ตลาดที่ล้มเหลวจากปัญหาฝุ่นพิษ: มุมมองเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ*

ตลาดที่ล้มเหลวจากปัญหาฝุ่นพิษ: มุมมองเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ*

ปัญหามลพิษทางอากาศภายในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่ง ณ ขณะนี้ เมืองใหญ่ของประเทศไทยหลายแห่ง

ทั้งกรุงเทพฯ ลำปาง เชียงใหม่ ขอนแก่น ฯลฯ ก็กำลังเผชิญกับวิกฤติด้านมลพิษทางอากาศ โดยค่าของ PM 2.5 สูงขึ้นมากจนเกินระดับมาตรฐาน อันสามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือในระยะอาจจะมีส่วนให้เกิดโรคมะเร็งได้

PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเล็กกว่าเส้นผมคนเราถึง 25 เท่า (เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน) ฝุ่นพิษขนาดเล็กนี้มีต้นกำเนิดได้หลายทาง แต่ที่พบมากสุดคือ มาจากกิจกรรมการเผาไหม้ในที่โล่ง เช่น การเผาในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การผลิตไฟฟ้าและกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรม และ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงดีเซลและแก๊สโซฮอล์ที่เป็นแหล่งกำเนิดของออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งสามารถพบได้มากในเมืองใหญ่ที่มีการคมนาคมหนาแน่น เมื่อควันจากการเผาไหม้ได้ไปรวมกับก๊าซอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ลดต่ำลง และความชื้นในบรรยากาศที่มากขึ้น ยิ่งทำให้ฝุ่นพิษเป็นละอองสะสมในปริมาณที่มากขึ้น อีกทั้งการเผาเศษเหลือของการเกษตรมากยิ่งซ้ำเติมให้มลพิษจากฝุ่นขนาดเล็กนี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และผู้คนทั้งในเขตเมืองและชนบทอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ปัญหาฝุ่นพิษนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับหลักการเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ ซึ่งตามปกติ มนุษย์สามารถได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศได้เป็น 4 ช่องทางคือ 1) ระบบนิเวศเป็นแหล่งผลิตโดยตรง เช่น ผลิตอาหาร แหล่งน้ำ พืช สมุนไพร สัตว์น้ำ เชื้อเพลิง ฯลฯ 2) ระบบนิเวศช่วยควบคุมกลไกธรรมชาติและรักษาสมดุลในระบบนิเวศ เช่น การเผาพืชหญ้าที่ปล่อยฝุ่นผงก็จะมีทะเลสาปและป่าไม้ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับกำมะถัน เป็นต้น 3) ระบบนิเวศช่วยการสนับสนุนเกื้อกูลให้กระบวนการทางธรรมชาติดำเนินไปเพื่อการดำรงอยู่ของบริการและประโยชน์อื่นๆ เช่น ธาตุอาหารของระบบการผลิต ส่งเสริมให้เกิดวัฏจักรของอาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ เป็นต้น 4) ระบบนิเวศมีประโยชน์ด้านวัฒนธรรม เพราะสามารถเป็นแหล่งนันทนาการ และเป็นที่ดำรงคุณค่าแก่สังคม เช่น พื้นที่ริมแม่น้ำโขงในจังหวัดหนองคายเป็นแหล่งที่ท่องเที่ยวสำคัญ และยังเป็นที่จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟพญานาค เป็นต้น 

ประโยชน์ทั้ง 4 ด้านที่แจกแจงมานั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน เช่น พื้นที่ป่าในท้องถิ่น บริเวณหนึ่งอาจเป็นแหล่งผลิตอาหาร ต้นน้ำและให้เชื้อเพลิงสำหรับคนในชุมชน ขณะเดียวกันได้ช่วยคนในพื้นที่เมืองและใกล้เคียงเป็นที่ตรึงและกักเก็บปริมาณก๊าซคาร์บอน รักษาหน้าดินและคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ดังนั้นในทางกลับกัน แม้ว่าการเผาเศษเหลือทางการเกษตรมีแหล่งกำเนิดจากในบริเวณชนบทห่างไกล หากแหล่งผลิตได้ถูกรบกวนให้เสียสมดุลก็อาจส่งผลต่อกลไลควบคุมของระบบนิเวศในเมืองได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้น ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไข ย่อมส่งผลให้บริการหรือประโยชน์จากระบบนิเวศที่เราควรจะได้นั้นลดลงด้วย

ในด้านเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ อากาศบริสุทธิ์เป็นทรัพยากรที่มีลักษณะสินค้าร่วม (common-pool resource) และ เป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) กล่าวคือ เป็นสินค้าที่บุคคลสามารถเข้าถึงเพื่อบริโภคร่วมกันได้อย่างไม่ถูกกีดกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อใครๆสามารถเข้าถึงทรัพยากรร่วมได้ ก็อาจทำให้ต่างคนต่างถลุงใช้ทรัพยากรอย่างไม่ดูแล รวมถึงดำเนินกิจกรรมต่างๆที่อาจส่งทางลบต่อคุณภาพของทรัพยากรนั้น ดังเช่นในกรณีของมลพิษฝุ่น ที่กิจกรรมการเผาไหม้ได้สร้างต้นทุนเชิงนิเวศทำให้อากาศที่เราหายใจเข้าไปมีคุณภาพแย่ลง

 Elinor Ostrom นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ได้เสนอข้อคิดเกี่ยวกับหลักการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นสินค้าร่วมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพขึ้น โดย มีสาระสำคัญคือ 1) เราต้องมีการแยกแยะให้ได้ว่าใครมีสิทธิ์ในทรัพยากรนั้น และขอบเขตของทรัพยากรเป็นของเฉพาะชุมชนหรือของระบบนิเวศของสังคมส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดขอบเขตการปกป้องดูแลที่เหมาะสม และเป็นธรรมต่อผู้ดูแลและและผู้ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรนั้น 2) รัฐต้องไม่ใช่ผู้จำกัดสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากร หากแต่ต้อง ให้โอกาสผู้ใช้ทรัพยากรได้ร่วมออกแบบกติกาการใช้ทรัพยากรของชุมชนตน 3) บทลงโทษและการจัดการกับความขัดแย้งต้องอยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยต่างฝ่ายต้องรักษาสัญญาและปฏิบัติตามกติกาของคนในชุมชน หากทำผิดกฏจะลงโทษแบบค่อยเป็นค่อยไปและใช้ต้นทุนต่ำในการจัดการความขัดแย้ง

ในกรณีของฝุ่นพิษ เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการจัดการทรัพยากรร่วมที่ล้มเหลว แม้ว่ามีการกำหนดขอบเขตและพื้นที่ปัญหาที่มีฝุ่นพิษที่ชัดเจน แต่การจัดการของรัฐยังคงมีลักษณะห้ามปรามและใช้บทลงโทษอย่างไม่ทั่วถึง (เช่น การตรวจสอบควันดำ การห้ามกิจกรรมการเผา) ซึ่งยังขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนเมืองและท้องถิ่นในการตัดสินใจร่วมกันแก้ปัญหา อีกทั้งยังขาดหน่วยงานกลางช่วยประสานความต้องการของภาคประชาชน กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากกิจกรรมที่ก่อมลพิษฝุ่น เพื่อนำมาพูดคุยในการหาทางออกร่วมกัน หรือกระทั่ง การส่งสัญญานปัญหาของทั้งจากรัฐและเอกชน (เช่น ในแอพพลิเคชั่นตรวจสอบสภาพอากาศ) ยังละเลยมิติด้านผลเสียเชิงนิเวศ โดยเน้นแต่ประเด็นด้านสุขภาพทำให้ไม่ช่วยสร้างจิตสำนึกต่อปัญหาเชิงนิเวศของผู้คนอย่างเป็นองค์รวม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้คงเป็นหนังเรื่องยาว ไม่ใช่แค่เพียงบอกให้คนปลูกต้นไม้วันละต้นเพื่อฟื้นฟูสภาพอากาศแล้วจะช่วยแก้ไขปัญหาได้

 โดย... 

วรวีร์ แสงอาวุธ และ นรชิต จิรสัทธรรม

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

* ตลาดที่ล้มเหลวของปัญหาฝุ่นพิษฟุ้งเมือง: มุมมองทางเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ