เงินเดือนรัฐมนตรี

  เงินเดือนรัฐมนตรี

อีกเพียงเดือนกว่า เราก็จะมีรัฐบาลใหม่ จะเป็นคนหน้าเดิม หรือคนหน้าใหม่ หรือผสมผสานหลายเผ่าพันธ์

 ก็ต้องคอยดูกัน ว่าเย็นวันที่ 24 มีนาคม ผลจะออกมาเป็นเช่นใด แต่ที่ค่อนข้างแน่ก็คือ คงจะมีการชิงตำแหน่งรัฐมนตรีกันพอสมควร

 มีรายงานข่าวว่า นายกรัฐมนตรีไทย ได้รับเงินเดือนๆละ 125,000 บาท และผลตอบแทนในฐานะหัวหน้า คสช. อีก 125,000 บาท รวมเป็นเดือนละ 250,000 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่น้อยกว่า ซีอีโอ ของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เสียอีก และเปรียบไม่ได้เลยกับค่าตอบแทนซีอีโอของบริษัทเอกชน

เมื่อผู้นำระดับสูงสุดของประเทศ ได้รับผลตอบแทนเพียงเท่านี้ เงินเดือน รัฐมนตรี ก็น้อยลงไปอีก ฟังดูแล้วก็ต้องชื่นชมในความเสียสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐมนตรีที่เสียสละรายได้จากภาคเอกชน เดือนละกว่าหนึ่งล้านบาท มารับเงินเดือนที่น้อยกว่าถึง 10 เท่า พร้อมรับความเสี่ยงสูงขึ้นในทางการเมืองและทางกฎหมาย ด้วยมาตรา 157

เงินเดือนคณะรัฐมนตรี นอกจากจะค่อนข้างน้อยแล้ว ยังไม่มีการปรับเงินเดือนประจำปีอีกด้วย เพราะไม่มีหลักเกณฑ์เหมือนกับบริษัทหรือองค์กรทั่วไป ที่ปรับขึ้นเงินเดือนและพิจารณาจ่ายโบนัส ทุกสิ้นปี

ค่าตอบแทนคณะรัฐมนตรีของแต่ละประเทศ ย่อมขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ผมเชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านเรา 2-3 ประเทศ น่าจะน้อยกว่าเรา แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ คงมากกว่าเราพอสมควร  ผมก็เลยตามไปดูว่าสิงคโปร์เขาจ่ายเท่าใด และมีวิธีคิดในเรื่องนี้อย่างไร

 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ มีรายได้ปีละ 2.20 ล้านเหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณปีละ 50 ล้านบาท หรือ เดือนละ 4,200,000 บาท ซึ่งมากกว่านายกรัฐมนตรีไทยถึง 17 เท่า ส่วน รัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้รับปีละประมาณ S$ 1.10 ล้าน หรือเดือนละ 2,100,000 บาท ก็ยังมากกว่า นายกรัฐมนตรีไทย ประมาณ 8 เท่า

ถ้ามองความรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไทย มีความรับผิดชอบมากมาย เพราะจำนวนประชากรของเรา ก็มากกว่าสิงคโปร์ถึง 19 เท่า นี่ยังไม่ได้คำนึงถึงขนาดทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ที่ใหญ่กว่ากันมากมาย

เมื่อรัฐมนตรีไทยมีค่าตอบแทน เพียงเดือนละแสนกว่าบาท แล้วท่านจะสามารถดำรงชีพให้เหมาะสมกับตำแหน่งได้อย่างไร เพราะในวัฒนธรรมไทย รัฐมนตรีจำเป็นต้องใช้เงินทางสังคม มากพอสมควรเลยทีเดียว

อดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่ง เล่าให้ผมฟังว่า “เงินเดือนน่ะ หมดไปตั้งแต่เอาไปซื้ออาหาร และค่าเดินทางสำหรับคนรอบข้าง ที่มาช่วยงานหน้าห้องแล้วครับ” ผมก็เลยถามว่า “แล้วท่านอยู่ได้อย่างไรล่ะ”

คำตอบของท่านก็ตรงไปตรงมา คือต้องมีฐานะส่วนตัวที่ดีพอสมควร หรือ ต้องมี “สปอนเซอร์” ที่ช่วยจุนเจือในรูปแบบต่างๆ หรือ ต้องขวนขวายหาวิธีการที่ถูกต้อง (หรือ ไม่ถูกต้อง...สำหรับบางคน) ที่จะหารายได้มาเสริม เพื่อช่วยให้สามารถดำรงสถานะได้อย่างสมศักดิ์ศรี

ตรงหารายได้เสริมนี่แหละ ที่รัฐมนตรีบางคน อาจจะเป๋ไปไกล ผลที่ได้รับก็คือต้องไปทำงานที่ห้องใหม่ ที่เรียกว่า ห้องขัง  

 แล้วที่สิงคโปร์เขามีวิธีคิด เรื่องเงินเดือนคณะรัฐมนตรีอย่างไร ปรัชญาของเขาก็คือ “จะต้องไม่ให้ ค่าตอบแทนที่สูงมากเกินไป จนกลายเป็นแรงจูงใจ ที่ทำให้คนอยากเป็นรัฐมนตรี แต่ รัฐมนตรีก็ไม่สมควรตัองเสียสละ ด้วยการรับผลตอบแทนที่ต่ำมากเกินไป”

 เมื่อปี 1994 รัฐบาลสิงคโปร์ จึงศึกษาและตีพิมพ์รายงานเรื่อง “Competitive Salaries for Competent and Honest Government” โดยมีหลักการว่า คนที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีนั้น ความรู้ความสามารถที่เขามี ถ้าหากไปประกอบอาชีพอื่น น่าจะได้รับผลตอบแทนเท่าใด แล้วนำมาเป็นปัจจัยนี้ มาประกอบการกำหนดค่าตอบแทน ที่เหมาะสม

 ในที่สุด สิงคโปร์ก็แบ่งค่าตอบแทนรัฐมนตรีออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าตอบแทนคงที่ (65%) และค่าตอบแทนผันแปร (35%) ซึ่งค่าตอบแทนผันแปร ยังแยกออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือพิจารณาจาก ผลงานของรัฐมนตรีแต่ละคน เศรษฐกิจของประเทศ และ ปัจจัยอื่นๆ นอกจากนั้น รัฐมนตรีใหม่ ก็จะได้รับค่าตอบแทนที่น้อยกว่า รัฐมนตรีที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งนี้มานาน แต่ก็ไม่ต่างกันมากนัก

 ความน่าสนใจอยู่ที่รัฐมนตรีสิงคโปร์ มีสิทธิได้รับโบนัสด้วย สอดคล้องกับค่าตอบแทนในภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจเลยทีเดียว แต่ผมว่าต้องบริหารจัดการให้ดีด้วย ว่าจะประเมินผลงานส่วนตัวอย่างไร ใครเป็นผู้ประเมิน ส่วนโบนัสที่โยงกับเศรษฐกิจนั้น อาจจะเท่าเทียมกันได้ถ้าถือว่ารับผิดชอบร่วมกัน และไม่น่าจะยากนักถ้าโยงกับความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 

 ส่วน “โบนัสอื่น” อาจฟังดูหลวมไปสักนิด แต่ถ้าเขียนให้ชัดเจน และกำหนดเพดานไว้ด้วย ก็คงปิดช่องโหว่ตรงนี้ได้ 

 ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องเงินเดือนภาครัฐของไทยเรา น่าจะลองศึกษาโมเดลหลายๆประเทศ แล้วนำเสนอโมเดลที่คิดว่าเหมาะกับประเทศไทย เพราะถ้าเราบริหารผลตอบแทนคณะรัฐมนตรีให้เหมาะสม ในหลักการ...ก็น่าจะมีผลดีต่อการบริหารประเทศ

 เพียงแต่ที่ผ่่านมา ถึงแม้เงินเดือนคณะรัฐมนตรีของเรา จะดูน้อยนิด จนน่าเห็นใจว่าเขาจะอยู่กันได้อย่างไร แต่เรากลับเห็นท่านทั้งหลาย มักอยู่บ้านหลังใหญ่โต และมีวิถีการดำรงชีวิต ที่ไม่มีใครเดือดร้อนมากนัก

 นี่ก็เข้าฤดูกาลอีกแล้ว อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ เราก็จะเห็นข่าวว่าใครบ้างที่อยู่ในโผรัฐมนตรี ซึ่งผมฟันธงเลยว่า ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในโผ จะไม่มีใครบ่นว่า “เงินเดือนน้อย” เลยสักคน ดังนั้นการจ่ายโบนัสรัฐมนตรีโดยวัดที่ผลงาน ก็คงจะไม่มีใครคิดเรียกร้องเช่นกัน

 ก่อนจบ ผมอยากให้สังเกตว่า รายงานของสิงคโปร์นั้น เขาตั้งชื่อไว้ว่า “การกำหนดค่าตอบแทนที่แข่งขันได้ สำหรับบุคลากรภาครัฐ ที่เก่งและซื่อสัตย์สุจริต”

 เลยทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ที่เขาจ่ายค่าตอบแทนให้คณะรัฐมนตรีและบุคลากรภาครัฐ ได้ในอัตราสูงนั้น นอกจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีแล้ว เป็นเพราะเขาได้คนที่ เก่งและซื่อสัตย์สุจริต มาเป็นรัฐมนตรี ใช่หรือไม่

 ผมว่าถ้าเราจะจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ให้สมกับภารกิจที่มากมาย คนไทยก็น่าจะไม่ขัดข้อง ถ้าหากมั่นใจได้ 100% ว่า คนที่เข้ามานั่งในคณะรัฐมนตรีและตำแหน่งต่างๆภาครัฐ เป็นคนแบบนี้จริงๆ