เทคโนโลยีมีคำสาป (อีกครั้ง)

เทคโนโลยีมีคำสาป (อีกครั้ง)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นสพ. วอชิงตันโพสต์ตีพิมพ์รายงานเรื่องลูกค้าของบริษัทกูเกิ้ลคนหนึ่ง ซึ่งโวยวายเพราะกูเกิ้ล

มิได้ให้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับระบบการรักษาความปลอดภัยในบ้านของตนชื่อ Nest Secure ส่วนที่กูเกิ้ลมิได้บอกลูกค้าคือ ระบบนั้นสามารถฟังเสียงได้ เมื่อลูกค้าพบจึงกล่าวหาว่ากูเกิ้ลจงใจไม่บอกว่าตนอาจดักฟังเสียงของทุกอย่างในบ้านของลูกค้าได้ กูเกิ้ลออกมารับผิด แต่อ้างว่ามิได้ตั้งใจและสัญญาว่าจะแก้ไขทันที เรื่องทำนองนี้มีความสงสัยกันมานานซึ่งผู้ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจะไม่มีทางรู้

กูเกิ้ลจะตั้งใจหลอกลวงลูกค้าหรือไม่ เรามิอาจหยั่งรู้ สำหรับผู้ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สิ่งที่ควรจะตระหนักได้แก่ ไม่ว่าบริษัทเทคโนโลยีจะมีความสามารถในด้านการสร้างระบบให้มีความปลอดภัยได้สูงขนาดไหน เพียงไม่นานจะมีการพบจุดอ่อนส่งผลให้โจรเข้าไปปล้นหรือ แหกค์” (hack) เอาข้อมูลได้

ย้อนไปไม่ถึง 2 เดือน สื่อต่าง ๆ รายงานเรื่องนักเรียนชายอายุ 14 ปี ในมลรัฐแอริโซนา พบจุดอ่อนในโปรแกรม FaceTime ของบริษัทแอปเปิ้ล นักเรียนพบว่าผู้อื่นสามารถดักฟังการสนทนาผ่านระบบนี้ได้ จึงนำเรื่องไปเล่าให้แม่ฟัง แม่ของเขาพยายามส่งเรื่องให้แอปเปิ้ลทราบด้วยวิธีต่าง ๆ อยู่นาน แต่ติดต่อไม่ได้คงเพราะความทะนงของบริษัท เมื่อเรื่องแพร่ออกไปในสื่อสังคม แอปเปิ้ลจึงออกมายอมรับว่าโปรแกรมของตนมีปัญหาและสัญญาว่าจะให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนคนนั้นจนจบมหาวิทยาลัย

เรื่องนักเรียนอายุ 14 ปี พบจุดอ่อนด้านความปลอดภัยในคอมพิวเตอร์โปรแกรมของบริษัทขนาดยักษ์นี้ ทำให้นึกถึงกรณีของบิล เกตส์ เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว ตอนนั้น บิล เกตส์อายุเพียง 13 ปี และมีเพื่อนหลายคนที่สนใจในความมหัศจรรย์ของคอมพิวเตอร์ ในนั้นมีพอล แอลเลน รวมอยู่ด้วยซึ่งต่อมาได้ร่วมกับบิล เกตส์ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ผู้บุกเบิกการเขียนโปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (เรื่องนี้หาอ่านได้ในหนังสือเรื่อง “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com บิล เกตส์คือ “กระทิง”)

บิล เกตส์ ค้นพบจุดอ่อนในโปรแกรมหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่ในตอนนั้นชื่อ Computer Center Corporation และขโมยเวลาจากโปรแกรมมาใช้จนถูกจับได้และห้ามใช้โปรแกรมของบริษัท อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริษัทได้ฉุกคิด จึงอนุญาตให้เขาเข้าไปใช้โปรแกรมทุกอย่างได้ถึงขนาดอาจนอนค้างในสำนักงานเพื่อเขาจะได้ค้นหาจุดอ่อนในโปรแกรมอื่น ๆ ของบริษัทด้วย

เมื่ออ่านรายงานจำพวกนี้ ผู้อ่านจะคิดอย่างไรผมไม่ทราบ ส่วนผมคิดถึงเรื่องที่พูดมานับสิบปีแต่ดูจะมีผู้ฟังอย่างจำกัด นั่นคือ เทคโนโลยีมักมีคำสาปแฝงมาด้วย หากนำมาใช้แบบไร้คุณธรรม มันจะนำผลเสียหายร้ายแรงมาให้ถึงขนาดทำลายมนุษยชาติและสรรพสัตว์ทั้งโลก

อนึ่ง ทุกครั้งที่ธนาคารประกาศว่าจะปิดสาขาจำนวนมากเนื่องจากตนได้นำระบบออนไลน์มาใช้ในกิจการทุกอย่าง รวมทั้งการฝาก ถอนและโอนเงินของลูกค้าโดยอ้างว่าจะสะดวกและปลอดภัย ผมสงสัยว่าอะไรทำให้ธนาคารเชื่อมั่นถึงขนาดนั้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงยอมเป็นเต่าล้านปีที่เปลี่ยนไปทำธุรกรรมทางการเงินเพียงบางอย่างทางออนไลน์ ไม่ว่าธนาคารจะให้ความมั่นใจสักเท่าไรก็ตาม เกี่ยวกับประเด็นนี้ใคร่ชี้ให้เห็นเรื่องเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Block Chain ซึ่งเชื่อกันว่ามีความปลอดภัยสูงยิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำไปใช้ในการประดิษฐ์ระบบเงินตราที่ไม่มีตัวตนของเอกชนซึ่งมีความปราดเปรื่องสูง เช่น Bitcoin เงินตรานี้มีอยู่ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น และเป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มผู้ใช้ ทั้งที่ไม่มีภาครัฐรับรองเช่นเดียวกับเงินตราที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน แต่ผู้อยู่ในวงการนี้ก็ถูกขโมยเงินแล้วหลายครั้ง รวมทั้งจำนวนราว 500 ล้านดอลาร์ตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่มันเกิดขึ้น

ความปลอดภัยของเงินในธนาคารเป็นมิติหนึ่ง มิติที่กว้างกว่านั้นได้แก่การใช้เทคโนโลยีแทนคนงาน ซึ่งมิได้จำกัดอยู่ในวงการธนาคารแห่งเดียว ผลของมิตินี้คือ การกดดันค่าแรงและการจ้างคนงานน้อยลงส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำซึ่งจะทำให้สังคมขัดแย้งรุนแรงจนพัฒนาต่อไม่ได้ หรือไม่สงบสุข