วุฒิภาวะทางการเมือง โจทย์ใหญ่ของคนไทย

วุฒิภาวะทางการเมือง โจทย์ใหญ่ของคนไทย

ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา บรรยากาศทางการเมืองร้อนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายของพรรคการเมือง

 สิ่งที่เป็นลางบอกเหตุอีกอย่างหนึ่งว่าบรรยากาศหลังการเลือกตั้ง ที่หลายคนตั้งหน้าตั้งตาคอยมานานคงจะไม่ราบรื่นนักก็คือ อารมณ์ทางการเมืองของคนไทยที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ตั้งป้อมต่อสู้กัน โดยเฉพาะในสนามรบโซเชียลที่ได้กลายเป็นสนามอารมณ์ล้วนๆ แทบไม่มีที่ยืนเหลือให้กับการใช้เหตุใช้ผล

ความซับซ้อนของการเมืองไทยเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว หลายครั้งที่เซียนการเมืองหน้าแตกเพราะผลออกมาไม่ตรงกับที่ฟันธงไว้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้วิเคราะห์ยังไม่เก่งพอ แต่เป็นเพราะการเมืองบ้านเรามีความซับซ้อนเกี่ยวพันกันหลายมิติ ทำให้การมองแนวโน้มในระยะยาวทำได้ยาก

นอกจากนี้แล้ว การวิเคราะห์การเมืองไทยนั้นให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกขึ้นอยู่กับว่าผู้วิเคราะห์มีกรอบเวลาในการแค่ระยะสั้นหรือเป็นการมองระยะยาว

ระยะสั้นไม่ได้หมายถึงแค่วันสองวัน บางที 10 หรือ 20 ปีก็ถือว่าเป็นระยะสั้นได้เหมือนกัน การวิเคราะห์ระยะสั้นจะตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าปัจจัยบางประการซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง “ความคงที่” อันนี้คือข้อจำกัด คอยขัดขวางไม่ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างอิสระอย่างที่ควรจะเป็นเหมือนในโลกอุดมคติ

ข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ตัวบทกฎหมาย ทัศนคติ ระดับการศึกษา โครงสร้างประชากร ระบบการบริหารราชการ ความแตกต่างเชิงพื้นที่ ก็สามารถกลายเป็นข้อจำกัดได้เช่นกัน เพียงแต่บทบาทของปัจจัยเหล่านี้มีมากน้อยต่างกันไปตามกาละและเทศะ

ภาวะเดินหน้า 2 ก้าวถอยหลัง 3 ก้าวของการเมืองบ้านเราไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเรามีปัญหาขาดแคลนนักการเมืองคุณภาพอย่างรุนแรงเท่านั้น ข้อจำกัดสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือประชาชนไทยได้รับการบ่มเพาะวุฒิภาวะด้านการเมืองอย่างเพียงพอ ทำให้ประเทศไทยประสบกับปัญหาการขาดแคลนประชาชนซึ่งมีวุฒิภาวะทางการเมืองซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างสังคมประชาธิปไตย

คนแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นคนมีวุฒิภาวะทางการเมืองสูง?

คนเหล่านี้ต้องเป็นคนที่รู้จักคิด กล้าแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของตน พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เชื่อในความหลากหลายทางความคิด ยอมรับว่าความเห็นต่างไม่ใช่ความผิด แต่เป็นการช่วยกันมองในมุมที่หลากหลายกว้างขวางขึ้น รู้จักออมชอม ยอมรับกติกาทางการเมือง รู้เท่าทันนักการเมือง สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นและระยะยาว ประเมินการทำงานของนักการเมืองอย่างเป็นกลาง และตัดสินใจเลือกตัวแทนของตัวเองจากผลงาน ทัศนคติ นโยบาย ศักยภาพของตัวผู้สมัครและพรรคมากกว่าความชอบส่วนตัว

สังคมที่ประกอบไปด้วยประชาชนซึ่งมีวุฒิภาวะทางการเมืองสูงเป็นจำนวนมาก จะช่วยให้การเมืองของประเทศนั้นมีพัฒนาการราบรื่นต่อเนื่องเพราะคนเหล่านี้จะคอยควบคุมกำกับไม่ให้นักการเมืองออกนอกลู่นอกทาง เมื่อนักการเมืองอยู่กับร่องกับรอย การก้าวไปข้างหน้าก็ไม่สะเปะสะปะ

ในทางตรงกันข้าม หากคนกลุ่มนี้มีอยู่เป็นจำนวนน้อย ต่อให้พวกเขาพยายามอย่างไรก็ไม่มีอำนาจพอจะไปคัดง้างกับนักการเมืองได้ เมื่อไม่มีอาจพอจะให้คุณให้โทษ ใครจะไปสนใจเสียงเรียกร้องและความเห็นของพวกเขา

ลองนึกดูคร่าวๆ ว่าหลาย 10 ปีมานี้จำนวนคนไทยที่มีวุฒิภาวะทางการเมืองมีมากแค่ไหน?

ถึงขาดตัวเลขมายืนยันกันก็คงพอบอกได้ว่า ยังมีไม่มากพอที่จะผลักดันการเมืองของประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น บางพื้นที่กลับมีจำนวนลดลงเสียด้วยซ้ำ

นี่ไม่ได้หมายความว่า เราควรหมดหวังกับการเมืองปล่อยไปตามยถากรรม ถึงแม้ที่ผ่านมาพัฒนาการทางการเมืองของไทยจะลุ่มๆ ดอนๆ ขึ้นบ้างลงบ้าง แต่ถ้าดูแนวโน้มหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เราก็พัฒนามาได้ระดับหนึ่ง

พัฒนาการนี้ส่วนหนี่งเกิดจากการเสียสละของคนที่ต้องการเห็นบ้านเมืองของเราก้าวหน้า อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะพลวัตรทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นแรงผลักดันที่มองไม่เห็นชัดเจนแต่ค่อยๆ ทำหน้าที่ของมันผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ หากมองโลกในแง่ดี เป็นคนใจเย็นก็น่าจะสบายใจได้ว่าในอนาคตข้างหน้าบ้านเมืองเราคงจะดีกว่านี้แน่นอน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานกันแน่

แต่ถ้าใจร้อนสักนิดอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของเราก็ต้องออกแรงผลักกันหน่อย การเลือกตั้งคราวนี้ถือเป็นบททดสอบและเป็นโอกาสในการบ่มเพาะวูฒิภาวะทางการเมืองของคนไทย ก็ได้แต่หวังว่าเราจะผ่านบททดสอบนี้ไปได้ ไม่ทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่บานปลายจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมบนแผ่นดินบ้านเกิดของพวกเราทุกคน