ทางออกของปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร

ทางออกของปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร

เป็นสิ่งที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับสภาวะที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน ด้วยระยะเวลาในแต่ละวันที่นานแสนนาน

รวมถึงเป็นสิ่งหนึ่งที่บั่นทอนทั้งสุขภาพกาย เนื่องจาก การที่ต้องสูดอากาศเสีย ไอพิษ รวมถึงฝุ่นพิษต่างๆ เข้าไปในร่างกายผ่านทางระบบการหายใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นการบั่นทอน สุขภาพใจของชาวกรุงเทพ ฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจาก ต้องเผชิญกับความเครียด ต้องเจอกับความกดดัน

ในสภาวะ ที่ต้องเร่งรีบกะเวลาไม่ได้รวมถึงลูกเล็กเด็กแดงก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในรถยาวนาน ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาแก้ไขได้ยากมาก เพราะนับวันรถบนท้องถนนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นและเมื่อเทียบกับพื้นที่ผิวของถนนนั้นก็เหมือนว่าอัตราการเร่งของการใช้รถนั้นดูเหมือนว่าจะรวดเร็วยิ่งกว่า ทั้งนี้ก็เพราะว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครนั้นเกิดขึ้นอย่างมากด้วยแรงงหนุนของเทคโนโลยีในยุค Disruptive Technology เช่นนี้ อีกทั้งยังมีปัจจัยทางการตลาดยุคดิจิทัลนี้ที่จูงใจให้หลายคนหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นคำถามที่หลายๆ คนมี ทั้งที่อยู่ในใจ ทั้งที่เปล่งออกมาเป็นวาจา ก็คือ ปัญหาการจราจรติดขัดนั้นจะมีหนทางใดหรือไม่ ที่สามารถแก้ไข หรือ บรรเทาไปได้บ้าง ซึ่งนักคิด นักวิชาการหลายคนก็เสนอแนวทางการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟฟ้า เป็นต้น แต่ลองนึกย้อนกลับไปดูในคราวครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครมีรถไฟฟ้า ทั้งเหนือดิน และ ใต้ดิน นั้น ปัญหาการจราจรติดขัดก็มิได้บรรเทาอย่างชัดเจนเท่าใดนัก ยังผลมาถึงปัจจุบันที่มีสภาพการจราจรที่ติดขัดอย่างมากมาย แล้วจะทำอย่างไรล่ะที่จะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดไปได้บ้าง และ สามารถลดปัญหาได้อย่างมากในระยะยาว ก่อนอื่นเลย เราต้องทำความเข้าใจก่อนถึงสาเหตุที่เกิดปัญหารถติด เพราะหากเราเข้าใจถึงสาเหตุแล้ว ก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างตรงจุด

ทางออกของปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดการจราจรติดขัด ผมมองว่า มีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. เกิดจากคน 2. เกิดจาก ธรรมชาติ และ 3. เกิดจากระบบคมนาคม โดยปัจจัยแรก ซึ่งเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นจากคน หมายถึง พฤติกรรมของ ผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งวินัยทางจราจร และ ความมีน้ำใจบนท้องถนนนั้น เป็นสิ่งที่จะช่วยให้บรรเทาเบาทางในการ ติดขัดของรถบนท้องถนน แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้ ท่าทางจะแก้ไขได้ยากที่สุด เพราะเหมือนกับว่า วินัย ทางการจราจรและน้ำใจในการขับขี่บนท้องถนนนั้น เหมือนกับสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ในทางวิชาการ เมื่อความมีน้ำใจและความมีวินัย ไม่ใช่สิ่งที่ต้องบังคับให้มี กล่าวคือ อาจมีก็ได้หรือไม่มีก็ได้ จึงอาจมีบางคน ที่เอาเปรียบคนที่มีน้ำใจและมีมารยาททางการขับขี่ ซึ่งคนกลุ่มนี้เรียกว่า “Free-Rider” ซึ่งในที่นี้หมายถึง

บางคนที่อาศัยความไม่จำเป็นในการปฏิบัติตามธรรมเนียมและสิ่งที่ดีที่งดงามที่มีผลต่อส่วนรวมมาใช้เพื่อการเอาเปรียบผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความดีและธรรมเนียมปฏิบัติของส่วนรวมทางศีลธรรมเพื่อใหต้นเองได้เปรียบในการได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าผู้อื่น กล่าวง่ายๆ ก็คือว่า กลุ่มคนที่เป็น Free-Rider บนท้องถนนนั้น คือคนที่ไม่รักษากติกา

ที่มิใช่กฎหมาย เพื่อให้การขับขี่บนท้องถนนมีความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพในการลดเวลาบนพื้นผิวถนนนั่นเอง ซึ่งเมื่อเกิด Free-Rider แล้วย่อมทำให้ผู้ขับขี่บนถนนต้องเอาตัวรอดโดยการเริ่มลดระดับความมีน้ำใจและวินัยทางการจราจรอย่างเห็นได้ชัด และ สุดท้ายคนจำนวนที่มากขึ้นก็จะเริ่มลดระดับความมีน้ำใจและวินัยบนท้องถนน จนทำให้การบรรเทาปัญหารถติดด้วยการแก้ไขที่ปัจจัยแรกนั้นเกิดขึ้นได้อย่างยากยิ่ง (ซึ่งจริงๆ แล้วอาจมีวิธีการแก้ไขได้แต่ต้องอาศัยเวลาพอสมควร)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงปัจจัยที่ 2 และ 3 นั้น สองปัจจัยนี้เป็นทางออกที่ควรดำเนินการก่อนหากสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ สำหรับปัจจัยที่ 2 นั้น เกี่ยวข้องธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติในที่นี้มิได้หมายถึงภัยธรรมชาติในบางครั้งบางคราว เช่น ปัญหาน้ำท่วมแล้วก่อให้เกิดรถเคลื่อนตัวช้า แต่ธรรมชาติในที่นี้หมายถึงธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่แล้วบนท้องถนน กล่าวคือ รถจำนวนมากที่ใช้ในการสัญจรวิ่งอยู่พร้อมๆ กันบนท้องถนน ย่อมก่อให้เกิดการเคลื่อนตัวยากและเคลื่อนตัวช้าเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ไม่ยากนัก หากประเทศไทยและกรุงเทพมหานครมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่คำถามก็คือว่า แม้ว่าประเทศไทยและกรุงเทพมหานครจะมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ที่สูง และ ที่วิ่งอยู่ใต้ดินแล้วนั้น ก็ไม่ค่อยจะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ได้ ทั้งนี้ก็ เพราะว่า คนส่วนใหญ่ ยังไม่นิยมใช้ขนส่งมวลชนนั่นเอง แล้วเพราะอะไรคนส่วนใหญ่ยังไม่นิยมใช้ หากมองผิวเผินก็คือ การทำการตลาดในการจูงใจให้คนมาใช้รถไฟฟ้า หรือ ขนส่งมวลชนนั้น ยังมีประสิทธิภาพไม่มากนัก แต่หากมองอย่างลึกซึ้งแล้ว นี่ไม่ใช่สิ่งหลักที่ทำให้ไม่สามารถจูงใจให้ผู้ที่เป็นประชากรกรุงเทพมหานครและ ประชากรแฝงใช้รถไฟฟ้าหรือขนส่งมวลชนต่างๆ ได้ แต่ปัญหาก็คือ ในทางปฏิบัติแล้ว ความเท่าเทียมกัน ในการเข้าถึงของคนกรุงเทพมหานครนั้น อาจไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เท่าเทียมกัน มิได้หมายความถึง ราคาของการใช้ขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้าหากแต่หมายถึงความไม่เท่าเทียมกัน ในการเดินทางไปถึงสถานีรถไฟฟ้าหรือสถานีขนส่งมวลชนต่างๆ ซึ่งอาจมีหลายคนที่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปเช่นนั้น ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้แก้ไขยากเย็นนัก หากประเทศไทยและกรุงเทพมหานครจะลงทุนเพิ่มเติมอีกไม่มากนัก ซึ่งหากมีโอกาสคราวหน้า ผมจะมาเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบวิธีการที่สามารถแก้ไขได้นะครับ

สำหรับปัจจัย ที่ 3 ซึ่งก็คือปัญหาทางด้านระบบ การคมนาคมก็คือ ระบบการจัดการจราจรนั้น มีหน่วยงานที่หลากหลายในกระบวนการอยู่ซึ่งทางแก้ก็คือจะต้องมีการจัดการบริหารจัดการการจราจรเสียใหม่การแก้ไขกฎหมายระเบียบข้อบังคับรวมถึงการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันมาใช้ให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้ หากผมมีโอกาสได้ มาเล่าให้ ทราบอีก ก็จะมาอธิบายให้ฟังโดยละเอียด แต่อย่างน้อยก็อยากให้ทราบว่าการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดนั้นสามารถทำได้จริง หากมีการวางแผนและดำเนินการอย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับสภาวการณ์

โดย... ผศ.ร.ต.ดร. ณัฐกริช เปาอินทร์