สิ้นหวัง

สิ้นหวัง

เลือกตั้งหนนี้สะท้อนความอ่อนแอของระบบพรรคการเมืองไทย ตลอดจนองคาพยพต่างๆ ในทางการเมือง และองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างแจ่มชัดยิ่ง

พรรคในปีกไม่เอา “บิ๊กตู่” กำลังจะหมดอนาคตอย่างน้อยๆ 2 พรรค คือไทยรักษาชาติ จากที่พยายามเล่นใหญ่ เดินเกม “บิ๊กเซอร์ไพรส์” กับพรรคเพื่อชาติที่มีปัญหาภายใน แฉกันเองด้วยข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงนำไปสู่การยุบพรรค แถมยังสิ้นไร้ไม้ตอกถึงขนาดที่ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ต้องออกมาบ่นดังๆ คงหวังให้ได้ยินถึงแดนไกล

ทั้งสองพรรคปิดเกมตัวเองด้วยสนิมแห่งเนื้อในตน โทษผู้มีอำนาจไม่ได้ แถมยังสะเทือนถึง “เพื่อไทย” ต้นตระกูลของ “พรรคตระกูลเพื่อ” ในยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พัน” เพราะเหลือเขตที่ส่งผู้สมัครแค่ 250 เขต จน “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ต้องปั่นคะแนนขอให้ทุกเขตชนะเกิน 7 หมื่น ซึ่งเป็นไปไม่ได้

แถมพรรคเพื่อไทยเองก็มีปัญหาภายใน ดูดีแค่ภาพ แถมยังต้องมองไกลๆ (เหมือนพวกสวยร้อยเมตร) แคนดิเดตนายกฯ 3 คนก็มีมือดีปล่อยข่าวบางคนกำลังถูกหลอกใช้

ฟากฝั่งที่หนุน “บิ๊กตู่” นั้นเล่า หัวหอกอย่างพรรคพลังประชารัฐ จนป่านนี้ยังจัดระบบบริหารจัดการภายในไม่เสร็จ การชูคนที่เป็นนายกฯ แถมยังควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. หาใช่ความได้เปรียบทางการเมือง แต่เป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะโดนสอยเมื่อไรก็ไม่รู้

คำว่า “โดนสอย” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า กกต. หรือองค์กรอิสระองค์กรไหนจะหาญกล้า แต่หมายถึง “ถูกสอย - ถูกดิสเครดิต” ในสายตาประชาชน เพราะยุคนี้ข้อมูลข่าวสารมีมากล้น และปิดกันไม่มิด รู้ทันกันหมด

อย่างกรณี “แถ” จนสีข้างเหวอะว่าด้วย “หัวหน้าคสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ” กางดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 43 ปรมาจารย์กฎหมายที่ทำหน้าที่ “เนติบริกร” ยังเถียงออกหรือไม่

นี่ยังไม่นับเขียนบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มจำนวน ส.ว.จาก 200 เป็น 250 คน เลือกกันไป สรรหากันไปมา สุดท้าย คสช.เป็นผู้เคาะชื่อหลังประกาศผลเลือกตั้ง 3 วัน ที่ต้องกำหนดกรอบเวลาไว้แบบนั้น เพื่อจะได้ดูกันชัดๆ ว่าผลเลือกตั้งออกมาอย่างไร ต้องการเสียงอีกเท่าไร จะได้ใส่คนของตัวเองเข้าไปถูก เพราะหัวโต๊ะกรรมการสรรหาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็น “พี่ใหญ่สุดที่รัก” ของ “บิ๊กตู่” นั่นเอง

เขียนกฎหมายวางพล็อตยิ่งกว่านิยาย สุดท้ายคนไทยก็จะสิ้นหวัง แล้วประชาธิปไตยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร นี่เองจึงไม่แปลกที่หนุ่มแนวคิดประหลาดอย่าง “ธนาธร” กลายเป็นความหวังใหม่ของคนจำนวนไม่น้อยในกระแสยิ่งตียิ่งโต