NPL หนี้ครัวเรือน ปรากฏการณ์ประหลาดของไทย

NPL หนี้ครัวเรือน ปรากฏการณ์ประหลาดของไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2018 ที่ผ่านมาที่เพิ่งประกาศไปก็ถือว่าออกมาเป็นที่น่าพอใจเลยนะครับ

ทั้งตัวเลข GDP รวมที่ขยายตัวเกิน 4% การลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวได้ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวถึง 4.6% สูงสุดในรอบ 5 ปี แต่ถ้าเราไปดูรายได้ของประชาชนในภาคเกษตรกลับหดตัว 0.4% ในขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก

จึงอาจกล่าวได้ว่าเงินที่ใช้ในการบริโภคที่เพิ่มขึ้น จริงๆ แล้วหลักๆ มาจากการกู้มาใช้จ่าย เห็นได้จากสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคในปี 2018 ที่ขยายตัวสูงสุดตั้งแต่มีมาตรการรถคันแรกในปี 2011-2012 โดยมียอดคงค้างประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.9 แสนล้าน หรือประมาณ 9.4% โดยประเภทสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดสองอันดับแรก ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นถึง 1.6 แสนล้านบาท และสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งการขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น และอาจกระทบความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้หนี้เสีย (NPL) หรือสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน เพิ่มสูงขึ้นได้

โดยเราเริ่มเห็นสัญญาณการก่อตัวของ NPL ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยอดคงค้าง NPL มีมูลค่ากว่า 7.3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 3.25% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด สูงสุดในสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคทุกประเภท ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกนะครับ เพราะสินเชื่อบ้านน่าจะเป็นหนี้อย่างแรกที่ผู้กู้จะจ่าย เพราะไม่อยากถูกยึดบ้านที่เป็นหลักประกัน แต่สินเชื่อบ้านที่น่าจะมีความเสี่ยงต่ำที่สุดกลับมี NPL สูงกว่าสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายอย่างสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งในอดีต สัดส่วน NPL ของสินเชื่อบ้านก็อยู่ต่ำกว่าสัดส่วน NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตมาโดยตลอด โดยเพิ่งจะมาเร่งขึ้นสูงกว่าในปี 2017 นี้เอง

ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากพฤติกรรมการซื้อเพื่อเก็งกำไร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงๆจากการปล่อยเช่าหรือเพื่อให้ได้กำไรจากการขายต่อ รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในการระบายสต็อคคงค้าง และการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจนทำให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อหย่อนลง ทำให้ ธปท. ต้องมีมาตรการ macroprudential เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ มาตรการ LTV ออกมาควบคุมเพื่อให้การปล่อยสินเชื่อมีความเข้มงวดขึ้น

NPL หนี้ครัวเรือน ปรากฏการณ์ประหลาดของไทย

แต่การพิจารณาแค่ NPL คงไม่พอ เพราะหากเราดูสินเชื่อที่ NPL ต่ำอย่างสินเชื่อรถยนต์ที่ปีที่ผ่านมาขยายตัวกว่า 12.6% และมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อเพียง 1.7% ก็อาจจะคิดว่าไม่มีอะไรน่ากังวล แต่หากไปดู Special Mentioned Loan (SM) หรือสินเชื่อที่มีระยะเวลาค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน แต่มีโอกาสไหลไปเป็น NPL ได้เร็ว ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 7.1% คิดเป็นมูลค่ากว่า 7.6 หมื่นล้านบาท ถึงแม้ว่าสินเชื่อรถยนต์จะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ผู้ปล่อยสินเชื่อสามารถยึดรถเพื่อขายทอดตลาดก่อนจะกลายเป็นหนี้เสียได้เร็ว แต่ SM ในระดับสูงก็สะท้อนความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อในอนาคตได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ธปท. จะแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสินเชื่อรถยนต์เช่นกัน

และในปีนี้เราคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงจากปีก่อน โดยคาดว่าจะขยายตัวลดลงจาก 4.1% ในปีที่แล้ว เหลือเพียง 3.8% ในปีนี้ จากแรงฉุดของปัจจัยภายนอกอย่างการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอ ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าล่าสุดในเดือนมกราคมออกมาหดตัวกว่า 5.7% ดังนั้น คุณภาพสินเชื่อจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปในปีนี้ครับ