ่าน บริษัทรัฐวิสาหกิจ Energy Efficiency Services Limited (EESL) ซึ่งค่ายรถท้องถิ่นที่ชนะการประมูลดังกล่าว ได้แก่ TATA Motors และ Mahindra & Mahindra ได้เริ่มส่งมอบรถยนต์ EV ให้แก่หน่วยงานภาครัฐแล้ว

การงดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก

หลังจากที่รัฐบาลกลางได้ประกาศมาตรการ “Swachh Bharat Mission” หรือ “Clean India” เมื่อ 2 ต.ค. 2557 โดยตั้งเป้าให้อินเดียเป็นประเทศที่สะอาด และปลอดขยะ ภายในปี 2562 หลายรัฐ ในอินเดียตื่นตัวและออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณขยะ และให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการงดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษ และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วมขังในเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งหลายรัฐในอินเดียตะวันตกได้มีนโยบายลดขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก ดังนี้

รัฐมหาราษฏระ เมื่อ 23 มี.ค. 2561 รบ. รัฐมหาราษฏระประกาศการงดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะจากพลาสติก และสนับสนุนให้มีการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผลจากมาตรการดังกล่าว เห็นได้ว่าร้านค้าลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถึงหลอดพลาสติก ประชาชนสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐ อย่างไรก็ดี โดยที่ผู้ประกอบการอินเดียไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนนี้ ทำให้ขาดทักษะในการผลิตบรรจุภัณฑ์รักษาสิ่งแวดล้อม และพึ่งพาการนำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกในท้องตลาดมีไม่มาก และราคาสูง

รัฐคุชราต รัฐกัว และรัฐมัธยประเทศ ได้ประกาศงดการใช้ถุงพลาสติก ความหนาต่ำกว่า 50 ไมครอน และจัดตั้งระบบรับซื้อคืนสำหรับขวดน้ำพลาสติก

โอกาสของไทย

- การลงทุนของไทยในอินเดียตะวันตก เป็นโอกาสของบริษัไทยที่จะเป็นหุ้นส่วนกับอินเดียด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนไทยหลายบริษัทได้เริ่มเจรจากับหุ้นส่วนอินเดีย เพื่อร่วมลงทุนด้านบรรจุภัณฑ์ในอินเดียโดยใช้เทคโนโลยีของไทยแล้ว ขณะเดียวกัน บริษัท ITD Cementation India ได้ร่วมประมูลเพื่อก่อสร้างโรงงานจัดการขยะเพื่อแปรรูปเป็นพลังงานสะอาดในเมืองมุมไบเช่นกัน

- การลงทุนของอินเดียในไทย กระแสผู้บริโภคที่หันมานิยมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมีแนวโน้มมากขึ้น ผู้ผลิตก็เริ่มพัฒนากระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นักลงทุนอินเดียเริ่มสนใจลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริมการลงทุนซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0

- การขยายตลาดสินค้าบรรจุภัณฑ์ของไทย โดยที่หลายรัฐเริ่มงดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก อีกทั้งล่าสุดหน่วยงานกำกัดดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย (Food Safety and Standards Authority of India – FSSAI) จะออกมาตรการงดการใช้พลาสติกรีไซเคล หรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารบรรจุอาหาร โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 2562 จึงเป็นโอกาสของบริษัทเอกชนไทยในการนำเสนอสินค้าและร่วมทุนการผลิตกับคู่ค้าอินเดียด้านอุตสาหกรรมและการค้าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดย... 

นางสาวมีนา กลการวิทย์

กงสุล ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ