พ.ร.บ.องค์การมหาชน :รพ.บ้านแพ้วสถานะปัจจุบัน

พ.ร.บ.องค์การมหาชน :รพ.บ้านแพ้วสถานะปัจจุบัน

มีผู้เห็นป้ายชื่อ “โรงพยาบาลบ้านแพ้ว” ซึ่งมีคำว่า “องค์การมหาชน” ในวงเล็บต่อท้าย ทำให้ผู้นั้นมีคำถามตามมาว่า องค์การมหาชนคืออะไร

โรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) เมื่อเป็นองค์การมหาชนแล้วยังเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณะสุขหรือไม่ หรือเป็นโรงบาลเอกชน ผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล และพนักงานที่ปฏิบัติงาน มีฐานะเป็นข้าราชการหรือเป็นลูกจ้าง

พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์การมหาชน พ.ศ. 2542

ในปีพ.ศ. 2542 ได้มีการตรา พ.ร.บ.องค์การมหาชนพ.ศ. 2542 ออกใช้บังคับ เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถจัดตั้งหน่วยงานบริหารเป็นองค์การมหาชนขึ้น ซึ่งแตกต่างจากสวนราชการและรัฐวิสาหกิจ ในการดำเนินการตามโครงการหรือการจัดทำบริการสาธารณะในด้านใดด้านหนึ่ง เปิดช่องให้นำแนวทางบริหารสมัยใหม่มาบริหาร เพื่อความคล่องตัว มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

การจัดตั้งองค์การมหาชน

เมื่อรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายจะจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อดำเนินโครงการหรือการบริการสาธารณะด้านใดด้านหนึ่ง ก็กระทำได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งอาจแปลงสภาพจากส่วนราชการที่มีอยู่แล้วทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ องค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคล

ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อย่างน้อยต้องมี ชื่อ ที่ตั้งสำนักงาน วัตถุประสงค์และอำนาจในการทำกิจกรรม องค์ประกอบคณะกรรมการ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ ทุนรายได้ งบประมาณ ทรัพย์สิน การบริหารงานบุคคล การกำกับดูแล การตรวจสอบ และรัฐมนตรีผู้รักษาการ

ทุน รายได้ ทรัพย์สินในการดำเนินกิจการขององค์การมหาชน  ประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมา เงินที่รัฐจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน องค์กรอื่นรวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ ค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนหรือค่าบริการหรือรายได้จากการดำเนินการ

ทั้งนี้รายได้ค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนหรือค่าบริการหรือรายได้จากการดำเนินการ ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินขององค์การมหาชนไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี

องค์การมหาชน มีคณะกรรมการควบคุมดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหาร มีพนักงาน และลูกจ้างเป็นผู้ปฏิบัติงาน

กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม และเงินทดแทน แต่ผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้าง ต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว

รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา เป็นผู้กำกับดูแล องค์การมหาชนนั้น

โรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน)

ความเป็นมา

รพ.บ้านแพ้ว ตั้งอยู่ใน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ก่อตั้ง เมื่อ พ.ศ. 2508 จากการรวมตัวของชาวบ้านบริจาคที่ดิน และสนับสนุนกำลัง ทรัพย์ กำลังกายและกำลังใจในการก่อสร้างโรงพยาบาล บนพื้นที่ 9 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา เป็นรพ.ชุมชน ขนาด10เตียง ต่อมาพัฒนาขยายเป็นโรงพยาบาลอำเภอ เป็นขนาด 30 เตียง ในปี2543 รพ.บ้านแพ้ว ได้ปรับตัวออกจากระบบราชการ โดยรัฐบาลจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543 เมื่อเป็นองค์การมหาชนแล้ว รพ.บ้านแพ้วไม่ใช่ส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป แต่มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐในการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข มีสภาพเป็นนิติบุคล

วัตถุประสงค์

การจัดตั้ง รพ.แพ้ว มีวัตถุประสงค์ตามพระราชกฤษฎีกา คือ บริการด้านการรักษาพยาบาลทั่วไป การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ ตามมาตรฐานทางการแพทย์ ดำเนินการเวชศาสตร์ป้องกัน ส่งเสริมสนับสนุนการสาธารณสุขและดำเนินการอื่นให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของชุมชน ทั้งนี้ไม่มุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก

การบริหารและการดำเนินการ

รพ.บ้านแพ้ว มีคณะกรรมการบริหารที่ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)แต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหา กรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน คือผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร แพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กรรมการผู้แทนชุมชน 3 คน ซึ่งครม.แต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาจากบุคคลที่มีภูมิลำเนาในชุมชน ไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งเสนอโดยสภาองค์กรปกครองท้องถิ่นและองค์กรประชาชนในท้องถิ่น ในเขตอ.บ้านแพ้ว และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ครม.แต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหา โดยผู้อำนวยการ รพ.เป็นกรรมการ และเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแล รพ.ให้ดำเนินกิจการไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึงอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในมาตรา 20 ที่สำคัญคือ กำหนดนโยบาย บทบาท ทิศทางในการพัฒนาโรงพยาบาล อนุมัติแผนงาน โครงการ และงบประมาณประจำปีของรพ.

ผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาล มี 3 ประเภท คือ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างโดยได้รับเงินเดือน หรือค่าจ้างจากงบประมาณของโรงพยาบาล ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลจ้างให้ปฏิบัติงานโดยมีสัญญาจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลเป็นการชั่วคราว ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการของโรงพยาบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ นโยบายของรัฐบาลและมติ ครม.

การดำเนินการของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ในปัจจุบัน

เมื่อมีการปรับเปลี่ยนรพ.บ้านแพ้วแล้ว  โดยนับเป็นองค์การมหาชนแห่งที่ 2 ที่มีการจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชนพ.ศ. 2542 และเป็นองค์การมหาชน ด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย สามารถลดอุปสรรค ข้อจำกัดของระบบราชการ ทำให้การบริหารจัดการ ในการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลมีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถพัฒนาขยายการให้บริการแก่ประชาชนได้โดยไม่ติดขัดจากขั้นตอนของระเบียบของทางราชการ ปัจจุบันมีเตียงรองรับคนไข้ได้ 300 เตียงกำลังจะขยายเป็น 500 เตียงในอนาคต มีการขยายบริการโดยมีสาขาในกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่า 2 แห่ง ปัจจุบันมิได้ให้บริการทางการแพทย์เพียงชุมชนในบ้านแพ้วเท่านั้น แต่มีประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียงหลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครไปใช้บริการในแต่ละวันมีจำนวนมาก มีผู้ป่วยนอกที่ไปใช้บริการตรวจรักษาวันละประมาณ 3,000 คน

การให้บริการด้านการแพทย์ของ รพ.บ้านแพ้ว ที่มีชื่อเสียงด้านหนึ่ง คือ ด้านจักษุแพทย์ โดยเฉพาะการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งมีประมาณปีละ 12,000 ถึง 14.000 ราย นอกจากการให้บริการ ณ สถานที่ตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และสาขาในกรุงเทพมหานครแล้ว รพ.ยังมีรถซึ่งสามารถขนอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการตรวจรักษาด้านจักษุให้ประชาชนในท้องที่บางจุด บางตำบลด้วย

ถึงแม้โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ยังมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ก็สามารถให้บริการประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่แพ้ รพ.เอกชน แต่ค่าบริการตรวจรักษาถูกกว่ารพ.เอกชน เพราะมีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหากำไร สำหรับข้าราชการหรือผู้มีสิทธิได้รับการรักษาตามกฎหมายประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพ ทาง รพ.จะดำเนินการเบิกค่ารักษาจากต้นสังกัดให้โดยตรง โดยผู้รับการตรวจรักษาไม่ต้องชำระเงิน เว้นแต่ส่วนที่เกินสิทธิ

ที่แผนกจักษุแพทย์ และศูนย์ต้อกระจกที่มีประชาชนไปใช้บริการวันละเป็นจำนวนมาก มาจากหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ประชาชนไปใช้บริการมาก จำเป็นที่ต้องรอคิวตรวจนานบ้าง แต่อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีเสียงบ่นเพราะ ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างก็ให้บริการอย่างเต็มที่ ด้วยอัธยาศัยอันดีและยังมีอาสาสมัครซึ่งเป็นประชาชนในชุมชนมาช่วยบริการ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้มารับการตรวจรักษาด้วย แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือ ความสัมพันธ์อันดีของชุมชนกับโรงพยาบาล