การเมืองสองคนยลตามช่อง ฟังหูไว้สองหู

การเมืองสองคนยลตามช่อง ฟังหูไว้สองหู

พระพุทธวจนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สอนให้พุทธศาสนิกชนยึดมั่นพึ่งพาตนเอง(อัตตาหิ อัตโน นาโถ) เป็นความจริงที่มีความทันสมัย

ปรับใช้ได้กับการดำเนินชีวิตของพวกเราในทุกวันนี้ ยิ่งในเวลาที่ใกล้วันเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.2562 เข้ามาทุกขณะ ยิ่งสะท้อนว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน จำเป็นต้องใช้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ในเรื่องดังกล่าวเป็นสำคัญ

ผมจับกระแสวีรบรุษหลังการสู้รบ ภายหลังเหตุการณ์กรณี 8 ก.พ. 2562 ได้ในหลากหลายแง่มุม มีวีรบุรุษหลังการสู้รบที่เป็นนักการเมือง นักวิชาการ นักพยากรณ์ สื่อมวลชน แม้แต่คนที่แอบอ้างว่าเป็นสื่อที่ปรากฏในโลกเสมือนจริง ล้วนแล้วแต่พยายามแอบอ้าง พาดพิง หรือกระทั่งอวดรู้ว่า ตนเองมีข้อมูลเชิงลึก อธิบายปรากฎการณ์ความเป็นไปแบบข้างๆ คูๆ และพยายามชักจูงให้ผู้ติดตามหลงเชื่อและเห็นไปตามที่เจ้าตัวประสงค์อยากให้เป็นไป

สำหรับส่วนตัว แม้กรณีวันที่ 8 ก.พ. อาจเปรียบได้กับเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญหลายเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แค่มิได้มีสิ่งเลวร้ายขนาดมีการเสียเลือดเนื้อ เป็นความพยายามต่อสู้ทางการเมืองที่อาจเรียกได้ตั้งแต่ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปกระทั่งเป็น แผนการทางการเมืองที่แยบยล สุดแต่ผู้วิเคราะห์บนหลักเหตุและผลที่มีความบริสุทธิ์ใจจะเลือกหรือนำมาเป็นประเด็นถกเถียง แต่ในที่สุดแล้ว ชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักยังคงอยู่รอดและจะต้องอยู่รอดต่อไป เพราะชาติบ้านเมือง หรือ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” คือ เป้าหมายสำคัญสูงสุดที่ทุกฝ่ายจะต้องยึดถือเป็นหลักมั่น

ดังนั้น หากจะถามผมว่า เหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะลงเอยในรูปแบบใด หากใช้ตรรกะวิธีการที่เรายึดถือหรือเชื่อมโยงกับคำว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ไว้เป็นสรณะแล้ว ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนเกินที่จะอรรถาธิบายให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจตรงกันว่า “เมื่อเหตุเกิด ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ” เป็นอีกพระธรรมคำสอนที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้เช่นเดียวกัน กรณีวันที่ 8 ก.พ. เป็นกรณีที่ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะ อาจเรียกได้ว่า เป็นเรื่องใหม่ เป็นกรณีฉุกเฉินที่ต้องการความชัดเจนของผู้ที่รอบรู้อย่างแท้จริง เมื่อพิจารณาโดยถ้วนทั่วแล้ว จะเห็นว่า มีเพียงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในสถานะในการคลี่คลายข้อสงสัยหรือความคลางแคลงใจในเรื่องที่เกิดขึ้นได้ จึงเป็นพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างชอบธรรมในการระงับปัญหามิให้บานปลายออกไปด้วยการมี “พระราชโองการ” ซึ่งเป็นบรรทัดฐานรวมทั้งเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น บ่อเกิดแห่งความรู้ ตามหลักญาณวิทยา (epistemology)” ที่สามารถนำไปเป็นตัวอย่างให้ปวงชนชาวไทยทั้งมวลเข้าใจได้

จึงไม่ควรไปคาดเดา พยากรณ์ หรือ แม้แต่กล่าวร้ายป้ายสี จาบจ้วง แอบอ้างพาดพิงถึงสถาบันฯ ในทางมิบังควร ดังที่มีกลุ่มบุคคลที่ได้เรียกว่าเป็น “วีรบรุษหลังการสู้รบ” ทั้งหลาย ออกมาแสดงวาทกรรม และอวดอ้างว่า มีส่วนทำให้หาเหตุผลคำอธิบายปรากฎการณ์นั้นได้ เพราะชัดเจนอยู่ดังได้กล่าวมาแล้วว่า องค์กรหรือสถาบันใดเป็นผู้ทำให้เกิดแสงสว่างทางปัญหาแก่พวกเราอย่างชัดเจน

เมื่อมาฟังแนวนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง อาจด้วยเวลาที่จำกัดหรืออาจด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนของแต่ละฝ่าย ทำให้เห็นภาพของคู่แข่งขันเป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านั้น คือ มีฝ่ายอำนาจปัจจุบัน กับ ฝ่ายที่อยากชิงอำนาจกลับไป เรื่องนโยบายจึงเหมือนที่ผ่านมา บนร่องรอยความขัดแย้ง คือ “อะไรที่เธอทำ ฉันไม่ทำ อะไรที่เธอว่าดี ฉันว่าเลว” เป็นการวางนโยบายการหาเสียง และเหมือนจะเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยจะได้รับจากการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ว่าจะได้พรรคการเมืองใดมาบริหารปกครองประเทศ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้ทุกท่านเป็นตัวของตัวเอง เข้าคูหาให้มั่นใจว่าเลือกคนที่ตัวเองหมายมั่นเอาไว้ เพราะเลขประจำตัวบุคคลนั้นๆ เขามีไว้ให้เป็นการเฉพาะในแต่ละเขต หากไม่ชอบใครเลยก็กาไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ผู้ใด (Vote No) แต่วันนี้ท่านเป็นผู้มีสิทธิและรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็น หน้าที่ในการไปใช้สิทธินั้น นั่นหมายถึง หากท่านไม่ไปใช้สิทธิตามหน้าที่ ย่อมทำให้ท่านถูกรอนสิทธิหลายประการ จึงขอให้ไปทำหน้าที่พลเมืองโดยพร้อมเพรียงกัน