สร้างกำไรจากภายใน (จบ)

สร้างกำไรจากภายใน (จบ)

มาถึงปีนี้แม้จะปัจจัยเชิงบวกมากขี้นแต่หากถามนักธุรกิจและเจ้าของกิจการชั้นนำเราก็ยังได้ยินคำตอบ คล้าย ๆ กันว่า “ต้องระมัดระวัง”

ภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือซบเซาลง อาจไม่ได้อยู่ที่ตัวชี้วัดหรือดัชนีทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในรอบปีที่ผ่านมาเราจะเห็นอัตราการขยายตัวทางธุรกิจที่เป็นบวก แต่พ่อค้าแม่ขายและประชาชนทั่วไปกลับไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเพราะผลกระทบด้านจิตวิทยาที่เกิดขึ้น

เพราะความรู้สึกของคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเศรษฐกิจไม่น่าไว้วางใจ จึงไม่อยากใช้เงินไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้บรรยากาศการค้าขายไม่คึกคักเท่าที่ควร ทั้งที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้ติดลบ แต่อยู่ในภาวะทรงตัวเท่านั้น

ตรงกันข้ามกับในข่วงที่สภาพแวดล้อมเป็นบวก เราจะรู้สึกอยากจับจ่ายใช้สอยทั้งที่เงินในกระเป๋าก็มีเท่าเดิมไม่ได้งอกเงยเพิ่มขึ้นมาจากไหน ซึ่งนั่นเป็นเพราะผลเชิงบวกจากจิตวิทยาที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกมั่นใจและส่งต่อความรู้สึกนี้ให้กับผู้คนรอบข้าง

มาถึงปีนี้แม้จะปัจจัยเชิงบวกมากขี้นแต่หากถามนักธุรกิจและเจ้าของกิจการชั้นนำเราก็ยังได้ยินคำตอบ คล้าย ๆ กันว่า “ต้องระมัดระวัง” ซึ่งหมายความว่ายังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเติบโตเป็นบวกหรือติดลบจนต้องขาดทุน แต่มีความไม่แน่นอนสูงมากจนต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในภาวะเช่นนี้อาจทำให้เราขยายธุรกิจหรือเพิ่มยอดขายได้ไม่ง่ายนัก หลาย ๆ บริษัทจึงเลือกที่จะหันมาเน้นการบริหารจัดการภายในด้วยการปรับลดค่าใช้จ่ายของทั้งบริษัทด้วยการลงรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อมองหาจุดซ้ำซ้อน

การพิจารณารายจ่ายทั้งหมดเพื่อหาทางเพิ่มประสิทธิภาพในทุกจุด ซึ่ง “Think out of The Box” ได้ยกตัวอย่างไว้ในฉบับที่แล้วถึงรายจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราอาจมองข้ามมานานนับสิบปีเช่นค่าโทรศัพท์ทางไกลและค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เพราะปัจจุบันมีบริการโทรศัพท์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้ เช่นไลน์ วีแชท แต่หลายบริษัทกลับยังคงทำงานแบบเดิม ๆ ด้วยความเคยชิน

ในขณะที่ผู้บริหารเองก็มองข้ามค่าใช้จ่ายเหล่านี้ โดยไม่คิดว่ายังมีรายจ่ายอีกหลายรายการที่สามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ เนื่องจากแต่ละรายการอาจคิดเป็นเงินเพียงหลักร้อยหลักพัน แต่หากหากรวมหลายรายการเข้าด้วยกันก็อาจกลายเป็นหลักแสน เมื่อรวมตัวเลขทั้งปีแล้วอาจหมายถึงเงินนับล้านบาทหรือหลายๆล้านบาทเลยทีเดียว

การเพิ่มยอดขายเพื่อเพิ่มกำไรให้ได้หลักล้านบาทต่อปีนั้นเป็นเรื่องยากยิ่งนัก แต่หากเป็นการลดค่าใช้จ่ายลงล้านบาทนั้นจะได้ผลตอบแทนกลับมาได้ทันที กลายเป็นโบนัสและผลตอบแทนแก่ทั้งคนทำงาน ผู้ถือหุ้น และผู้บริหารโดยไม่ต้องรอการเติบโตของเศรษฐกิจแต่อย่างใด

แต่การพิจารณารายจ่ายในทุกส่วนก็อาจทำให้ผู้บริหารต้องลงมาสัมผัสการทำงานในทุกระดับและทุกแผนก ยกตัวอย่างที่ฝ่ายบริการหลังการขายโดยเฉพาะช่างซ่อมที่มักเป็นผู้สั่งซื้ออะไหล่ต่าง ๆ ด้วยตัวเองเพราะรู้ว่าจะต้องซื้ออะไร ที่ไหน ในราคาเท่าไร และฝ่ายอื่น ๆ ก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของช่าง

แต่ละคน สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนมองข้ามคือช่างซ่อมนั้นเก่งงานซ่อม แต่มักจะไม่เชี่ยวชาญด้านการบริหารอะไหล่นั่นคือเขาจะสั่งซื้ออะไหล่ที่เขาต้องการเฉพาะในเวลาที่เขาต้องใช้ ไม่มีการจัดซื้อล่วงหน้า ไม่มีการต่อรองราคาด้วยการสั่งซื้อทีละมาก ๆ การบริหารจัดการในจุดนี้จุดเดียวอาจควบคุมต้นทุนให้ดีขึ้นได้อีกหลายเปอร์เซ็นต์

ดังนั้น ในฐานะผู้บริหาร ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในทุก ๆ ฝ่าย และต้องพิจารณารายตัวว่าเรื่องใดควรพิจารณาใหม่ทุกปี ในขณะที่บางเรื่องต้องดูทุกเดือน และบางเรื่องก็อาจจะต้องดูทุกอาทิตย์ ตามแต่ความสลับซับซ้อนของแต่ละงานทั้งนี้ เพราะทุกส่วนในองค์กรสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้เสมอ และส่วนเล็ก ๆ ที่ดีขึ้นมานั้นก็ จะประกอบกันเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ได้ในท้ายที่สุด