เทรนด์สำคัญออกแบบ พัฒนาอสังหาฯ 2019-2030

เทรนด์สำคัญออกแบบ พัฒนาอสังหาฯ 2019-2030

เมื่อคราวที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่อง PM2.5 เรื่องใหญ่ที่มากับอนุภาคขนาดเล็ก รวมถึงแนวทางในการป้องกันและลดผลกระทบจากการดำเนินงาน

ในมุมมองของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานและกำกับการดำเนินงานในการก่อสร้างกันไปแล้ว ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้คงได้ยินข่าวเรื่องนวัตกรรมเชิงนโยบายในการร่วมแรงร่วมใจในการติดตาม ดูแล และป้องกันของภาคส่วนอื่นๆ กันหนาหูขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากภาครัฐ คือ เรื่องการให้หยุดการเรียนการสอนเมื่อระดับคุณภาพอากาศอยู่ในช่วงวิกฤติเพื่อป้องกัน รวมทั้งการฉีดละอองน้ำจากอาคารชุดพักอาศัยและอาคารสำนักงานของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และนิติบุคคล ถือได้ว่าวิกฤติมลภาวะทางอากาศในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความต้องการและความจำเป็นในการออกแบบอย่างยั่งยืน (Green Design) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เทรนด์ที่สำคัญในการออกแบบและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2019-2030

การออกแบบอย่างยั่งยืน (Green Design) หรือ การออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ หรือ แนวคิดการออกแบบที่เชื่อมโยงคนกับธรรมชาติ (Biophilia) เช่น การออกแบบสวนแนวตั้ง (Green Wall) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการ การใช้แสงสว่างจากธรรมชาติแทนการใช้ไฟฟ้าแสงสว่าง ซึ่งผู้บริโภคสัมผัสและเข้าใจได้ง่าย รวมถึง แนวคิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ในการออกแบบทั้งกระบวนการ โดยเฉพาะการเลือกวัสดุ การผลิต อายุของวัสดุ การทำลาย การนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณค่าที่สามารถนำมาเป็นเรื่องเล่าประกอบการขายการตลาดได้ 

นอกจากนั้นยังมีมาตรฐานสำคัญที่ได้รับการพัฒนาและยอมรับจากนานาชาติเช่น Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) ของสหรัฐอเมริกา หรือ Green Mark ของสิงคโปร์ และในประเทศไทยเองก็มีสมาคมอาคารเขียวไทยที่ได้พัฒนาเกณฑ์ความยั่งยืน Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability (TREES) ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย รวมถึง Building Energy Code (BEC) ที่กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ศึกษาและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารโดยมีคะแนนในการวัดชัดเจน ด้วย Green Design Standard เหล่านี้เองที่ทำให้เห็นถึงการประหยัดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาวได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย 

เทรนด์ต่อมา คือ การออกแบบการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ขนาดเล็ก (Small Space Utilization) เนื่องจากราคาที่ดินและต้นทุนการพัฒนาที่พุ่งสูงขึ้นทำให้พื้นที่ต่อหน่วยพักอาศัยจะมีขนาดเล็กลง การออกแบบและพัฒนาพื้นที่ขนาดย่อมให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งผู้อยู่อาศัยเองและเพื่อการลงทุนเป็นเรื่องท้าทายและต้องการการเอาใจใส่ในรายละเอียดมาก จากการศึกษาพบว่ามีแนวคิดสำคัญ 3 แนวคิดที่ช่วยให้การออกแบบพื้นที่ขนาดเล็กเป็นเรื่องที่สนุกและตอบสนองผู้อยู่อาศัยได้ดี คือ 

(1) ปรับใช้พื้นที่ได้ง่าย (Dynamic Space) คือ การออกแบบพื้นที่ให้สามารถปรับเปลี่ยนหรือตกแต่งได้ตามความต้องการ หรือการออกแบบที่โปร่งโล่ง มีส่วนกั้นน้อย และปรับแต่งด้วยผนังเบา และ (2) ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายได้และใช้งานได้หลายอย่าง (Do-more Furniture) เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามความเหมาะสมและผสมผสานการใช้งานหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น เตียงนอน โต๊ะทำงาน และที่เก็บของ ซึ่งมีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน (3) ใส่ความเป็นตัวตน (Personalization) ในพื้นที่ขนาดเล็กที่ทุกอย่างแทบจะเป็นมาตรฐาน ถ้าเพิ่มรายละเอียดการตกแต่งที่ผู้บริโภคสามารถ “เลือก” เพิ่มเติมได้จะทำให้พื้นที่นั้นกลายเป็นพื้นที่ที่ออกแบบมาเฉพาะเขาเท่านั้น เช่น แพทเทิร์นบานตู้เสื้อผ้า ลายวอลเปเปอร์ที่ผนัง แม้กระทั่งมือจับ หรืออุปกรณ์ที่ผู้ซื้อสามารถซื้อเพิ่มและปรับเปลี่ยนเองได้ จะช่วยให้ได้ทั้งคุณค่าและมูลค่ากับโครงการไปด้วย ยังเหลือเทรนด์การออกแบบและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญในปี 2019-2030 อีก 2 เทรนด์ที่จะมาขยายความให้ฟังในครั้งถัดไปครับ